xs
xsm
sm
md
lg

คลังชู 7 ปัจจัยหนุน ศก.ปีเสือโต 4% EEC-เศรษฐกิจดิจิทัลฝ่าวิกฤตโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คลังย้ำดูแลประชาชนบริหารสถานการณ์โควิดและเศรษฐกิจเต็มที่ พร้อมแก้ปัญหาของแพง น้ำมันพุ่งเพื่อผ่านพ้นวิกฤต คาดปีเสือเศรษฐกิจไทยโตได้ 4% แม้เป็นเรื่องท้าทาย ชู 7 เรื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้ง EEC นโยบายการเงิน การคลัง เศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริม SME ระดมทุนไม่ผ่านคนกลาง และการเปลี่ยนแปลงของภาวะโลกร้อน เป็นต้น ย้ำบริหารหนี้ตามสถานการณ์ขยายเพดาน 70% ต้องดูความเหมาะสมก่อนใช้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานสัมมนา 2022 NEXT ECONOMIC CHAPTER : NEW CHALLENGES AND OPPORTUNITIES เศรษฐกิจไทยปี 2565 ความท้าทายและโอกาสใหม่ว่า ในปี 2565 ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดจากโควิด-19 ที่เกิดสายพันธุ์ใหม่และสายพันธุ์ย่อย ซึ่งประเทศไทยเริ่มมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนในปี 2564 ผ่านระบบไทยแลนด์พาส และเทสแอนด์โก ในเมืองยอดนิยมของนักท่องเที่ยวเช่น ภูเก็ต สมุย โดยเราสามารถสร้างความเชื่อมั่นจากการเปิดประเทศควบคู่ไปกับการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด และในปีนี้ยังคงต้องดำเนินนโยบายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2563-2564 ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดจากโควิด-19 สร้างความเดือดร้อนและผลกระทบทั้งประชาชน ภาคธุรกิจ ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการช่วยเหลือและลดผลกระทบในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น 1.ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศในทุกภาคส่วน ทั้งภาคการท่องเที่ยว โรงแรม การค้าขาย โดยภาครัฐได้มีการออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 1 ล้านล้านบาทในปี 2563 และ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาทในปี 2564

2.การแบ่งเบาภาระ และค่าใช้จ่ายของภาคประชาชน ค่าน้ำ ค่าไฟ สาธารณูปโภค รวมถึงด้านค่าใช้จ่ายผ่านโครงการภาครัฐทั้งในส่วนของเราไม่ทิ้งกัน เราชนะ สำหรับประชาชนทั่วไป และความช่วยเหลือแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 39 และ 40 รวมถึงกลุ่มอาชีพอิสระที่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านงบประมาณเงินกู้ที่ผ่านมาทั้งหมด

นอกจากนี้ งบประมาณเงินกู้ยังนำมาบริหารด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ประชาชนในช่วงการแพร่ระบาด เพื่อให้ประเทศสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และมีอัตราประชากรที่ได้รับวัคซีนสูงถึง 70% พร้อมเตรียมวัคซีนสำหรับเข็มต่อไปทั้ง 2 และ 3 ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจะต้องนำเงินกู้มาบริหารจัดการ

"ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้จีดีพีของเศรษฐกิจไทยปี 2563 ติดลบถึง 6.2% รัฐบาลต้องออกมาตรการต่างๆ ที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจและค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภค ทั้งโครงการเราชนะ เราไม่ทิ้งกัน และการกระตุ้นการบริโภค เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง เพื่อแบ่งเบาภาระและช่วยเหลือค่ามใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในส่วนของเศรษฐกิจฐานราก เช่น พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย"

ขณะที่ธุรกิจ SME รัฐบาลได้ประสานความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยผ่านวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และยังคงมีแนวทางในการเสริมสภาพคล่องให้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ นอกจานี้ ยังช่วยเหลือในด้านการยีด หรือพักชำระหนี้ควบคู่กันไปด้วยก่อนที่จะมีการเสริมเม็ดเงินลงไปอีก ซึ่งรัฐบาลทำได้ส่งผลให้ในปี 2564 เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้ที่ 1.6% มากกว่าที่ประมาณการไว้

