มีคำถามในหมู่นักลงทุนอยู่บ่อยๆ หุ้นที่ถูกตลาดหลักทรัพย์ประกาศใช้มาตรการกำกับซื้อขาย ทำไมราคาหุ้นจึงแข็งนัก ไม่ยอมปรับตัวลงง่ายๆ
หุ้นที่ถูกมาตรการแคชบาลานซ์ (Cash Balance) ตามทฤษฎี ราคาควรลดความร้อนแรงลง แต่ในทางปฏิบัติ หุ้นหลายตัวราคากลับพุ่งทะยานขึ้น
ไม่มีคำอธิบายใดกับปรากฏการณ์ การลากราคาหุ้นสวนควันปืน หรือลากราคาหุ้นสวนมาตรการสยบความร้อนแรงของราคาหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์ นอกจากสมมติฐานว่า
เจ้ามือหรือนักลงทุนขาใหญ่ยังขายหุ้นออกไม่หมด จึงจำเป็นต้องลากราคาหุ้นต่อไป
เพราะถ้าไม่ลากหุ้น ปล่อยให้ราคาดิ่งลงไก่จะตื่น นักลงทุนรายย่อยจะขวัญเสีย หรือเกิดการตื่นตระหนก แห่กันเทขายหุ้นทิ้ง จนเจ้ามือหรือขาใหญ่รับไม่ไหว
จำใจต้องปล่อยให้หุ้นร่วง โดยเจ้ามือหรือขาใหญ่ต้องเจ็บตัวเสียเอง
เสี่ยๆ นักปั่นหุ้นในอดีตมีรูปแบบการปั่นหุ้นแนวเดียวกัน โดยทยอยเก็บหุ้นในตลาด ก่อนสร้างข่าวกระตุ้นการเก็งกำไร และจุดพลุลากหุ้นในกระดาน
เมื่อนักลงทุนรายย่อยแห่เข้ามาเก็งกำไร เจ้ามือหรือขาใหญ่จะหาจังหวะเทขายหุ้นทำกำไร
หุ้นปั่นที่เจ้ามือหรือขาใหญ่ขายหุ้นออกหมดแล้วราคาจะดิ่งเหวลง แต่ถ้ายังขายหุ้นออกไม่หมด เจ้ามือหรือขาใหญ่จะต้องพยุงราคาหุ้นไว้หรือลากราคาหุ้นต่อไปจนกว่าเหยื่อจะเข้ามา “ติดกับ”
หุ้นที่ถูกมาตรการแคชบาลานซ์ แต่ราคากลับไม่ลง ไม่ได้เป็นเพราะราคาหุ้นแข็ง แต่เป็นเพราะเจ้ามือหรือขาใหญ่ยังขายหุ้นไม่ทัน จึงพยุงราคาหุ้นไว้
แต่ถ้าทิ้งหมดมือเมื่อไหร่หุ้นจะปักหัวลง และลงอย่างรวดเร็วรุนแรง เช่นเดียวกับหุ้นบริษัท เดลต้า อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งถูกทุบรูดถึง 108 บาทในวันเดียว
นักลงทุนที่แห่เก็งกำไรหุ้นร้อนอย่าเพิ่งลำพองใจ อย่าสำคัญผิดคิดว่าหุ้นที่เข้าไปเล่นราคาแข็งโป๊ก
แต่พึงสังวรณ์ว่า เจ้ามือหรือขาใหญ่ยังออกของไม่ได้ จึงจำเป็นต้องดันทุรัง ถูลู่ถูกังลากหุ้นต่อไปเพื่อหลอกแมลงเม่าให้ตายใจ และรอจังหวะทุบขายเมื่อมีโอกาส
และถ้าเมื่อไหร่ที่มีโอกาส เจ้ามือหรือขาใหญ่จะไม่มีวันปรานีรายย่อย และหากขายหุ้นหมดมือเมื่อใด เกมปั่นจะปิดฉากทันที
ใครหนีไม่ทัน หมดตัวเหมือนถูกโจรปล้น
จริงๆ แล้วนักลงทุนไม่ควรเข้าไปแหยมกับหุ้นตัวเล็กตัวร้าย หุ้นที่ถูกลากขึ้นร้อนแรงอย่างไร้เหตุผล หุ้นที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ โดยเฉพาะหุ้นที่ขาดทุนต่อเนื่อง แต่ราคากลับพุ่งทะยาน
หุ้นที่มีเจ้ามือหรือขาใหญ่ไม่ควรแตะต้องเด็ดขาด เพราะไม่มีเจ้ามือที่ไหนใจดีแจกเงินรายย่อย มีแต่เจ้ามือที่พร้อมจะปล้นรายย่อยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากพลัดหลงเข้าไปเก็งกำไรหุ้นตัวเล็กตัวร้าย ถ้าตลาดหลักทรัพย์ประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายจะต้องชิงตัดสินใจขายหุ้นทิ้งทันที ไม่ว่าจะขาดทุนหรือกำไร
ยิ่งราคาหุ้นถูกลากขึ้นสวนมาตรการแคชบาลานซ์ (Cash Balance) ยิ่งเป็นจังหวะที่ดีในการชิงเทขายทำกำไร
เพราะถ้าไม่ชิงจะหวะขาย จะนำพาตัวเองตกอยู่ในความเสี่ยง
หุ้นปั่นทุกตัวไปไม่ลา มาไม่ไหว้ เลิกเมื่อไหร่ไม่รู้ เจ้ามือหรือขาใหญ่ขายหุ้นหมดมือเมื่อไหร่ ใครขายไม่ทันเตรียมหามส่งไอซียูได้
หุ้นที่ติดแคชบาลานซ์ (Cash Balance ) แต่ราคาไม่ยอมลง สันนิษฐานได้เลยว่า เจ้ามือหรือขาใหญ่ยัง “ติดหุ้น” อยู่
ถ้าอยากจะแก้แค้นเจ้ามือหรือขาใหญ่ หุ้นตัวใดถูกลากขึ้นสวนมาตรการแคชบาลานซ์ (Cash Balance ) ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ช่วยกันถล่มเจ้ามือหรือขาใหญ่ให้อ่วม
เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ หุ้นตัวไหนที่ราคาพุ่งสวนมาตรการแคชบาลานซ์ (Cash Balance) ช่วยกันถล่มขายหุ้นทิ้งทันที