Mark Zuckerberg CEO ยักษ์ใหญ่แห่งโซเชียลมีเดีย Facebook ประกาศรีแบรนด์ธุรกิจโซเชียลมีเดียเป็น Meta ซึ่งหวังเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะรวมวิสัยทัศน์เสมือนจริงสำหรับอนาคต ในนิยามที่ Zuckerberg เรียกว่า "metaverse"
จากการประกาศของ Mark Zuckerberg CEO Facebook ได้ประกาศปรับโครงสร้างยกเครื่องธุรกิจขนาดใหญ โดยเปลี่ยนชื่อบริษัท และคำจำกัดความธุรกิจใหม่ โดยลดระดับของ Facebook เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเหมือน instagram และ whatsapp ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตชี้ให้เห็นว่าดูเหมือนว่าจะเป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนเรื่องจากเอกสาร Facebook ซึ่งเป็นเอกสารที่รั่วไหลออกมาโดยได้เปิดเผยวิธีที่ Facebook เพิกเฉยต่อรายงานภายในและคำเตือนเกี่ยวกับอันตรายที่เครือข่ายสังคมออนไลน์สร้างขึ้นหรือขยายไปทั่วโลก
Zuckerberg กล่าวว่าเขาคาดว่า metaverse จะเข้าถึงผู้คนนับพันล้านภายในทศวรรษหน้า โดย metaverse จะเป็นสถานที่ที่ผู้คนจะสามารถโต้ตอบ ทำงาน และสร้างผลิตภัณฑ์และเนื้อหาในสิ่งที่เขาหวังว่าจะเป็นระบบนิเวศใหม่ที่สร้าง "งานนับล้าน" ให้กับผู้สร้าง
ในการอธิบายการรีแบรนด์นั้น Zuckerberg กล่าวว่าชื่อ "Facebook" ไม่ได้หมายรวมถึง "ทุกสิ่งที่เราทำ" อีกต่อไป นอกจากเครือข่ายโซเชียลหลักแล้ว บริษัทยังมี Instagram, Messenger, ชุดหูฟัง Quest VR, แพลตฟอร์ม Horizon VR และอีกมากมาย
“เพื่อสะท้อนว่าเราเป็นใครและอนาคตที่เราหวังว่าจะสร้าง ผมภูมิใจที่จะแบ่งปันว่าบริษัทของเราตอนนี้คือ Meta อย่างไรก็ตามภารกิจของเรายังคงเหมือนเดิม นั่นคือการนำผู้คนมารวมกัน แอพและแบรนด์ของเราก็ไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน เรายังคงเป็นบริษัทที่ออกแบบเทคโนโลยีโดยคำนึงถึงผู้คน แต่ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของเรา รวมถึงแอปของเรา ได้แบ่งปันวิสัยทัศน์ใหม่ เพื่อช่วยให้ metaverse มีชีวิต และตอนนี้เรามีชื่อที่สะท้อนถึงความกว้างของสิ่งที่เราทำ โดยจากนี้ไปเราจะสร้าง metaverse-first ไม่ใช่ Facebook-first นั่นหมายความว่าเมื่อเวลาผ่านไปคุณไม่จำเป็นต้องมีบัญชี Facebook เพื่อใช้บริการอื่น ๆ ของเรา ในขณะที่แบรนด์ใหม่ของเราเริ่มปรากฏในผลิตภัณฑ์ของเรา ฉันหวังว่าผู้คน ทั่วโลกต่างรู้จักแบรนด์ Meta และอนาคตที่เรายึดมั่น"
การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตการณ์อัตถิภาวนิยมของ Facebook ต้องเผชิญกับการตรวจสอบทางกฎหมายและกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นในหลายส่วนของโลกหลังจากการเปิดเผยในเอกสาร Facebook
ขณะที่นักวิจารณ์ที่ใหญ่ที่สุดของ Facebook บางคนดูไม่ประทับใจ Real Facebook Oversight Board ซึ่งเป็นกลุ่มเฝ้าระวังที่มุ่งเน้นไปที่บริษัท ประกาศว่าจะคงชื่อของตัวเองไว้
“การเปลี่ยนชื่อไม่ได้เปลี่ยนความเป็นจริงของ Facebook ที่กำลังทำลายระบอบนิเวศของประชาธิปไตย และเป็นผู้นำระดับโลกในการบิดเบือนข้อมูลและสร้างความเกลียดชัง” กลุ่มกล่าวในแถลงการณ์ “การเปลี่ยนชื่อที่ไม่มีความหมายของพวกเขาไม่ควรเบี่ยงเบนความสนใจจากการสอบสวน กฎระเบียบ และความเป็นจริง จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลอย่างอิสระเพื่อให้ Facebook รับผิดชอบ”
อย่างไรก็ดีหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ช่วงปี 2562 ที่ Facebook พยายามปลุกปั้น Libra แพลตฟอร์มคริปโตของตนเอง แต่กลับต้องเจออุปสรรคจากข้อจำกัดทางด้านกฏหมาย และนักวิเคราห์ด้านเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายมองว่าจะเป็นช่องทางในการฟอกเงิน หรือแม้กระทั่งกลายเป็นการผูกขาด ครอบงำ และเป็นอาณาจักรคริปโตที่ใหญ่ที่สุดเพราะเชื่อมโยงผู้ใช้ทั่วโลกผ่านระบบโซเชียลมีเดีย Facebook และแพลตฟอร์มอื่นๆในเครือของบริษัทอีกด้วย โดยในขณะนั้น นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อ Facebook ในการออกคริปโตเคอร์เรนซี่ "Libra" โดยระบุในถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐว่า แพลตฟอร์ม Libra ของ Facebook เป็นโปรเจกส์ที่ไม่สามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้จนกว่าทางผู้พัฒนา Libra ชี้แจ้งข้อสงสัยรวมถึงแก้ปัญหาต่างๆที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยเนื่องจากเข้าข่ายด้านการละเมิดความเป็นส่วนตัว และมีช่องว่างในการเปิดโอกาสสำหรับการฟอกเงิน การขาดบรรษัทภิบาลในการคุ้มครองผู้บริโภค และไม่มีเสถียรภาพทางการเงินที่เหมาะสม
" ผมคงไม่สามารถปล่อยให้ Libra เดินหน้าต่อไปได้ หากไม่สามารถตอบข้อสงสัยต่างๆ โดยเฉพาะแนวทางที่บริษัทจะแก้ไขปัญหาการฟอกเงิน การปกป้องข้อมูลส่วนตัวและเรื่องอื่นๆที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้ Libra จะต้องทำการแก้ไขปัญหาอย่างรอบคอบตามกระบวนการอย่างเหมาะสม" นายเจอร์โรม พาวเวล กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาดังกล่าวที่ Facebook ไม่สามารถตอบคำถามต่อข้อสงสัยดังกล่าวได้ ซึ่งส่งผลทำให้ภาพลักษณ์ของ Libra ติดลบลงเรื่อย ๆ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของ Facebook อย่างมีนัยยะสำคัญ จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม Libra ได้ประกาศล้างภาพมลทินและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Diem Association ที่เปลี่ยนชื่อมาจาก Libra เพื่อสร้างภาพจำใหม่ว่าเป็นอิสระจาก Facebook โดยเปิดเผยว่ามีแผนจะเปิดตัว Stablecoin ที่อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ Diem USD ซึ่งจะเริ่มต้นมุ่งเน้นไปที่ตลาดในสหรัฐฯ ด้วยการยกเลิกใบสมัครขออนุญาตการชำระเงินจาก FINMA ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ โดยจะย้ายไปสหรัฐฯ และร่วมมือกับธนาคาร Silvergate ในแคลิฟอร์เนียเพื่อช่วยในการออกเหรียญ Diem USD ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ขณะที่ตัวของ Mark Zuckerberg กลับต้องเจอมรสุมการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล จากมาตรฐานชุมชนที่ย้อนแย้ง และอาจต้องจ่ายค่าปรับสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา
โดยล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักรายงานข้อมูลตรงกันว่า Karl Racine ซึ่งเป็นอัยการสูงสุด ได้ยื่นฟ้องร้องต่อ Mark Zuckerberg กรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัทเฟซบุ๊ก ในข้อกล่าวหาความผิดที่เฟซบุ๊กละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊ก โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลด้านกฏระเบียบและกฏหมายทั้งในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรได้มีการยื่นฟ้องร้อง Mark Zuckerberg และ Facebook จำนวนหลายต่อหลายครั้งว่าบริษัทมีลักษณะเพิกเฉยต่อการทำผิดกฏหมายที่เกี่ยวกับความคุ้มครองผู้บริโภค และละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ในการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อสังคม
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า Instagram ก็เป็นหนึ่งในโซเชียลมีเดียที่มีการตรวจสอบพบว่ามีช่องโหว่ของเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อเด็กวัยรุ่น โดยเฉพาในประเทศอังกฤษ ที่ศาลมีคำสั่งปรับ Mark Zuckerberg เป็นเงินกว่า 70 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ จากโทษฐานการไม่รายงานการเข้าซื้อกิจการ Giphy ซึ่งเป็นเจ้าของแพลทฟอร์มแอพพลิเคชั่นการพัฒนามัลติมีเดีย
อย่างไรก็ตามคดีที่ผ่านมาเหล่านี้กลับพบว่าส่วนใหญ่ไม่เคยมีการเอาผิด Mark Zuckerberg แม้ว่าเขาจะเป็นผู้ถือหุ้นเฟซบุ๊กกว่าร้อยละ 50 หรือก็คือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับภายในบริษัทอย่างเด็ดขาด
