xs
xsm
sm
md
lg

เผยทิศทางตลาดอสังหาฯร่วมทุนปี65ต่างชาติมองไทยยังมีศักยภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วง2ปีนี้ แต่กลุ่มทุนข้ามชาติที่ยังมองเห็นศักยภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยยังคงปักหลักและพร้อมที่จะเข้าลงทุนในโครงการใหม่ๆ ร่วมกับผู้ประกอบการ ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับและมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ ซึ่งจะเห็นได้จากในช่วงปีพ.ศ. 2564 นี้ ที่แม้จะมีปัจจัยลบเข้ามากระทบอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการหดตัวทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาด

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบจากปัญหาการเกิดโอเวอร์ซัพพลายในตลาดคอนโดมิเนียมแต่กลุ่มผู้ร่วมทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงมีความต่อเนื่องในการลงทุนพัฒนาโครงการร่วมกับผู้ประกอบการอสังหาฯ อาทิ กลุ่มบริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์สตี้ คอร์ป ที่ร่วมทุนกับ ค่าย เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งล่าสุดพร้อมลุยทุกตลาดแม้แต่ตลาดคอนโดต่ำล้าน กลุ่มบริษัท โนมูระ เรียลเอสเตท ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จากญี่ปุ่น ที่ล่าสุดเดินหน้าร่วมทุน บริษัท ออริจิ้น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) พัฒนาโครงการ โซ ออริจิ้น เกษตร อินเตอร์เชนจ์ (So Origin Kaset Interchange) มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท และ กลุ่ม Mitsubishi Estate Group ที่ยังคงร่วมทุนพัฒนาโครงการใหม่ร่วมกับ บริษัทเอพี (ไทยแลนด์)จำกัด(มหาชน)อย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าตลาดอสังหาฯไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของบริษัทร่วมทุนข้ามชาติได้เป็นอย่างดี แม้ว่าในช่วงก่อนหน้านี้หลายๆบริษัทจะชะลอแผนร่วมทุนโครงการใหมๆลงไปเพื่อจับตาดูสถานการณ์ตลาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปีนี้หรือไม่

สุรเชษฐ กองชีพ
นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัทฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด กล่าวว่าการร่วมทุนของผู้ปะกอบการไทยและต่างชาติมีให้เห็นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะเห็นว่าซึ่งก่อนหน้านี้จะเห็นว่าโครงการที่เกิดจากการร่วมทุนกันจะเป็นโครงการคอนมิเนียมแต่ช่วง1 - 2ปีที่ผ่านมามีโครงการบ้านจัดสรรมากขึ้นแบบเห็นได้ชัดผู้ประกอบการต่างชาติบางรายร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยเพื่อพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรก็มีและผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่นยังคงเป็นผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาร่วมทุนในการพัฒนาโครงการกับผู้ประกอบการไทยมากที่สุดเช่นเดิมอาจจะมีโครงการที่เกิดจากการร่วมทุนของผู้ประกอบการจากประเทศจีนหรือฮ่องกงกับบริษัทขนาดเล็กหรือนักลงทุนชาวไทยบ้างแต่ก็ไม่มากนัก และเป็นการร่วมทุนกันแบบรายโครงการมากกว่าในขณะที่ผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่นที่มีการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยนั้นจะเป็นการร่วมมือกันในระยะยาวบางรายมีโครงการร่วมกับผู้ประกอบการไทยมากกว่า30 โครงการแล้วก็มี

ช่วงปีพ.ศ.2564อาจจะมีการร่วมทุนของผู้ประกอบการไทยและต่างชาติไม่มากนักแต่ก็ยังคงมีโครงการที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของทั้ง2กลุ่ม แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้โดยผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นกลุ่มที่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องของกหารร่วมทุนมากที่สุดในปีนี้และเป็นผู้ประกอบการที่มีพันธมิตรเป็นต่างชาติอยู่แล้วที่ประกาศความร่วมมือในการพัฒนาโครงการใหม่เช่น บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)ที่มีการร่วมทุนกับทั้งพันธมิตรเดิมคือ โนมูระ เรียลเอสเตท และพันธมิตรใหม่ คือโตคิวแลนด์ จากประเทศญี่ปุ่นทั้งคู่ในการร่วมกันพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม 

อีกรายที่มีการร่วมทุนกับพันธมิตรเดิมในกาพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมร่วมกัน คือบริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)ที่มีการเปิดขายโครงการร่วมกับกลุ่มฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์คอร์ปอีกหลายโครงการในปีพ.ศ.2564 บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ประกอบการไทยอีกรายที่มีการพัฒนาโครงการใหม่ร่วมกับบริษัทฮ่องกงแลนด์ จำกัด ในปีพ.ศ.2564 จากที่เคยร่วมกันพัฒนาโครงการมาก่อนหน้านี้แล้วผู้ประกอบการอีกรายที่มีการร่วมทุนกับผู้ประกอบการต่างชาติรายเดิมที่เคยร่วมทุนกันมาก่อนหน้านี้คือบริษัท ออล อินสไปร์ส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)โดยมีการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมร่วมกัน ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงยึดถือพันธมิตรเดิมเป็นหลักในการขยายการลงทุนและไม่หยุดที่จะหาพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อให้การลงทุนเกิดขึ้นต่อเนื่องและเป็นการลดต้นทุนในการพัฒนาโครงการไปในตัว

