xs
xsm
sm
md
lg

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 33.35-33.70 จับตาเฟดเร่งลดคิวอี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.35-33.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 33.47 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังซื้อขายในกรอบ 33.37-33.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเยนและฟรังก์สวิสในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่นักลงทุนลดความกังวลเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID สายพันธุ์ Omicron หลังรายงานข่าวระบุว่าผู้ติดเชื้อในแอฟริกาใต้มีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อของสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่าในเบื้องต้นสายพันธุ์ดังกล่าวอาจจะมีความสามารถในการแพร่เชื้อสูงแต่ไม่มีความร้ายแรงมากนัก นอกจากนี้ บรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 1,891 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 9,419 ล้านบาท

ทั้งนี้ มองว่านักลงทุนจะติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) โดยจุดสนใจหลักจะอยู่ที่การสื่อสารจากเฟดวันที่ 15 ธันวาคม โดยกรุงศรีคาดว่าเฟดอาจพิจารณาเร่งลดขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) อีกเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ตลาดจะจับตาประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเจ้าหน้าที่เฟด (Dot Plot) โดยแม้ว่าข้อมูลเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนของสหรัฐฯ ออกมาตามคาดที่ 6.8% เมื่อเทียบปีต่อปี แต่บ่งชี้ถึงอัตราการปรับตัวขึ้นของระดับราคาที่มากที่สุดในรอบเกือบ 40 ปี และมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 ซึ่งกรุงศรีคาดว่าจะทำให้เฟดเร่งปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ดี ตลาดตอบรับการคาดการณ์ไปพอสมควร หากเฟดไม่แสดงท่าทีแข็งกร้าวจนเกินไป คาดว่าค่าเงินดอลลาร์อาจย่ำฐานก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาลคริสต์มาสซึ่งปริมาณการซื้อขายในตลาดจะบางลง

นอกเหนือจากการประชุมธนาคารกลางในสัปดาห์นี้ ตลาดจะติดตามตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ การตอบโต้ของชาติตะวันตกต่อประเด็นรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในอังกฤษซึ่งรุนแรงขึ้นอีกครั้ง

สำหรับปัจจัยในประเทศ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดได้ในไตรมาส 1/66 โดยย้ำว่า ธปท.จะดูแลนโยบายการเงินให้เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ท่าทีดังกล่าวสนับสนุนมุมมองของกรุงศรีว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงนโยบายและประเมินสถานการณ์อย่างระมัดระวังในการประชุมวันที่ 22 ธันวาคม ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากไวรัสกลายพันธุ์


กำลังโหลดความคิดเห็น