xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์คาด GDP ปี 65 ขยายตัว 3.5-4.5%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5-4.5 ซึ่งยังคงประมาณการเดิมของรอบที่แล้ว โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออก และแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ

โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ จะขยายตัวร้อยละ 4.9 ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ จะขยายตัวร้อยละ 5.9 ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุล 3.97 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 4.5 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ และการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.6 ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5-2.5 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ร้อยละ 0.9-1.9 และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลอยู่ที่ 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 1.5 ของ GDP

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนวโน้มจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ แม้จะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แต่มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขอย่างจำกัดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 และส่งผลให้ภาครัฐสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดได้

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวอันเนื่องมาจากการผ่อนคลายมาตรการเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2565 ให้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน อันเป็นผลจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ท่ามกลางการกลายพันธุ์ของไวรัส แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก รวมทั้งข้อจำกัดจากเงื่อนไขด้านฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ความยืดเยื้อของปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก ท่ามกลางแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อ และปัญหาความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์