นอกจากกลุ่มของผู้ประกอบการรายใหญ่แล้วยังมีผู้ประกอบการรายกลางหรือว่ารายเล็กที่มีการร่วมทุนกับผู้ประกอบการต่างชาติด้วยเช่นกันเพียงแต่จำนวนโครงการหรือมูลค่าในการลงทุนอาจจะไม่มากนักและบางครั้งเป็นการร่วมทุนกันเพียง1 โครงการเท่านั้น โดยในปีพ.ศ.2564มีผู้ประกอบการนอกตลาดหลักทรัพย์ที่มีการร่วมกันพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมร่วมกับผู้ประกอบการต่างชาติด้วยเช่นกันเช่น เอ็นริช กรุ๊ป ที่ร่วมทุนกับไซบุแก๊สจากประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรร่วมกันและเป็นโครงการต่อเนื่องจากปีที่แล้วบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) ประกาศว่ามีการร่วมทุนกับ2บริษัทจากประเทศญี่ปุ่น คือ บริษัท คันเดน เรียลตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัดและบริษัท โทเร คอนสตรัคชั่น จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมร่วมกัน 

จากที่มีการประกาศความร่วมทุนมานั้นเกือบทั้งหมดเป็นการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นอาจจะมีชาติอื่นบ้างแต่ก็น้อยมาก มีผู้ประกอบการจากประเทศจีนฮ่องกงบางรายที่เปิดขายโครงการใหม่ในปีพ.ศ.2564
แต่ไม่ได้เป็นการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทย เช่น ยูโทเปีย คอร์ปอเรชั่นซึ่งเปิดขายโครงการวิลล่าในภูเก็ต เป็นบริษัทที่มีนายทุนจีนแต่ตั้งบริษัทในประเทศไทยตามกฎหมายประเทศไทยผู้ประกอบการจีนที่มีการเปิดขายโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเข้ามาร่วมทุนกับคนไทยแบบเป็นรายบุคคลมากกว่าที่จะร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยหรือร่วมทุนกับบริษัทขนาดเล็กของประเทศไทยเพราะผู้ประกอบการจีนเน้นที่การบริหารจัดการบริษัททั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จ



ทิศทางของการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการไทยและต่างชาติในปีพ.ศ.2565จะยังคงมีให้เห็นต่อเนื่องเพียงแต่คงไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาสร้างความฮือฮาหรือน่าสนใจมากกว่าที่ผ่านมาแล้วอาจจะมีผู้ประกอบการรายใหญ่จากประเทศจีนเข้ามาเปิดตัวว่ามีการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาโครงการร่วมกัน
แต่ยังคงต้องติดตามต่อไปในปีหน้าผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่มีโครงการพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการไทยมาก่อนหน้านี้แล้วจะยังคงรักษความสัมพันธ์นี้ไว้ต่อเนื่อง 

เพียงแค่ผู้ประกอบการบางรายอาจจะเลือกที่จะชะลอการลงทุนไว้ก่อน รอให้โครงการต่าง ๆที่ลงทุนร่วมกันปิดการขายและโอนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยเพื่อแบ่งผลประโยชน์ต่าง ๆก่อนจึงค่อยเดินหน้าต่อแต่ถ้าผู้ประกอบการการไทยรายไหนต้องการพันธมิตรเพิ่มเติมก็จะยังคงเดินหน้าหาผู้ประกอบการต่างชาติเช่นเดิมอีกทั้งไม่ได้ยึดติดว่าต้องร่วมทุนกับผู้ประกอบการต่างชาติรายใดรายหนึ่งเท่านั้นในช่วงที่ผ่านมาจึงเห็นผู้ประกอบการไทยบางรายที่มีพันธมิตรเป็นผู้ประกอบการต่างชาติหลายรายและผู้ประกอบการต่างชาติบางรายมีการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยมากกว่า1รายก็มีผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงมีความได้เปรียบในการดึงดูดหรือสร้างความน่าสนใจในสายตาของผู้ประกอบการต่างชาติ 

ทั้งนี้ เพราะด้วยขนาดของการลงทุน และความชัดเจนในเอกสารต่าง ๆรวมไปถึงรายได้จากการขายที่ค่อนข้างชัดเจนว่าสามารถปิดการขายหรือขายได้รวดเร็วกกว่าผู้ประกอบการรายที่มีขนาดเล็กกว่าผู้ประกอบการรายกลางหรือรายเล็กจำเป็นต้องเป็นบริษัทที่มีรายได้ต่อเนื่องมาโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมาหรือมีรายได้จากกิจการอื่น ๆ ที่มากพอจะพัฒนาโครงการร่วมกับผู้ประกอบการต่างชาติผู้ประกอบการต่างชาติส่วนใหญ่ใช้เวลาในการพิจารณาเลือกพันธมิตรค่อนข้างนานเพราะเกี่ยวพันถึงผลประโยชน์จำนวนมาก ผู้ประกอบการหรือบริษัทจากประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ญี่ปุ่นและจีนหรือฮ่องกง อาจจะมีเข้ามาร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยบ้างเพียงแต่จำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น และจีน


กำลังโหลดความคิดเห็น