นอกจากนี้ ในปี 2565 ภาครัฐยังต้องมีการจัดการเรื่องเงินเฟ้อเพื่อลดค่าครองชีพและภาระของประชาชน โดยในส่วนของค่าครองชีพและราคาสินค้า รัฐบาลได้มีการตรวจสอบและควบคุมราคาเพื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและคาดว่าปัญหาจะอยู่ในระยะสั้นเท่านั้น แต่ในส่วนของราคาพลังงานซึ่งเป็นเรื่องที่มีปัจจัยนอกประเทศเป็นตัวแปรหลัก รัฐบาลได้มีการแก้ไขในเบื้องต้นด้วยการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่มีผลต่อต้นทุนค่าขนส่งไปแล้ว ซึ่งการลดภาษีสรรพสามิตจะช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่จะต้องคำนึงถึงการจัดเก็บรายได้ควบคู่ไปด้วยทำให้ไม่สามารถลดได้เต็มจำนวน

นายอาคม กล่าวอีกว่า ปี 2565 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการโควิดควบคู่ไปด้วย โดยในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้ในระดับ 4% และเติบได้อีกในอนาคต จะต้องมีแรงขับเคลื่อน 7 เรื่องด้วยกัน ประกอบด้วย 1.การลงทุนจากภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ EEC การสร้างสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินใหญ่อีกแห่งหนึ่ง รวมถึงการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง ทั้งในด้านการผลิตและบริการ ด้วยการนำ เทคโนโลยี นวัตกรรม ดิจิทัล AI เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญและสร้างการเติบโตด้วยโครงสร้างใหม่เหล่านี้

"ประเทศไทยจะเติบโตได้ 1% เป็นเรื่องที่ท้าทายเพราะมาจากพื้นฐานที่ใหญ่ภาครัฐและเอกชนจะต้องทุ่มเททรัพยากรอย่างมากในการลงทุนเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต"

2.การพัฒนาเศรษฐกิจใหม่หรือเศรษฐกิจดิจิทัล ที่รัฐบาลและภาคธุรกิจต้องพัฒนา เพื่อรองรับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ซึ่งหลังจากภาครัฐนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในช่วงโควิด ทำให้มีฐานข้อมูลจำนวนมากที่จะเป็นประโยชน์ในอนาคต และการพัฒนานี้ถือเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญเช่นกัน

3.การพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนภูมิอากาศโลก ซึ่งถือเป็นพันธะสัญญาตามทข้อตกลง COP26 ที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้เริ่มต้นไปแล้ว เช่น การผลักดันยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการลดภาษีสรรพามิต ภาษีนำเข้า เพื่อให้เกิดดีมานด์และการลงทุนภายในประเทศ นอกจากนี้ ในส่วนของพลังงานยังได้มีการมองหาและให้ความสำคัญกับการหาแหล่งพลังงานบริสุทธิ์ใหม่เพิ่มขึ้นด้วย

4.ด้านสุขภาพ หลังจากสังคมไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยจำเป็นจะต้องมีการปรับตัว ซึ่งในประเทศอื่นเริ่มเห็นแนวโน้มนี้เช่นกัน และภาครัฐจึงมีแนวทางส่งเสริมการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้าใช้จ่ายหรือลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นด้วย

5.การเปลี่ยนแปลงสู่ระบบการเงินดิจิทัล ซึ่งต่อจากนี้จะต้องมีการพัฒนารวมกันทั้งภาคสถาบันการเงิน ตลาดทุน และการกำกับดูแล เพื่อให้สินทรัพย์ดิจิทัล และการระดมทุนที่ไม่จำเป็นต้องมีคนกลางเกิดขึ้นผ่านระบบ P2P และคราวด์ฟันด์ดิ้งที่มีในต่างประเทศ เนื่องจากจะสามารส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

6.การพัฒนา SME ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีการเติบโตได้มากขึ้น ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้มีสตาร์ทอัปเพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทำให้ต้องมีการพัฒนาระบบการเงินดิจิทัลแบบไร้คนกลาง รวมถึงการให้สิทธิทางภาษีสำหรับผู้ประกอบการใหม่ๆ

7.การใช้นโยบายการเงิน-การคลัง ซึ่งต่อจากนี้ในระยะกลาง-ยาว รัฐบาลยังต้องใช้นโยบายการคลัง และการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

"นโยบายการคลังและการเงินต้องสอดประสานกัน เรายังต้องการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เต็มที่ ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่หลายคนห่วงว่าเพดานหนี้สาธารณะจะเกินเพดานนั้น การที่เราเพิ่มเพดานขึ้น 70% แต่ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องใช้เต็มเพดานเสมอไปเราจะต้องบริหารตามความเหมาะสม และดูสถานการณ์ด้วย"
กำลังโหลดความคิดเห็น