กทท.จับมือโออาร์ลุยโครงการจัดการพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) นำร่องที่ท่าเรือกรุงเทพ คาดประหยัดค่าไฟฟ้าได้อย่างน้อย 10% จากปัจจุบันมีค่าใช้จ่าย 400 ล้านบาท/ปี สร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ
วันที่ 14 ธ.ค. 2564 เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการ สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และ นายชุมพล สุรพิทยานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดพาณิชย์ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในโครงการจัดการพลังงานไฟฟ้าด้วยระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้รูปแบบความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐต่อรัฐ โดยมีแผนพัฒนาเพื่อความทันสมัยควบคู่ไปกับความยั่งยืนในการยกระดับการบริการด้านพลังงานเพื่อช่วยให้การใช้พลังงานของ กทท.มีความมั่นคง สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยประหยัดงบประมาณรายจ่ายในระยะยาวได้ดียิ่งขึ้น
เรือโท ยุทธนากล่าวว่า โครงการ Solar Rooftop เป็นการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อป และอุปกรณ์ต่างๆ ของระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการปรับปรุงเสริมโครงสร้างหลังคาที่จะใช้ก่อนติดตั้ง เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) โดยโออาร์เป็นผู้ลงทุนและดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วจำหน่ายไฟฟ้าให้ กทท.ในราคาพิเศษ มีระยะเวลาสัญญา 15 ปี โดยเมื่อครบระยะเวลาในสัญญาแล้ว อุปกรณ์ทั้งหมดโออาร์จะส่งมอบให้ กทท.เป็นเจ้าของดูแลและเป็นผู้ใช้งานเองต่อไป
โดยโครงการนี้ใช้ขนาดพื้นที่หลังคาเพื่อติดตั้งแผง Solar Rooftop ประมาณ 26,450 ตารางเมตร สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดประมาณ 3.149 MWp
สำหรับใช้ภายในท่าเรือกรุงเทพ โดยจะใช้พื้นที่หลังคาของอาคารโรงพักสินค้า 3 4 5 และ 6 อาคารแผนกรถเครื่องมือทุ่นแรง อาคารโรงพักสินค้าเสริม 4 และอาคารคลังสินค้ารถยนต์ สามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละกว่า 4,998,585 กิโลวัตต์ เทียบเท่ากับกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในครัวเรือน ถึง 2,776 ครัวเรือนต่อปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ปีละกว่า 2,910 ตัน หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นปีละ 62,547 ต้นต่อปี นับว่าเป็นการตอบโจทย์และช่วยส่งเสริมเป้าหมายด้าน Eco Efficiency ได้อย่างมีนัยสำคัญอีกหนทางหนึ่ง
ปัจจุบันท่าเรือกรุงเทพใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง มีค่าใช้จ่ายประมาณ 400 ล้านบาท/ปี ซึ่งการติดตั้งแผง Solar Rooftop จะมีค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าลดลงประมาณ 20% โดยที่ กทท.ไม่ต้องลงทุน จึงถือว่ามีความคุ้มค่า แต่ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นโครงการนำร่องและติดตั้งเพื่อให้พลังงานไฟฟ้าในสัดส่วน 50% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของท่าเรือกรุงเทพ จึงคาดว่าจะลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าได้ราว 10% ต่อปี โดย กทท.คาดว่าจะประเมินผลที่ได้รับ จากนั้นจะพิจารณาเพื่อขยายการดำเนินงานเพิ่มเติม รวมถึงขยายไปใช้ที่ท่าเรืออื่นๆ ซึ่งปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) มีค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าประมาณ 400 ล้านบาท/ปีเช่นกัน
ทั้งนี้ โครงการ Solar Rooftop จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ สร้างความมั่นคงทางพลังงานจากแหล่งพลังงานโซลาร์รูฟท็อปที่เพิ่มขึ้นมาอีกระบบหนึ่ง ช่วยให้การดำเนินกิจการมีความต่อเนื่อง และมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ กทท.ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง ด้วยการใช้พลังงานทางเลือกที่มีความสะอาด ปราศจากมลพิษ ควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้มีความเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน