ธปท.เกาะติดโอมิครอน ชี้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ-นักท่องเที่ยวอยู่ในประมาณการจีดีพีปี 65 อยู่ที่ 3.4% คาดปีนี้ยังขยายตัวได้ 0.9% เผยภาวะเศรษฐกิจเดือน พ.ย.ปรับดีขึ้นตามการเปิดประเทศ-ปัญหา supply disruption คลี่คลาย
น ส ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เบื้องต้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 แต่คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้ผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวมีไม่มากนัก
ทั้งนี้ ในแง่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ กนง.ได้รวมปัจจัยดังกล่าวเข้าไปในการประเมินแล้ว โดยคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.4% และจากการฉีดวัคซีน คาดว่าระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับได้ อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามการระบาดอย่างใกล้ชิด
"ส่วนแนวโน้มการขยายตัวในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ยังคงเป็นไปตามคาดการณ์ โดยทั้งปียังคงขยายตัวอยู่ที่ 0.9% ไม่ต่างจากคาดการณ์เดิม โดยผลกระทบจากโอมิครอนจะเริ่มเห็นไปทางในไตรมาสที่ 1/65 ซึ่งสัญญาณในเดือนธันวาคมยังไม่เห็นชัดเจน เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวยังมากกว่าคาดการณ์เล็กน้อย"
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนตุลาคมตามปัจจัยการเปิดประเทศ มาตรการที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาอุปทานหยุดชะงัก (supply disruption) คลี่คลายลง
โดยการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และปัญหา supply disruption ที่ทยอยคลี่คลายลง สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นหลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ด้านการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผ่านรายจ่ายเงินโอน ทั้งนี้ อุปสงค์ที่ฟื้นตัวทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทยอยปรับดีขึ้น
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ราคาในหมวดพลังงานยังอยู่ในระดับสูงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่โดยรวมยังเปราะบาง
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลเล็กน้อย เนื่องจากดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลน้อยลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลมากขึ้น
มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวดตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ประกอบกับภาคการผลิตกลับมาดำเนินการได้ตามปกติหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ทำให้มีการเร่งส่งออกตามคำสั่งซื้อที่คงค้างอยู่ในช่วงก่อนหน้า
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน หลังภาครัฐเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมยังไม่มาก เนื่องจากหลายประเทศยังมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอยู่
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน หลังสถานการณ์การระบาดในประเทศและการฉีดวัคซีนปรับดีขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และรายได้ของครัวเรือนฟื้นตัว ประกอบกับมาตรการภาครัฐในรูปแบบเงินโอนยังช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการลงทุนทั้งด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านก่อสร้าง สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ทยอยฟื้นตัว
การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยเป็นผลจากฐานสูงในปีก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่ายหลัง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ประกาศใช้ อย่างไรก็ดี การเบิกจ่ายภาครัฐในเดือนนี้ยังทำได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2560-2562
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามภาวะอุปสงค์ที่ฟื้นตัว ประกอบกับปัญหา supply disruption เช่น การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และปัญหาการขนส่งสินค้าคลี่คลายลงบ้าง มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนตามการนำเข้าเชื้อเพลิง รวมทั้งสินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ลดลง อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและการนำเข้าวัตถุดิบที่ไม่รวมเชื้อเพลิงปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศและภาคการผลิตที่ทยอยฟื้นตัว
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ราคาในหมวดพลังงานยังอยู่ในระดับสูงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระปรับดีขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลเล็กน้อย เนื่องจากดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลน้อยลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลมากขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