xs
xsm
sm
md
lg

รมว.คลังหวังปมขัดแย้งยูเครน-รัสเซียจบลงด้วยดี เล็งแก้ปัญหาต้นทุนลดแรงกดดันเงินเฟ้อไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตโควิด-19” ในงานงานสัมมนาใหญ่ประจำปี สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจก้าวสู่ปีที่ 44 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัวที่ 1.6% ซึ่งดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ แสดงให้เห็นว่ามาตรการภาครัฐสามารถเข้ามาช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวและรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศได้ระดับหนึ่ง โดยในปี 2565 เชื่อว่าแรงส่งจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีจะยังทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้

“ช่วงปลายปีที่ผ่านมาหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวได้เร็วจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย แต่ในไตรมาส 1 ของปีนี้เศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มชะลอตัวลง สำหรับประเทศไทยมองว่ายังมีแรงส่งจากภาคการส่งออกซึ่งปีที่แล้วโตได้ถึง 17% อย่างไรก็ตามอัตราการเติบโตของการส่งออกในปีนี้อาจไม่สูงเท่าปีที่แล้วโดยส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของฐานสูงด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้หลายฝ่ายค่อนข้างกังวลกับปัญหาในระยะสั้น โดยเรื่องแรกคือราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมาจากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปัญหานี้จะจบลงด้วยดี ขณะที่ซัปพลายของน้ำมันยังคงมีจากประเทศอิหร่านซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งหากจบลงด้วยดีซัปพลายของน้ำมันจะมีมากขึ้น ดังนั้นแนวโน้มราคาน้ำมันคาดว่าจะอยู่ในระดับ 90-100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

“ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในช่วงนี้ประเด็นสำคัญมาจากความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าด้วยความพยายามของหลายฝ่ายปัญหานี้น่าจะจบลงด้วยดี ไม่น่าจะรุนแรงจนถึงขั้นสู้รบเพราะคงไม่มีใครอยากรบกันในช่วงนี้”

เรื่องที่สองคือ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะราคาในหมวดอาหารที่ปรับสูงขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่งซึ่งเป็นปัจจัยในระยะสั้น

“เงินเฟ้อของไทยที่เพิ่มขึ้นเกิดจากต้นทุน ดังนั้น ต้องจัดการให้ตรงจุด เป็นโจทย์ว่าทำอย่างไรให้ต้นทุนลดและแข่งขันได้ เพราะถ้าต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มเอกชนจะต้องรับภาระและเพิ่มราคาสินค้าซึ่งทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้”

เรื่องที่สามคือ สถานการณ์โควิด-19 โดยปัจจุบันไทยใช้มาตรการในเชิงขอความร่วมมือจากประชาชนเนื่องจากไม่อยากใช้มาตรการที่จำกัดหรือเข้มงวดมากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

เรื่องที่สี่คือ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่หลายฝ่ายมองว่าอาจขึ้นดอกเบี้ย 5-7 ครั้ง ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนของไทยมีความกังวล อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยดำเนินนโยบายแบบสอดประสานระหว่างนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายเพื่อให้นโยบายการคลังสามารถทำงานได้ ช่วยเหลือประชาชนได้ ดังนั้น แนวโน้มนโยบายการเงินของไทยจะยังผ่อนคลายจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่

นาอาคม กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องหนี้สาธารณะของไทยเนื่องจากในช่วงโควิด-19 มีการใช้จ่ายค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นในช่วงวิกฤตทุกประเทศต้องใช้เงินเพิ่ม หนี้สาธารณะของทุกประเทศจึงเพิ่มขึ้นเช่นกัน หลายประเทศมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงเกิน 100% ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 59% และในสิ้นปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 62%

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของเศรษฐกิจด้วยว่าจะสามารถเติบโตได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงกำหนดเป้าหมายว่าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ให้เติบโตได้ที่ 4% โดยมองว่ามี 3 โอกาสที่เป็นปัจจัยสนับสนุน ได้แก่

1.Digital Transformation และ Digital Economy ที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลได้มีผลต่อทั้งภาครัฐ เอกชน ตลาดเงิน ตลาดทุน ซึ่งคนที่ปรับตัวได้เร็วจะสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้

2.การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติโดยมีเครื่องยนต์สำคัญคือ EEC และการก้าวสูงอุตสาหกรรมและบริการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือ Innovation Park

3.ท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยไทยต้องเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้การท่องเที่ยว










กำลังโหลดความคิดเห็น