xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์มองกรอบบาทสัปดาห์แรกปี 65 จับตาแนวทางลด QE ป่วนตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แบงก์มองกรอบเงินบาทสัปดาห์แรกของปี 2565 หลังบาทเป็นสกุลอ่อนค่าสุดในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ 11.1% ในปี 2564 หลังจากภาคการท่องเที่ยวซบยาวกระทบขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยปัจจัยที่ตลาดให้ความสนใจในแนวทางการทำ Quantitative Tightening ของเฟด ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดผันผวน

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) 
มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.10-33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาที่เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 33.34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังซื้อขายในกรอบ 33.33-33.58 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในปี 2564 เงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดในกลุ่มสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ของเอเชียที่อัตรา 11.1% จากการทรุดตัวของภาคท่องเที่ยวอย่างยาวนานทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ยกเว้นเงินเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมาท่ามกลางปริมาณการซื้อขายที่เบาบางช่วงสิ้นปี ขณะที่ตลาดเปิดรับความเสี่ยงและมองข้ามการพุ่งขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Omicron ทั่วโลกเนื่องจากสายพันธุ์ดังกล่าวมีแนวโน้มรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ และหลายประเทศไม่ได้ดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดเท่ากับระลอกก่อนหน้า

นอกจากนี้ ทางด้านสหรัฐฯ รายงานยอดขาดดุลการค้าพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ 9.78 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ยอดนำเข้าพุ่งขึ้นและยอดส่งออกลดลง อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 เงินยูโรและเงินเยนอ่อนค่าลง 7.0% และ 11.4% ตามลำดับ โดยเงินดอลลาร์ได้แรงหนุนจากการปรับท่าทีอย่างมีนัยสำคัญของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เพื่อปูทางไปสู่การถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขณะที่สหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อทั้งจากการทะยานขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและพลังงาน รวมถึงตลาดแรงงานที่เข้าสู่ภาวะตึงตัว ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 48,578 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 145,917 ล้านบาท

ทั้งนี้ มองว่านักลงทุนจะให้ความสนใจกับรายงานการประชุมเฟดรอบล่าสุดและข้อมูลการจ้างงานเดือนธันวาคม 2564 ของสหรัฐฯ เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินในระยะถัดไป ทั้งนี้ ตลาดคาดว่าเฟดจะยุติโครงการซื้อสินทรัพย์ในไตรมาสปัจจุบันและขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งรวม 0.75% ในปี 2565 นี้ ขณะที่เฟดยังไม่ได้ระบุถึงแนวทางการลดสภาพคล่องส่วนเกินในระบบผ่านมาตรการ Quantitative Tightening ซึ่งกรุงศรีคาดว่าจะเป็นประเด็นสำคัญและจะสร้างความผันผวนให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายในปีนี้

สำหรับปัจจัยในประเทศยังคงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดหลังเทศกาลปีใหม่และมาตรการควบคุมโรค รวมถึงแนวทางการกลับมาต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะข้างหน้า ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานยอดดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนพฤศจิกายน 2564 เกินดุล 0.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการพลิกกลับมาเกินดุลครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 อนึ่ง กรุงศรีมองว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวยังคงขึ้นอยู่กับพัฒนาการด้านสาธารณสุขของโลกเป็นหลัก

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองกรอบเงินบาทที่ 32.80-33.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 และตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ธ.ค. ของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน การจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือน ธ.ค. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน พ.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงานการประชุมเฟดเมื่อ 14-15 ธ.ค.64 นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามข้อมูล PMI เดือน ธ.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ และตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ธ.ค. ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น