นักสังคมสงเคราะห์ เชื่อว่า อาจมีอีกหลายครอบครัวกำลัง “ล่วงละเมิดลูกหลานตัวเอง” แบบเดียวกับที่ “คุณพ่อนักดนตรีคนดัง” ทำ จนกลายเป็นความเคยชินในครอบครัว และมองว่า “เป็นเรื่องปกติ” ทั้งที่จริงๆ แล้ว “ไม่ควรเป็นเรื่องปกติ”
** “สัมผัสที่ไม่ปลอดภัย” ไม่ควรเกิดจากผู้ปกครอง **
วินาทีนี้คงไม่จำเป็นต้อง “เอ่ยชื่อ” เพื่อ “เอ่ยโทษ” คุณพ่อนักดนตรีคนดัง เจ้าของการกระทำที่เข้าข่าย “ละเมิดสิทธิเนื้อตัวร่างกาย” ลูกสาวตัวเองอีกแล้ว เพราะล่าสุดเจ้าตัวได้ออกมาโพสต์ขออภัยสังคม เรื่องการแสดงออกที่ผิดพลาดครั้งนี้แล้วว่า...
“ต่อจากนี้ ผมจะระมัดระวังการแสดงออกความรักกับลูก ให้เหมาะสมมากกว่านี้ครับ และผมขอสนับสนุนการแสดงออกถึงความรักในครอบครัว ให้อยู่ในขอบเขต และการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน”
แต่สิ่งที่สังคมควรเรียนรู้จากกรณีนี้ คือ “การสัมผัสที่ชวนเอะใจ” ว่า จะสุ่มเสี่ยงต่อคำว่า “ไม่เหมาะสม” อย่างกรณีนี้ที่มีโผล่มาให้เห็น ทั้งในภาพและคลิปเป็นระยะๆ โดยมีคนเป็นแม่ เป็นมือกล้องเก็บทุกโมเมนต์ให้
ส่วนโพสต์ที่จุดประเด็นให้เกิดดรามาหนักที่สุด ก็คือ คลิปที่มีลูกสาวนั่งบนตัก แล้วน้องก็จุ๊บตามส่วนต่างๆ ของร่างกายคุณพ่อ ตั้งแต่แก้ม, หน้าผาก, คาง ไปจนถึง ปาก
แต่มันอาจไม่กลายเป็นประเด็นเดือด ถ้าระหว่างนั้น ไม่มี “มือ” ของคุณพ่อ ที่ “ล้วงเข้าไปใต้เสื้อ” ของลูกเพื่อจับหลัง และคล้ายวางพาดมาถึงส่วน “หน้าอก” บวกกับอีกมือที่เหลือที่ “ล้วงเข้าไปในกางเกง” เพื่อจับก้น ในช่วงท้ายคลิป
นอกจากนี้ ยังมีอีกคลิประหว่างที่คนเป็นพ่อสอนเปียโน อาจด้วยความมันเขี้ยวบางอย่าง จึงล้วงเข้าไปเพื่อ “จับก้น” ของลูกสาวไปด้วย ในช่วงสั้นๆ ของคลิป
รวมไปถึงภาพการล้อเล่นกันในครอบครัว ที่ให้ลูกสาวดูดนมคุณพ่อ เลียนแบบการให้นมของคนเป็นแม่ ทั้งหมดนี้ชาวโซเชียลบางส่วนมองว่าเป็นแค่การแสดงความเอ็นดู แต่ส่วนใหญ่กลับมองว่าไม่ควรเกิดขึ้น จนดันให้ชื่อเจ้าของประเด็น กลายเป็นแฮชแท็กยอดนิยมบนทวิตเตอร์
และตอนนี้ก็ยังมีกระแสพูดถึงหนักมาก ซึ่งจุดที่ต้องระวัง คือ ถ้าอยากตักเตือนกันด้วยความหวังดี หรือชี้เป้าให้สังคมได้คิด เพื่อสะท้อนเรื่อง “สิทธิเด็ก” ก็ไม่ควรหยิบภาพและคลิปเหล่านั้น ขึ้นมาส่งต่อซ้ำๆ เพราะอาจกลายเป็นการ “ย่ำยีสิทธิเด็ก” ซ้ำไปอีกในระยะยาว
