xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์คงประมาณการจีดีพีปี 64 โต 1% จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวในการเปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ธันวาคม 2564 : อยู่กับโควิดในโลกยุคดิจิทัล โดยยังประมาณการจีดีพีไทยในปี 2564 เติบโตที่ 1.0% โดยมีการส่งออก และมาตรการเยียวยาจากภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาหลังการคลายล็อกดาวน์ และการกระจายวัคซีนที่ทำได้เร็วกว่าเป้าหมายและคาดว่าจะเข้าสู่ระดับ 70% ในปลายปีนี้ แต่การบริโภคของภาคเอกชนยังคงอ่อนแออันเนื่องมาจากผลกระทบของโควิด-19 และการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะยังคงมีไม่มากนักจนถึงสิ้นปีนี้ แม้ว่าจะเพิ่งมีการเปิดประเทศเมื่อไม่นานมานี้

สำหรับในปี 2565 ประมาณการจีดีพีไทยเติบโตที่ 3.9% และ 4.3% ในปี 2566 โดยมีภาคการส่งออกสินค้าเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโต สะท้อนถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ของโลก รวมถึงมาตรการการให้เงินเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจ และมาตรการสนับสนุนด้านการคลังในรูปแบบอื่นๆ ได้ช่วยหนุนอุปสงค์ของภาคเอกชน โดยคาดการณ์การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเกือบร้อยละ 4.0 ต่อปีในปี 2565 และ 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในปี 2564 ที่ร้อยละ 1.0 แต่การบริโภคในกลุ่มครัวเรือนเปราะบางจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และภาคการลงทุนภาครัฐ-เอกชนจะยังไม่สูงนัก

นอกจากนี้ คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะสามารถกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้ในช่วงปลายปี พ.ศ.2565 โดยมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการกลับมาของนักท่องเที่ยวเป็นปัจจัยในการสนับสนุนการฟื้นตัว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 7 ล้านคนในปี 2565 โดยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปี และเพิ่มขึ้นอีกในปี 2566 เป็นประมาณ 20 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของระดับนักท่องเที่ยวในปี 2562 ทั้งนี้ คาดว่าการท่องเที่ยวจะช่วยส่งผลต่ออัตราการเติบโตของ GDP ได้ร้อยละ 2 ในปี พ.ศ.2565 และร้อยละ 4 ในปี 2566

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนับว่ายังถือว่าเกาะอยู่ในกลุ่มล่างของภูมิภาคในระดับใกล้เคียงกับมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนกลุ่มการฟื้นตัวระดับบนจะเป็นประเทศจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม

"เศรษฐกิจไทยมีทั้งข่าวดีและปัจจัยเสี่ยง โดยปัจจัยบวกคือ เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นไปและกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดในช่วงปลายปีหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงใน 3 ประเด็น คือ การระบาดกลับมาของโควิด หรือการกลายพันธุ์ใหม่ รวมถึงนโยบายการท่องเที่ยวในระดับโลกเนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง และปัญหา Global Supply chain disruption โดยเวิลด์แบงก์มองกรณี down side เช่น มีการระบาดรอบใหม่ที่รุนแรง ทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมอีกครั้ง คาดการณ์จีดีพีในปีหน้าติดลบ 0.3% และการกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดช้าไป 1 ปี ซึ่งกรณีการระบาดของโอมิครอนรวมอยู่ในปัจจัยเสี่ยงนี้"

สำหรับหนี้สาธารณะที่สูงนั้น มองว่า ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้และยังอยู่ในกรอบเพดานที่กำหนด โดยคาดการณ์หนี้สาธารณะจะแตะสู่ระดับ 62.2% จากปัจจุบันที่ 58% และก่อนหน้าสถานการณ์โควิดที่ 40% กว่า แต่ในระยะต่อไปมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูของภาครัฐควรทำอย่างเฉพาะเจาะจงถึงกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น รวมถึงมีแนวทางการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น