xs
xsm
sm
md
lg

รายย่อยร้องเชือด STEC / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะกรรมการบริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC กำลังตกที่นั่งลำบาก หลังจากผู้ถือหุ้นรายย่อยร้องเรียนให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดำเนินคดีในความผิดสร้างข้อมูลเท็จ ทำให้นักลงทุนได้รับความเสียหาย

หนังสือที่ตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย STEC ยื่นต่อ ก.ล.ต.ระบุว่า ผู้บริหารบริษัทฯ มีพฤติกรรมไม่โปร่งใส ไม่รักษาผลประโยชน์ผู้ถือหุ้น และทำให้ผู้ถือหุ้นนับหมื่นรายเกิดความเสียหาย โดยช่วงปลายปี 2563 คณะกรรมการบริษัทมีมติซื้อหุ้นบริษัทลูกของบริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI

แต่เวลาล่วงเลยมาเกือบ 1 ปี ปรากฏว่ายังไม่มีการลงนามซื้อขายหุ้น และมีความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกมติ

ตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยอ้างว่า การซื้อบริษัทลูกของ STPI คณะกรรมการ STEC เชื่อว่า จะส่งผลดีต่อการดำเนินงานของ STEC ทั้งการลดต้นทุนและกำไรเติบโตก้าวกระโดด ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้น STEC และ STPI แต่การซื้อขายบริษัทลูก STPI ไม่มีความคืบหน้า และอาจยกเลิกมติ

หนังสือร้องเรียนของผู้ถือหุ้นรายย่อย STEC ขอให้ ก.ล.ต.ตรวจสอบการร่วมกันให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ และใช้อำนาจยับยั้งการกระทำความผิด โดยให้คณะกรรมการบริษัทฯ ปฏิบัติตามมติ เพื่อป้องกันความเสียหายของผู้ถือหุ้น

การที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยลุกฮือขึ้นมาเล่นงานฝ่ายบริหาร STEC เป็นกรณีตัวอย่าง เพราะไม่บ่อยนักที่นักลงทุนรายย่อยจะร้องให้ ก.ล.ต. ดำเนินคดีกับบริษัทจดทะเบียนที่สร้างความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้น

STEC และ STPI มีกลุ่มชาญวีรกูล ถือหุ้นใหญ่ โดยเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 คณะกรรมการ STEC แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า มีมติเข้าซื้อหุ้นบริษัท เอส ที ไอ ที จำกัด ทั้งหมด ซึ่ง STPI ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.99% จำนวนรวม 13.60 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 49.962 บาท รวมเป็นเงิน 674.48 ล้านบาท

ผู้ถือหุ้น STEC ได้ลงมติอนุมัติรายการซื้อหุ้น ขณะที่บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการเงินอิสระเห็นว่าเป็นรายการที่เหมาะสม

ข่าวการซื้อขายหุ้นบริษัท เอส ที ไอ ที จำกัด ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นให้นักลงทุนแห่เก็งกำไรหุ้น STEC และ STPI ทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ก่อนจะอ่อนตัวลงภายหลัง

นักลงทุนที่แห่เข้าไปซื้อหุ้น STEC และ STPI เพราะข่าวการซื้อขายหุ้นบริษัทลูก ถ้ายกเลิกรายการนักลงทุนจะเสียหายอย่างหนัก ซึ่งคณะกรรมการ STEC จะต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าทางแพ่งหรืออาญา

เพราะเป็นผู้สร้างข่าว ทำให้นักลวงทุนหลงเชื่อ และเข้าไปซื้อหุ้น

การสร้างข่าวดีกระตุ้นราคาหุ้นทำให้นักลงทุนแห่เข้าไปเก็งกำไร โดยผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนออกมาคุยโม้โอ้อวดถึงแนวโน้มผลประกอบการที่ก้าวกระโดด เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ไม่ว่าการออกข่าวซื้อหุ้นคืน การทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์หรือการจัดทำคำเสนอซื้อหุ้น การซื้อทรัพย์สินและการขยายการลงทุน โดยผู้บริหารมักโฆษณาชวนเชื่อด้านผลประกอบการ ทำให้นักลงทุนตามแห่เข้าไปซื้อหุ้น

หลายกรณีมีการยกเลิกการทำรายการ และอีกหลายกรณี ผลประกอบการไม่ได้เติบโตตามที่ผู้บริหารบริษัทคุยโวไว้ นักลงทุนจึงเหมือนถูกหลอกให้ซื้อหุ้น จนเกิดความเสียหายตามมา

แต่ไม่ค่อยมีนักลงทุนจะลุกขึ้นมาเรียกร้องความรับผิดชอบกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ไม่มีการดำเนินคดีกับผู้บริหารบริษัทที่แหกตาในความผิดสร้างข้อมูลเท็จ เพื่อหลอกลวงนักลงทุนซื้อหุ้น

กรณีของ STEC อาจเป็นคดีตัวอย่างสำหรับนักลงทุนรายย่อยในการลุกฮือขึ้นมาเล่นงานผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนขี้โม้ สร้างข่าวเท็จลวงนักลงทุนเข้าไป "ติดกับ"

ถึงเวลาต้องจัดการผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่สร้างข่าวชี้นำราคาหุ้น โฆษณาชวนเชื่อผลประกอบการเติบโตอย่างเกินจริง ลวงนักลงทุนไปตายเสียที








กำลังโหลดความคิดเห็น