การหยิบดรามานี้มาเอ่ยถึง ก็เพื่อสื่อสารว่า “สิทธิในเนื้อตัว-ร่างกายของเด็ก” เป็นสิ่งที่พ่อแม่-ผู้ปกครอง จำเป็นต้องให้ความเคารพ เพราะถ้าคนที่ปลูกฝังเองทำให้เด็กสับสน ท้ายที่สุดเด็กอาจ “ไม่สามารถแยกแยะได้” ว่า อะไรคือ “สัมผัสที่ไม่ปลอดภัย” เมื่อต้องออกไปใช้ชีวิตกับคนอื่น
แน่นอนเกี่ยวกับประเด็นนี้ ทางทีมข่าวไม่ได้ตัดสินไปเองจากอคติส่วนตัว แต่คือคำเตือนผ่านปลายสายจาก “กอล์ฟ-พงศธร จันทร์แก้ว” นักสังคมสงเคราะห์ด้านเด็กและครอบครัว ผู้ทำงานช่วยเหลือ “เด็กที่ถูกทารุณกรรมทางเพศ” จนพบข้อมูลน่าเป็นห่วง ว่า การทารุณกรรมโดยส่วนใหญ่ เกิดจาก “คนในครอบครัว” และ “คนใกล้ชิดที่เด็กไว้วางใจ”
ดังนั้น เครื่องมือนึงที่จะช่วยให้เด็กแยกแยะได้ดีที่สุด คือ การสอนให้เขารู้จัก “สัมผัสที่ดี” และ “สัมผัสที่ไม่ดี” โดยดูว่าอาจอนุญาตให้คนทั่วไปจับต้อง “ส่วนที่อยู่นอกเหนือร่มผ้า” ได้ แต่ “ส่วนที่อยู่ในร่มผ้า” โดยเฉพาะพื้นที่ต้องห้าม คือ จุดที่ผู้ใหญ่ต้องสอนให้เด็กรู้จัก “ปกป้องตัวเอง”
“ส่วนจุดที่เป็น “ส่วนต้องห้าม” ในการสัมผัสก็จะประกอบไปด้วย “อวัยวะปกปิด” ซึ่งก็คือ หน้าอก, ก้น และอวัยวะเพศ เราจะบอกกับเด็กๆ เสมอว่า ไม่มีใครมีสิทธิมาจับ มามองอวัยวะปกปิดเหล่านี้ แม้แต่พ่อแม่ของเขาเอง
และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีสถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น เขาจำเป็นที่จะต้องแจ้งบุคคลที่เขาไว้วางใจ อาจเป็นคนในครอบครัว หรือบุคคลอื่น เช่น คุณครู หรือ โทร.เบอร์ 1300 (สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม)
ถ้าแจ้งผ่านศูนย์ จะมีเครือข่ายทั่วประเทศที่สามารถลงพื้นที่ เข้าไปพูดคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครองได้ จึงไม่ใช่ทุก case ที่เราจำเป็นต้อง “แยกเด็ก” ออกมาจากครอบครัว หรือตำหนิผู้ปกครองเพียงอย่างเดียว
แต่เราสามารถพูดคุยกับทั้งเด็กและผู้ปกครอง ถ้าพบว่ายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่ ก็ให้ข้อมูลไป และอาจตั้งบันทึกข้อตกลง ว่า ผู้ปกครองจะไม่ทำแบบนี้กับเด็กแล้ว และให้ทางเลือกไปว่า เขาสามารถแสดงความรักต่อลูกด้วยวิธีไหนได้อีกบ้าง
ประเด็นมันอยู่ที่การแสดงออกความรักที่ไม่เหมาะสมครับ ต้องทำให้สังคมได้เรียนรู้เรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน เพราะเรามั่นใจมาก ว่า มีอีกหลายครอบครัวอาจจะทำแบบนี้อยู่ แต่มองว่า “เป็นเรื่องปกติ” ซึ่งจริงๆ แล้ว “ไม่ควรเป็นเรื่องปกติ” ครับ เราฟันธง!!”
