xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์คาด GDP ปี 65 ขยายตัว 3.5-4.5%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เผยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 4/64 ขยายตัว 1.9% จากที่ลดลง 0.2% ในไตรมาสที่ 3/64 เป็นผลจากความต้องการสินค้าและบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ GDP ปี 64 โต 1.6% ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 1.2%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ด้านการผลิต ขยายตัวทั้งในภาคเกษตรและภาคนอกเกษตร การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 3/64 โดยผลผลิตพืชสำคัญที่ขยายตัว เช่น ยางพารา อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน สับปะรด ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ลดลงต่อเนื่อง

ด้านการใช้จ่าย การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนขยายตัว 0.3% มีปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ขณะที่ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่ใช้ในการควบคุมโรค รวมทั้งดำเนินมาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย และสนับสนุนกำลังซื้อของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ด้านการผลิตปรับตัวดีขึ้น ส่งผลกระทบในทางบวกต่อการจ้างงาน รายได้ และกำลังซื้อของครัวเรือน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ มีปัจจัยลบจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานเป็นสำคัญ

ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล ขยายตัว 8.1% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายสำหรับกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนประกันสังคม

การลงทุนรวมลดลง 0.2% โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลง 0.9% จากการขยายตัว 2.6% ในไตรมาสที่ 3/64 ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัว 1.7% ปรับตัวดีขึ้นจากที่ลดลง 6.2% ในไตรมาส 3/64

ด้านการส่งออก ขยายตัว 17.7% และการนำเข้า 16.6% โดยการส่งออกสินค้ายังขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3/64 เป็นผลจากการขยายตัวของทั้งสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งการส่งออกข้าวในไตรมาสนี้ขยายตัวได้ในระดับสูงทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาข้าวของไทยลดลง ทำให้สามารถแข่งขันทางด้านราคากับประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ ได้มากขึ้น


นายดนุชา กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 64 ขยายตัวได้ 1.6% สูงกว่าที่ประมาณการไว้เดิมที่ 1.2% เนื่องจากผลการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 4/64 ที่ขยายตัวได้ 1.9% หลังจากที่ภาครัฐได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการด้านสาธารณสุข ส่งผลให้มีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ตลอดจนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในต้นเดือน พ.ย.64 ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้น

โดยในปี 64 มูลค่าการส่งออกขยายตัว 18.8% อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1.2% ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดคิดเป็น 2.2% ของ GDP การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 0.3% การอุปโภคภาครัฐขยายตัว 3.2% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.2% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 3.8%

เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังกล่าวถึงการใช้เงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิดในปี 63-64 ว่า การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากโควิด-19 ในภาพรวม ในปี 63 เบิกจ่าย 1.9 แสนล้านบาท ในปี 64 เบิกจ่าย 2.7 แสนล้านบาท รวมกันประมาณ 4.6 แสนล้านบาท ซึ่งการรักษาดังกล่าวมีทั้งจากการใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.1 ล้านล้านบาท พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท งบกลาง และงบประมาณของหน่วยส่วนอื่นๆ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่ได้มาจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ทั้งหมด

ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนว่าไม่มีการยกเลิกโรคโควิด-19 ออกจากการรักษาฉุกเฉิน ดังนั้นการที่โรงพยาบาลเอกชนไปเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยก่อนที่มีการรักษาเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

นายดนุชา กล่าวด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ทำเรื่องขอใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลโควิด-19 ให้ประชาชน อีกจำนวน 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เป็นค่ารักษาที่จ่ายไปแล้วในช่วง พ.ย.64-ม.ค.65 จำนวน 3.2 หมื่นล้านบาท และเป็นค่ารักษาพยาบาลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ย.65 อีก 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้กำลังอยู่ระหว่างพิจารณา

ทั้งนี้ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ได้มีการอนุมัติไปแล้ว 3.9 แสนล้านบาท ยังเหลือเงินอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ใช้สำหรับแผน 1.ด้านสาธารณสุข จำนวน 1.9 แสนล้านบาท แผน 2.เพื่อการเยียวยาผลกระทบจากโควิด จำนวน 1.6 แสนล้านบาท และแผน 3.เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จำนวน 1.2 แสนล้านบาท

ในส่วนของการใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ที่ได้สิ้นสุดไปแล้วในปี 64 มีการอนุมัติเงินกู้แล้ว 9.82 แสนล้านบาท เบิกจ่ายจริงแล้ว 9.44 แสนล้านบาท และคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ครบในเดือน พ.ค.65 ซึ่งอาจจะมีล่าช้าไปบ้างจนถึงเดือน ก.ย.65 ซึ่งเป็นส่วนน้อย ซึ่งโดยสรุปแล้ว ยอดการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการใช้ในแผน 1 จำนวน 6.3 หมื่นล้านบาท แผน 2 ที่ 7.9 แสนล้านบาท และแผน 3 ที่ 2.9 แสนล้านบาท โดยคงเหลือวงเงินกู้ที่ใช้ไม่ทันประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 – 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญประกอบด้วย (1) การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ (2) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว (3) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า และ (4) แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. จะขยายตัวร้อยละ 4.9 การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.5 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลร้อยละ 1.5 ของ GDP

ส่วนรายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้

  1. การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค (1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.3 ในปี 2564 และเป็นการปรับเพิ่มจากร้อยละ 4.3 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการลดลงในความรุนแรงของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น (2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะลดลงร้อยละ 0.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2564 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 0.3 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการลดลงของกรอบวงเงินรายจ่ายประจำภายใต้กรอบรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เมื่อเทียบกับกรอบในปีงบประมาณ 2565 รวมทั้งการปรับองค์ประกอบให้สอดคล้องกับแผนงานและโครงการที่ได้รับการอนุมัติภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท
  2. การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 3.4 ในปี 2564 โดย
    (1) การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.2 ในปี 2564 และปรับลดลงจากร้อยละ 4.2 ในการประมาณการครั้งก่อน และ (2) การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 เทียบกับร้อยละ 3.8 ในปี 2564 และเท่ากับการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการคงสมมติฐานการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ
  3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.9 เทียบกับร้อยละ 18.8 ในปี 2564 และเท่ากับการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากการปรับลดปริมาณการส่งออกและการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาส่งออก ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 ปรับลดลงจากร้อยละ 4.4 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกในปี 2565 มีแนวโน้มจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 0.5-1.5 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 0.0-1.0 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมัน ขณะที่การส่งออกบริการคาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวภายหลังการดำเนินมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อรวมกับการส่งออกสินค้าทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 8.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.0 ในการประมาณการครั้งก่อน และร้อยละ 10.4 ในปี 2564

ส่วนประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2565 โดยการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2565 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด (2) การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว(3) การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ (4) การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน โดยให้ความสำคัญกับมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการจูงใจในการชำระหนี้และบรรเทาภาระหนี้สินที่สำคัญ (5) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า (6) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน (7) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ (8) การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศ และ (9) การขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการกระจายรายได้ และปรับตัวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ



กำลังโหลดความคิดเห็น