อย่างไรก็ดี Karl Racine อัยการสูงสุดเจ้าของคดี สรุปจากการสืบพยานและตรวจสอบเอกสารของบริษัทเฟซบุ๊กพบว่า Mark Zuckerberg มีอำนาจเด็ดขาดในการกำหนดนโยบาย และบริหารจัดการโครงสร้างบริษัททั้งหมด ซึ่งดูเหมือนว่าประเด็นช่องโหว่ของการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊ก จากการออกมาแฉของอดีตพนักงาน จะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ Mark Zuckerberg ไม่สามารถปฏิเสธได้ในการเลือกปฏิบัติกับเพจ หรือ ผู้ใช้ที่มีชื่อเสียงที่จ่ายเงินเพื่อซื้อพื้นที่ในการกระจายการเข้าถึง แม้ว่าเนื้อหาเหล่านั้นจะมีลักษณะเนื้อหาที่รุนแรงด้านเพศ เด็กและเยาวชน ฯลฯ ซึ่งขัดกับมาตรฐานชุมชนที่บริษัทเขียนไว้ การว่าจ้างบริษัทจัดทำบัญชีเพื่อปรับแต่งภาษีในการเลี่ยงจ่ายภาษีในประเทศที่ตนเองเข้าไปทำธุรกิจ หรือแม้แต่การแอบนำคอนเทนต์ของสำนักข่าวในประเทศออสเตรเลียไปใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่กลับไม่ยอมแบ่งส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นให้กับเจ้าของคอนเทนต์เดิม ขณะที่ในส่วนของแนวทางลึกๆ กลับเน้นไปที่การสร้างผลประกอบการเพิ่มกำไรมากกว่าธรรมาภิบาลบริษัท
"จากผลการตรวจสอบพบว่าบริการหนึ่งของเฟซบุ๊กที่ถูกยกระดับในปี 2553 และทำให้ผู้พัฒนาระบบอื่น ๆ หลายร้อยรายสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กได้ จนเป็นที่มาของประเด็น "Cambridge Analytica" ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเฟซบุ๊กรู้เรื่องข้อมูลหลุดออกไปเป็นอย่างดี แต่กลับปกปิดข้อมูลโดยไม่แจ้งผู้ใช้งานนานกว่า 2 ปี หรืออีกมุมหนึ่ง Mark Zuckerberg และ Facebook เองกลับเป็นผู้รวบรวมและขายข้อมูลดังกล่าวให้ผู้ที่ต้องการซื้อก็ได้ ซึ่งในฐานะผู้บริหารสูงสุดของ Facebook ต้องมีการออกมารับผิดชอบต่อการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานที่เกิดขึ้นด้วย"
อย่างไรก็ตามในคดีละเมิดความเป็นส่วนตัวนี้ Facebook ถูกฟ้องเนื่องจากหลอกลวงผู้บริโภคให้เข้าใจผิดว่ามีการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวบนแพลตฟอร์มในขณะที่ปล่อยให้ Cambridge Analytica ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาของพรรครีพับลิกัน สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้กว่า 87 ล้านคน ในเดือนกรกฎาคม 2562 โดยคณะกรรมการกำกับการค้าของสหรัฐอเมริกา หรือ Federal Trade Commission ซึ่งเป็นหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา ได้ฟ้องร้องเรียกค่าปรับจากเฟซบุ๊กในคดีละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคกรณี Cambridge Analytica เป็นจำนวนมากถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐโดยยังไม่ได้เอาผิดนายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก
ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมา ทนายความของเฟซบุ๊กได้มีความพยายามในการยื่นคัดค้านการกล่าวหา Mark Zuckerberg ในหลายๆ คดี โดยให้เหตุผลว่า Mark Zuckerberg ไม่มีส่วนรู้เห็นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยอยู่ในฝ่ายบริหาร ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งการปฏิบัติการ ไม่สามารถกำกับดูแลการกระทำของพนักงานหลายพันคนได้ แต่ดูเหมือนว่าถ้อยแถลงของทนายดังกล่าวจะฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดี การฟ้องร้องนี้อาจทำให้นายมาร์คต้องจ่ายค่าปรับถึงกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่ผู้ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กที่บริษัท Cambridge Analytica เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้ในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อ 5 ปีก่อน และนั่นหมายถึงการสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมหาศาลของนายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เจ้าของบริษัทเฟซบุ๊ก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าการปรับเปลี่ยนของ Facebook มาสู่ Meta เพื่อเป็นการแสวงหาขุมทรัพย์แห่งใหม่ของ Facebook
ขณะที่นายปฐม อินทโรดม กรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยกรรมการสภาดิจิทัล ได้ให้มุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ Facebook ว่าชื่อใหม่ของ facebook คือ Meta แต่ไม่ “เมตตา” เราแน่... เพราะมาร์คจะสร้างโลกคู่ขนานที่ดึงทั้งเวลา เงิน และทรัพยากรของเราไปใส่โลกเสมือนนี้มากขึ้น ผลคือปัญหาเด็กติดเกม เด็กติดมือถือ จะหายไปทันที เพราะคนรุ่นใหม่จะ “ใช้ชีวิต” อยู่ในนั้นเลย!
