xs
xsm
sm
md
lg

โซลาร์รูฟท็อปปี 65 ยังแรงไม่หยุด ลุ้นแพกเกจ EV รัฐหนุนโตเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แนวโน้มการติดตั้งโซลาร์ฯ ปี 2565 ยังมาแรงรับกระแสลดโลกร้อนตามเทรนด์โลก หลังแบตเตอรี่ราคาต่ำลงหนุนการติดตั้งเป็นระบบไฮบริดมากขึ้น ลุ้นรัฐคลอดแพกเกจส่งเสริมการใช้รถ EV หวังเร่งเครื่องให้การติดตั้งโซลาร์ฯ ยิ่งเพิ่มขึ้น

นายพลกฤต กล่ำเครือ นายกสมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์
เปิดเผยว่า แนวโน้มการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ภาพรวมของไทยปี 2565 จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะบนหลังคาที่อยู่อาศัยและอาคารโรงงาน (โซลาร์รูฟท็อป) ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ (PDP 202) ที่ปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อให้สอดรับกับกระแสการลดภาวะโลกร้อนภายใต้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ COP 26 ที่ทำให้ประเทศต่างๆ และองค์กรเอกชนรายใหญ่ประกาศวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

"มีหลายปัจจัยที่หนุนการติดตั้งโซลาร์ฯ ที่จะมีมากขึ้นในปี 2565 โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งปรับตัวหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเพราะกติกาโลกเริ่มมีออกมาเช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรปที่จะบังคับนำร่องสินค้า 5 รายการในปี 2566 และเต็มรูปแบบในปี 2569 และอื่นๆ ที่คาดว่าจะมีตามมาเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายใต้ COP26 ซึ่งประเทศพัฒนาส่วนใหญ่วางไว้ในปี ค.ศ. 2050 และไทยวางไว้ปี ค.ศ. 2065 รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพราะทิศทางค่าไฟฟ้าปี 2565 จะปรับขึ้นค่อนข้างสูง ดังนั้นการผลิตไฟใช้เอง (IPS) จะมีมากขึ้น" นายพลกฤตกล่าว

สำหรับภาคประชาชนที่คาดว่าจะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากปัจจัยค่าไฟฟ้าที่มีทิศทางสูงขึ้นยังจำเป็นต้องติดตามมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จากรัฐบาลที่คาดว่าจะมีการนำเสนอเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงเดือน ม.ค.นี้ โดยมาตรการเบื้องต้นหากเป็นรถ EV ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ผู้ซื้อจะได้ส่วนลดสูงสุดประมาณ 5 แสนบาท ส่วนรถ EV ที่ราคา 2 ล้านบาทขึ้นไป ผู้ซื้อจะได้ส่วนลดสูงสุดประมาณ 7-8 แสนบาท พร้อมวางเป้าให้คนไทยหันใช้รถอีวีให้ครบ 300,000 คันภายใน 5 ปี ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ก็จะมีส่วนสำคัญในการที่ประชาชนจะหันมาติดตั้งโซลาร์ฯ เพิ่มเติมเพื่อรองรับการใช้รถ EV เพราะต้องการใช้พลังงานฟรีที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม การติดตั้งโซลาร์ฯ ที่สูงขึ้นต่อเนื่องมาจากเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่เริ่มมีการผลิตเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้นจนส่งผลให้ราคาเริ่มต่ำลง และแนวโน้มจะเป็นลักษณะไฮบริดคือการติดตั้งโซลาร์ฯ บวกกับแบตเตอรี่ เพื่อทำให้การผลิตไฟจากแสงอาทิตย์มีความมั่นคงสามารถกักเก็บไว้ใช้ได้ในช่วงกลางคืนซึ่งตอบโจทย์การพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นและระยะยาวเชื่อว่าจะมีราคาที่ต่ำลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญในการสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์ฯ คือราคาแผงที่มีแนวโน้มสูงไปถึงไตรมาส 2 และการขาดแคลนชิปซึ่งต้องติดตามจีนที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่จะมีการผลิตเพิ่มได้มากน้อยเพียงใด

“ระยะต่อไปการติดตั้งโซลาร์ฯ ที่เป็นแบบไฮบริดจะมีมากขึ้น ความสนใจในการที่จะผลิตไฟฟ้าเพื่อที่จะขายไฟให้กับรัฐภายใต้โครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่รับซื้อไฟส่วนเกินอัตรา 2.20 บาทต่อหน่วยคงน้อยลงเพราะราคานี้ไม่ได้จูงใจอะไร แต่เขาเน้นติดเพื่อพึ่งพาตนเองมากกว่า ดังนั้น การที่รัฐจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ภาคประชาชนเหลือเพียง 10 เมกะวัตต์ในปี 2565 จากเดิม 50 เมกะวัตต์ถือเป็นอัตราที่เหมาะสม” นายพลกฤตกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น