xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยดัชนี KR-ECI วูบต่ำสุด ครัวเรือนกังวลค่าครองชีพสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนเดือน ม.ค.65 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 30.9 ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 33.2 จาก 36.0 ในเดือน ธ.ค.64 สะท้อนว่าในระยะข้างหน้าครัวเรือนยังมีมุมมองว่าค่าครองชีพจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แม้ว่าการระบาดของโอมิครอนหลังช่วงปีใหม่จะไม่ได้ส่งผลให้เกิดการยกระดับมาตรการคุมเข้มการระบาด ผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงมีจำกัด แต่อย่างไรก็ตาม ระดับราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งอาหารสด เช่น เนื้อหมู รวมถึงราคาพลังงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องได้เข้ามากดดันกำลังซื้อของภาคครัวเรือนส่งผลให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบันลดลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การลดลงดังกล่าวสอดคล้องกับระดับเงินเฟ้อในเดือน ม.ค.65 ที่พุ่งสูงขึ้นอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนที่ 3.23% โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นทั่วโลก และราคาอาหารสดที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ครัวเรือนมีความกังวลต่อมุมมองด้านรายได้และการมีงานทำปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยองค์ประกอบของดัชนีในส่วนของรายได้และการจ้างงานปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน (-4.0% MoM) ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลภาวะการทำงานของประชากรในไตรมาส 4/2564 พบว่า แม้จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นแต่แรงงานบางส่วนยังมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของภาคเอกชนอยู่ที่ 45.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำกว่าภาวะปกติบ่งชึ้ถึงรายได้ของแรงงานที่ลดลงซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนต่อเนื่องไป ด้านดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงเช่นกันอยู่ที่ 33.2

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำผลสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองด้านระยะเวลาของระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้นกับวิธีรับมือของครัวเรือน ผลสำรวจบ่งชี้ว่า หากครัวเรือนมีมุมมองว่าระยะเวลาที่ระดับราคาสินค้าจะอยู่ในระดับสูงยิ่งนานจะยิ่งส่งผลให้ครัวเรือนลดค่าใช้จ่ายรายการที่ไม่จำเป็นออกไปเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าหากมีมุมมองว่าระดับราคาสินค้าที่สูงจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น 1 เดือน ครัวเรือนจะนำเงินออมที่มีออกมาใช้ทดแทนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น บ่งชี้ว่าสถานการณ์ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนทั้งในปัจจุบันที่สะท้อนผ่านการนำเงินออมออกมาใช้ และในระยะข้างหน้าที่จะมีการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง

สำหรับในระยะข้างหน้าระดับราคาสินค้ามีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องหรืออย่างน้อยจนถึงสิ้นไตรมาสแรกของปี สาเหตุหลักมาจากการปรับเพิ่มขึ้นราคาพลังงานที่เป็นทั้งต้นทุนทางอ้อมของราคาสินค้าผ่านต้นทุนค่าขนส่ง/การผลิต และทางตรงที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนผ่านค่าโดยสารและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานในชีวิตประจำวันต่างๆ ขณะที่ภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะยังไม่สามารถกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ได้ ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือเยียวยาและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจากภาครัฐยังมีความจำเป็นต่อเนื่องในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีความเปราะบางสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น