** ต่างประเทศเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ให้เด็กได้ เพราะ “ซีเรียส-เฝ้าระวัง” **
อีกประเด็นที่ต้องไม่ลืมปลูกฝังเด็กๆ เลย คือ ส่วนต่างๆ ในร่างกายของเด็ก คือ “ของของเด็ก” อย่างที่ทุกวันนี้มีหลักสูตร “ตัวฉันเป็นของฉัน” จาก มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เกิดขึ้นมา ซึ่งถูกพัฒนามาจากหลักสูตร “Feeling Yes, Feeling No”ของประเทศแคนาดาอีกที
“โดยปกติ เราสามารถสอนเด็กๆ ได้ ตั้งแต่ 4 ขวบขึ้นไปครับ คือ ในอายุ 3 ขวบแรก เรายังสามารถกอดหอมได้ปกตินะครับ เพราะเด็กๆ ยังจำเป็นต้องได้รับ “ความรู้สึกรักผ่านการสัมผัส”อยู่
แต่พอโตประมาณ 5-6 ขวบแล้ว เริ่มจัดการธุระของตัวเองได้แล้ว เช่น ใส่เสื้อผ้าเองได้ ล้างฉี่ ล้างก้นตัวเองได้แล้ว ฯลฯ คุณพ่อคุณแม่ต้องปลูกฝังให้เขาได้รู้แล้วว่า อวัยวะส่วนต่างๆ เหล่านี้เป็นของลูก พ่อแม่เองก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้มองหรือสัมผัสนะ
อย่างประเทศนอร์เวย์, โปรตุเกส, สวีเดน ฯลฯ เขาจะ serious ประเด็นสิทธิเด็กมาก และจะปลูกฝังให้เด็กเป็นคนที่สามารถ “แจ้งความ-ร้องเรียน”เรื่องนี้ได้เองเป็นคนแรกเลย เพราะเด็กๆ จะได้รับการอบรมเรื่องนี้ ตั้งแต่อยู่ในโรงเรียนแล้ว
เขา serious กันถึงขั้นที่ว่า บางโรงเรียนจะม้วนเสื้อผ้าไว้ ให้เด็กหยิบไปใส่เอง และในระหว่างที่เด็กสวมเสื้อผ้า คนที่ดูแลอยู่จะหันหลังให้ เพื่อปลูกฝังให้เด็กๆ เข้าใจว่า ผู้ใหญ่กำลัง “เคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก” อยู่
และฝึกให้เด็กเรียนรู้ไปในตัวว่า ร่างกายของเขาเป็นของเขา ไม่มีใครสามารถมองอย่างละเมิด หรือมาสัมผัสได้ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ว่าจะโดยตัวผู้ปกครองเองหรือใครก็ตาม”
“คือไม่ว่าจะเป็น “คนต่างเพศ” หรือ “เพศเดียวกัน” ก็อยากให้ระวังไว้ก่อนเลยครับ เพราะจากกรณีล่วงละเมิดทางเพศที่ผ่านมา มีเยอะเหมือนกันที่เด็กผู้ชาย ถูกล่วงละเมิด จากผู้ใหญ่ใกล้ชิดที่เป็นผู้ชายเหมือนกัน
และสิ่งที่ทำให้เด็กสับสน คือ มันมักจะมากับคำว่า “แหม..ก็เพศเดียวกัน จับจู๋กัน ไม่เป็นอะไรหรอก”ซึ่งคนทั่วไปอาจจะคิดว่า นักสังคมฯ-นักสิทธิฯ เรื่องมากจังเลย แต่มันคือหลักฐานเชิงประจักษ์ในทุกวัน ว่า เด็กที่ถูกล่วงละเมิดแล้ว จะมี “สเต็ปที่ 1” มาจากอะไรแบบนี้แหละ”
คือ อาจจะ เริ่มจากมาสัมผัสเด็ก, ให้เด็กสัมผัส หรือให้เด็กดูก่อนเบื้องต้น นั่นคือ เหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงต้องจุ้นจ้าน ค่อนข้างลงรายละเอียดกับเรื่องพวกนี้ และเราก็อยากให้สังคมมา serious เรื่องพวกนี้กับเราเหมือนกัน
