xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai COMPASS คาด กนง.คงดอกเบี้ย จับตาราคาพลังงานพุ่งกระทบวงกว้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS คาดว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 0.50% แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคมที่ผ่านมาจะแตะระดับสูงกว่า 3% โดยมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นจะชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง และจะยังทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีของไทยยังอยู่ในกรอบ 1-3% ซึ่งเป็นกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะที่ธนาคารมองอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 2% บวก-ลบเล็กน้อย และในครึ่งปีแรกอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ใกล้ระดับ 3%

"การเร่งตัวของเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่องกระทั่งแตะ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และยังอาจจะเพิ่มสูงขึ้นได้อีกเล็กน้อย โดยสาเหตุหลักมาจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งหากมีความรุนแรงขึ้นจนเกิดการสู้รบ จะกระทบราคาพลังงานให้สูงขึ้นอีกได้"

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างรัสเซียว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นจนเกิดภาวะสงครามหรือไม่ เพราะนอกจากจะส่งผลต่อราคาพลังงานแล้ว ยังอาจกระทบต่อเนื่องถึงภาคการขนส่งและการเดินทางระหว่างประเทศด้วย โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณไตรมาสละ 200,000 คน แต่หากเกิดความรุนแรงอาจจะกระทบตัวเลขนี้ได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากในครึ่งปีแรกธนาคารไม่ได้คาดหวังยอดนักท่องเที่ยวจะเข้ามามากนัก เนื่องจากเกณฑ์การเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทยยังไม่ค่อยพร้อมมากนัก

นอกจากนี้ หากราคาพลังงานสูงขึ้นลากยาวกว่าที่คาดจะกระทบในวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของค่าครองชีพของประชาชนผ่านราคาสินค้าที่สูงขึ้น ราคาสาธาณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ราคาค่าโดยสารที่สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อภาคการใช้จ่าย-บริโภคของประชาชนในที่สุด ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือที่ภาครัฐดำเนินอยู่ในขณะนี้คือการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ระดับไม่เกิน 30 บาท อาจจะไม่เพียงพอ อาจจะมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนเพิ่มเติม ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของภาครัฐต่อไป

**ชี้การยกระดับ3อุตสาหกรรมการแพทย์ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ**
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ยังเสริมถึงแนวทางการการขับเคลื่อนในอุตสาหกรรมการแพทย์ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐคาดหวังว่าจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมุ่งหวังที่จะผลักดันไทยก้าวเข้า Medical Hub อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งนอกจากจะช่วยดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศแล้ว ยังเพิ่มการจ้างงาน และเชื่อมโยงไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้อีกมาก โดยองค์ประกอบสำคัญที่ภาครัฐวางไว้ให้ขับเคลื่อนการเป็น Medical Hub ของไทย ได้แก่ 1. ศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ (Medical Service Hub) 2. ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) 3. ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ (Product Hub) และ 4. ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub)

“การเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็น 2 ใน 4 องค์ประกอบสำคัญที่ไทยมีศักยภาพ และมีความพร้อมที่จะพัฒนาและยกระดับได้เร็ว รวมทั้งมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นและเป็นเทรนด์ที่จะสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์ของโลกในอนาคต ทั้งยังสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่องค์ประกอบที่เหลือได้ ซึ่งจะช่วยให้การเป็น Medical Hub อย่างเต็มรูปแบบของไทยมีความเป็นไปได้มากขึ้น”

น.ส. สุจิตรา อันโน นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ คือ 1. การต่อยอดอุตสาหกรรมยาจากผู้ผลิตยาชื่อสามัญสู่ฐานการผลิตในอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ซึ่งเป็นเทรนด์การผลิตยาที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต โดยคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดโลกสูงถึง 5.47 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2027 หรือเติบโตเฉลี่ย10.6% ต่อปี 2. การยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย BCG Model ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้มากขึ้น และจะส่งผลให้มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมนี้ของไทยมีโอกาสแตะระดับ 3.38 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่าแสนล้านบาท ในปี 2027 คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 8.1% ต่อปี เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จากปี 2019 และสูงกว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยของตลาดโลก 3. การชูจุดเด่นด้านบริการทางการแพทย์เพื่อมุ่งสู่การเป็น World Class Medical Service Hub ซึ่งคาดว่ามูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง แตะระดับ 7.6 แสนล้านบาทในปี 2027 หรือเติบโตเฉลี่ย 13.2% ต่อปี

“ปัจจุบันส่วนแบ่งในตลาดโลกของ 3 อุตสาหกรรมการแพทย์สำคัญของไทยยังไม่มากนัก จึงมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก หากสามารถยกระดับให้ได้มาตรฐานระดับโลก ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่ารวมกว่า 8 แสนล้านบาทต่อปี ภายในปี 2027 นอกจากนี้ ยังจะช่วยลดการการนำเข้ายาและเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศด้วย ที่สำคัญจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของรัฐ และก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสาธารณสุขอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี Key Success สำคัญ คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่เอื้อให้เกิดการลงทุน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์ ควบคู่กับการลงทุนจากภาคเอกชนที่มีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ ทรัพยากร และเงินลงทุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและการลงทุนอย่างบูรณาการ และเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้ง Ecosystem”
กำลังโหลดความคิดเห็น