ชื่อ Meta ที่สื่อตรงถึง Metaverse ทำให้เราต้องหันมาสนใจศัพท์คำนี้ ซึ่งสรุปง่าย ๆ ว่าเป็นโลกเสมือนที่เราใช้ชีวิตอยู่ในนั้นได้ สิ่งที่มาร์คโชว์เช่น Avatar ที่เป็นตัวเราในโลกเสมือนที่สามารถพบปะผู้คนในโลกจำลอง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ facebook ที่ใช้อยู่ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือตัวตนเสมือนนี้มีความสมจริงมากขึ้นเพราะเป็น VR ที่ต้องใส่อุปกรณ์อย่าง Oculus (ซึ่งซื้อกิจการมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว)
และที่สำคัญที่สุดคือ Ecosystem ที่สร้างขึ้นทำให้ผู้ใช้ “หาเงิน” จากโลกเสมือนนี้ได้ด้วย นี่คือสาเหตุที่ facebook พยายามผลักดันเงินสกุลดิจิทัล ของตัวเองคือ libra อย่างหนักแต่โดนแรงเสียดทานมากจนต้องเปลี่ยนเป็น diem ซึ่งแน่นอนว่ามันจะถูกใช้อยู่ในโลก Meta นี่แหละ
ลองคิดดูว่าถ้าเราต้องใช้ชีวิตในโลกนี้มากขึ้น ตัวตนเสมือนของเราก็จำเป็นต้องมีเสื้อผ้าสวย ๆ ใส่เหมือนโลกในความเป็นจริง อาชีพออกแบบ Avatar จะทำเงินไม่แพ้ดีไซน์เนอร์ และบริษัทแฟชั่นทั้งหลายก็จะเปลี่ยนช่องทางในการหารายได้จากการเปิดร้านในห้าง มาสู่เปิดร้านใน Meta ขายสินค้าที่จับต้องไม่ได้ แต่ทำเงินได้ดีกว่าเดิม เพราะไม่ต้องปวดหัวเรื่องโรงงานผลิต ไม่ต้องหาวัตถุดิบ ฯลฯ
Meta จะก่อให้เกิดอาชีพใหม่อีกมาก ทั้งหมดทำงานและทำเงินอยู่ในโลกเสมือน ไม่ว่าจะเป็นออกแบบ นักดนตรี สถาปนิก นักแปล ฯลฯ รวมถึงคนเล่นเกมที่เคยได้แต้มเอาไปแลกไอเท็ม ก็กลายเป็นได้เหรียญ diem เอาไปใช้จับจ่ายใช้สอยได้ รวมถึง convert เป็นเงินในโลกจริงได้ด้วย Blockchain จึงกลายเป็นประตูที่เชื่อมโลกเสมือนกับโลกจริงเข้าด้วยกัน
Meta จะทำให้คนธรรมดา ๆ ที่อาจมีชีวิตเป็นมนุษย์เงินเดือนในโลกจริง แต่โลดแล่นเป็นเจ้าของอาณาจักรใหญ่โตในโลก Meta คนในยุคนี้จึงมี 2 โลกที่ใช้ชีวิตคู่ขนานกัน แต่ถ่ายโอนความมั่งคั่งได้ด้วย diem ที่ไม่มีรัฐบาลของประเทศไหนควบคุมได้แน่นอน
บอกแล้วว่าเขาไม่ “เมตตา” เราแน่ ๆ
และนี่อาจเป็นการปฏิวัติสร้างโลกแห่งขุมทรัพย์ใหม่ของ Mark Zuckerberg ที่นอกจากหาช่องเกิดของ Diem ได้แล้ว ยังอาจมัดรวมคริปโตทั้งหมดในโลกเข้า Meta สู่จักรวาลเสมือนใหม่ก็เป็นได้
1/4 Diem is pleased to announce a partnership with @silvergatebank, a leader in financial innovation, for Silvergate to be the exclusive issuer of the Diem USD. Silvergate is a CA state-chartered bank and member of the Federal Reserve.— Diem Association (@DiemAssociation) May 12, 2021