กันไว้ดีกว่าแก้นะครับ เราพูดคุยเรื่องนี้ เพื่อให้ทุกคน serious กับเรื่องนี้ไว้ ดีกว่าจะปล่อยไป แล้วสุดท้ายก็ต้องส่งเด็กๆ มาอยูในมือนักสังคมสงเคราะห์ หลังจาก “ถูกทารุณกรรมทางเพศ” ไปแล้ว”
** เคารพสิทธิเด็ก = ขออนุญาตเด็ก **
อีกประเด็นที่นักสังคมสงเคราะห์รายนี้ อยากส่องสปอตไลต์ให้คนในสังคมได้ตระหนัก คือ เรื่องการใช้โซเชียล โพสต์ภาพและคลิป โดยไม่คิดถึง “ความปลอดภัยและจิตใจของเด็ก”
“เพราะการ “ถ่ายรูป-ถ่ายคลิปลูก”แล้วเอามาลงสังคมออนไลน์ มันก็คือเรื่องเดียวกันเลย เหมือนผู้ปกครองทำให้เด็กคิดว่า “พื้นที่เนื้อตัวร่างกาย” ของเขา ไม่ใช่ของเขา แต่เป็นของพ่อแม่ที่จะทำอะไรกับเขาก็ได้ ผ่านการถ่ายแล้วเอามาแชร์ในโซเชียล
มีพ่อแม่หลายคนชอบถ่ายรูปลูกตอนโป๊เปลือย ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อ “อาชญากรรมทางเพศ” จากการถูก save รูปหรือคลิปไปขายต่อในตลาดมืด ซึ่ง “ภัยทางเพศออนไลน์” เหล่านี้ พ่อแม่หลายคนอาจจะยังไม่ตระหนักรู้
หรือแม้แต่การที่พ่อแม่ถ่ายคลิปเวลาลูกร้องไห้ เป็นคลิปที่น่าอายของเด็ก สิ่งเหล่านี้เราอาจจะคิดไม่ถึงว่า เมื่อโตไปแล้วเขากลับมามอง สิ่งเหล่านี้ที่ถูกถ่ายในช่วงวัยที่เขายังไม่สามารถพูด หรือแสดงความยินยอมได้ อาจจะสร้างบาดแผลให้เด็กในตอนโต”
“โดยเฉพาะลูกของบุคคลที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีคน save และมีหลายเว็บไซต์เอาไปแชร์ต่อ สิ่งที่เรากังวลมากคือ การที่เด็กมี digital footprint หรือ“รอยเท้าบนโลกออนไลน์” ที่เขาไม่ได้สร้าง แต่เป็นพ่อแม่ที่สร้าง ผ่านการถ่ายรูป อัพคลิปวิดีโอลูกในสื่อสังคมออนไลน์
หรือถ้าอยากเอาไปลงโซเชียลจริงๆ อาจจะต้องมานั่งคุยกับลูกเลยว่า มีคลิปไหนบ้างที่ลูกโอเคที่อยากจะให้พ่อแม่โพสต์ ซึ่งอาจจะเป็นคลิปที่แสดงความสามารถของเขา หรือสิ่งต่างๆ ที่ทำได้ดี
เรามองว่า ผู้ปกครองควร “ขออนุญาตเด็ก” ทุกครั้งที่จะเอาไปลงครับ คือ นักสังคมฯ ไม่ได้ห้ามถึงขนาดว่า ไม่ให้ลง แต่ถ้าจะลงก็ควรต้องผ่านขั้นตอนที่ทำให้เด็กได้รับรู้ว่า รูปหรือภาพที่ถ่ายตัวเขา มันคือ “สิทธิในเนื้อตัวของเขา” ที่เขาต้องรับรู้และอนุญาต”
ดูโพสต์นี้บน Instagram
...นักสังคมสงเคราะห์เชื่อว่า อาจมีอีกหลายครอบครัวทำแบบนี้อยู่ แต่มองว่า “เป็นเรื่องปกติ” ทั้งที่จริงๆ แล้ว “ไม่ควรเป็นเรื่องปกติ”...
>>> https://t.co/VHmBdCnw6t
.
เครื่องมือนึงที่จะช่วยให้เด็กแยกแยะได้คือ สอนให้รู้จัก “สัมผัสที่ดี” และ “สัมผัสที่ไม่ดี”
.#โหนกระแส #สิทธิเด็ก pic.twitter.com/BKZ11ysfN5— livestyle.official (@livestyletweet) October 27, 2021
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **