หุ้นบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ปลุกความสนใจของนักลงทุนอีกครั้ง หลังราคาปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง และมีส่วนสำคัญมีการผลักดันให้ดัชนีหุ้น พุ่งทะยานทะลุ 1,650 จุด
ตลอด 9 วันทำการที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคมถึงวันที่ 8 กันยายน หุ้น DELTA ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จากราคา 560 บาท ขึ้นมาปิดล่าสุดที่ 768 บาท โดยมีเพียงวันเดียวเท่านั้นที่ปรับตัวลง
การจุดพลุหุ้น DELTA รอบใหม่ไม่มีใครอธิบายได้ว่า มีปัจจัยใดสนับสนุน และนักลงทุนกลุ่มไหนเป็นคนไล่ราคา
ตลาดหลักทรัพย์ได้แต่กุมขมับกับหุ้นตัวนี้ เพราะประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายนับครั้งไม่ถ้วนแล้ว แต่ไม่อาจสยบความร้อนแรงได้ และการตรวจสอบการซื้อขายก็ไม่พบพฤติกรรมการสร้างราคา
แม้ยังไม่มีการประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายเพื่อดับความร้อนแรงครั้งใหม่ แต่ถึงประกาศใช้ก็คงทำอะไรหุ้น DELTA ไม่ได้ เช่นเดียวกับรอบก่อนๆ
เพราะความเคลื่อนไหวของหุ้นตัวนี้อยู่นอกเหนือการควบคุม ไม่ต้องมีเหตุผลใดมาสนับสนุน แต่อยู่ที่ว่ากลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังต้องการจะลากราคาขึ้นเมื่อไหร่เท่านั้น
ไม่มีความจำเป็นต้องเตือนนักลงทุนทั่วไปให้ระวังแล้ว เพราะทุกคนรู้ดีว่า DELTA เป็นหุ้นอันตราย ถ้าพลาดท่าอาจหมดตัวได้ และเชื่อว่านักลงทุนรายย่อยคงไม่กล้าเข้าไปเสี่ยง
หรือถ้าจะมีนักลงทุนรายย่อยที่นิยมการได้เสีย และเข้าไปวัดดวงกับ DELTA แต่จำนวนอาจน้อยมาก
ปัญหาของ DELTA คือ เป็นหุ้นที่ฟรีโฟลทหรือจำนวนการถือหุ้นของนักลงทุนรายย่อยต่ำ โดยอาจมีฟรีโฟลทไม่ถึง 10% ของทุนจดทะเบียน นอกนั้นเป็นการถือหุ้นโดยนักลงทุนสถาบัน
ฟรีโฟลทที่ต่ำทำให้ง่ายต่อการลากราคาหุ้น เพราะโหมแรงซื้อเข้ามาไม่เท่าไหร่ ราคาหุ้นก็วิ่งฉิว
การลากราคาหุ้น DELTA อาจเกิดจากฝีมือนักลงทุนต่างชาติ โดยเป้าหมายสำคัญของการสร้างราคาไม่ได้อยู่ที่การลากนักลงทุนรายย่อยขึ้นไปเชือด เหมือนการปั่นหุ้นขนาดเล็กนับสิบๆ บริษัทในขณะนี้
แต่เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การผลักดันดัชนี 50 หรือ SET50 ซึ่งมีผลต่อสัญญาซื้อขายล่วงหน้าฟิวเจอร์ส SET50
มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม หรือมาร์เกตแคป DELTA มีจำนวนประมาณ 9.60 แสนล้านบาท เป็นหุ้นขนาดใหญ่อันดับ 2 รองจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่มีมาร์เกตแคป 1.07 ล้านล้านบาท
มาร์เกตแคปของ DELTA มีสัดส่วน 5.09% ของมาร์เกตแคปรวมตลาดหลักทรัพย์ โดยมีน้ำหนักในการคำนวณดัชนี 83.49 จุด
การขึ้นหรือลงของราคาหุ้น DELTA 10% จะมีผลต่อการขึ้นหรือลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 8.34 จุด
ในแต่ละวันนักลงทุนต่างชาติซื้อขายสัญญา SET50 ฟิวเจอร์สระดับ 1 หมื่นสัญญา มีทั้งสัญญาซื้อ SET50 และสัญญาซื้อ SET50 ลง
แต่ละจุดการขึ้นลงของ SET50 ฟิวเจอร์ส จะมีผลต่อมูลค่าสัญญาซื้อขาย SET50 ฟิวเจอร์ส 200 บาท ดังนั้นในแต่ละจุดของสัญญาซื้อขาย 1 หมื่นสัญญา จะมีผลได้เสีย 2 ล้านบาท
ถ้าการขึ้นหรือลงสะสมของ SET50 ในแต่ละรอบมีจำนวน 100 จุด ในสัญญาซื้อขาย SET50 ระดับ 1 หมื่นสัญญา หมายถึงการได้เสียระดับ 200 ล้านบาท
ดังนั้น ต่างชาติอาจใช้ DELTA เป็นเครื่องมือในการปั่นดัชนี 50 โดยการลากราคาหุ้น DELTA ขึ้นไป เพื่อผลักดันดัชนีหุ้นให้พุ่งตาม และเมื่อขายทำกำไรจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้า SET50 แล้ว จึงปล่อยราคาหุ้น DELTA ลงมา ก่อนจะซื้อสะสมสัญญาซื้อขายล่วงหน้า SET50 ใหม่ และหาจังหวะลากราคาหุ้น DELTA รอบต่อไป
หุ้น DELTA จึงมีลักษณะเดี๋ยวฟุบเดี๋ยวฟื้น เดี๋ยวไล่ซื้อเดี๋ยวถล่มขาย ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นถูกบิดเบือนตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา
ใครจะตามแห่เก็งกำไรหุ้น DELTA ตลาดหลักทรัพย์ไม่ต้องเตือนแล้ว เพราะค่าพี/อี เรโชระดับ 125 เท่า มีแต่แมลงเม่าบ้าบิ่นเท่านั้นที่จะเข้าไปเล่น
แต่ควรเตือนนักเก็งกำไรที่ซื้อขายสัญญาล่วงหน้า SET50 มากกว่า เตือนให้ระวังฝรั่งจะใช้ DELTA เป็นเครื่องมือเชือดนักเล่น SET50 ฟิวเจอร์