สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย เผยผลสำเร็จความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทย ผนึกกำลังบูรณาการกับทุกภาคส่วนลดก๊าซเรือนกระจก จากมาตรการทดแทนปูนเม็ดในปี 64 ได้ 300,000 ตัน CO2 บรรลุเป้าหมายเร็วกว่าที่ตั้งไว้ พร้อมเร่งเดินหน้าสู่เป้าหมายใหม่ “MISSION 2023” ลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1 ล้านตัน CO2 คาดอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปี 65 ยังคงเติบโตไม่น้อยกว่า 2% จากปัจจัยหนุนโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ
นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยถึงความสำเร็จการลดก๊าซเรือนกระจกในปี 64 ว่า ในปีทีผ่านมา สมาคมเดินหน้ามาตรการลดก๊าซเรือนกระจกได้ 300,000 ตัน CO2 จากมาตรการทดแทนปูนเม็ด เทียบเท่าปลูกต้นไม้กว่า 31 ล้านต้น ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 65 ทั้งนี้ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน (Global Warming) จึงส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกวิจัย พัฒนา และนําเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรียกว่า “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ตาม มอก.2594
โดยสมาคมฯ ได้สร้าง Ecosystem สำหรับการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการเกิดของเสียและผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจ ด้วยการบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอย่างเหมาะสมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย TCMA มีนโยบายส่งเสริมสมาชิกจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดกระบวนการ หันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ Waste อย่างถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ได้นำ Waste ทั้งจากภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และการเกษตรมากกว่า 1.5 ล้านตันต่อปี
นายชนะ กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 64 มีการปรับตัวให้ก้าวข้ามความท้าทายหลายประการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น การเข้ามาของเทคโนโลยี การพัฒนานวัตกรรมการสนองตอบความต้องการของผู้บริโภค รวมไปถึงด้านทรัพยากร ด้านสิ่งแวดล้อมด้านสังคม/ ชุมชน ด้านกฎหมายและระเบียบ สอดคล้องกับภาคการก่อสร้างของประเทศทั้งของภาครัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และของภาคเอกชน ส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างที่อยู่อาศัย งานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม แบ่งเป็นการใช้ปูนซีเมนต์สำหรับงานโครงสร้างและงานหล่อผลิตภัณฑ์คอนกรีต 89% การใช้ปูนซีเมนต์สำเร็จรูป 10% และปูนซีเมนต์สำหรับงานพิเศษ 1%
"ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 59-63) ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศไม่เปลี่ยนแปลงมากนักประมาณ 30-35 ล้านตัน/ปี คิดเป็น 50-60% ของกำลังการผลิตรวม โดยอุตฯ ปูนซีเมนต์ของไทยมุ่งเน้นสนับสนุนการพัฒนาเติบโตของประเทศเป็นหลัก โดยมีการส่งออกต่างประเทศเพียง 12% เท่านั้น"
ทั้งนี้ สมาคมฯ ประเมินอัตราการเติบโตโดยรวมของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปี 64 ที่ -1% และปี 65 ที่ 2% ขณะเดียวกัน กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในปี 66 จากมาตรการทดแทนปูนเม็ดให้ได้ 1,000,000 ตัน CO2 หรือเทียบเท่าปลูกต้นไม้กว่า 122,000,000 ต้น โดยผู้ผลิตทุกรายพร้อมใจส่งปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” เข้าสู่การใช้งานในวงกว้างทั่วประเทศเพื่อให้การลดก๊าซเรือนกระจกบรรลุเป้าหมาย