xs
xsm
sm
md
lg

STAR รอวันตายซาก / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ถือหุ้นบริษัท สตาร์ ยูนิเวอร์แซล เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ STAR คงทำใจกันไว้ก่อนแล้วว่า อนาคตของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้คงมืดมน เพราะลงทุนทำอะไรผิดพลาดล้มเหลวไปหมด จนต้องประกาศเลิกธุรกิจหลัก ขณะที่หุ้นอยู่ในข่ายการถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์

ตลาดหลักทรัพย์ประกาศขี้นเครื่องหมาย “เอสพี” พักการซื้อขายหุ้น STAR ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา และ อยู่ระหว่างการพิจารณาการเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน กรณีบริษัทหยุดดำเนินธุรกิจจำหน่ายและให้บริการงานด้านวิศวกรรม สื่อและประชาสัมพันธ์ และตู้กาแฟหยอดเหรียญ ซึ่งเป็นธุรกิจทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดของบริษัท โดยจะพิจารณาการเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนภายใน 7 วัน

STAR เป็นหุ้นที่โยงใยในกลุ่มบริษัท พีพี ไพร์ม จำกัด (มหาชน) หรือ PPPM ซึ่งถือหุ้นใหญ่ใน STAR สัดส่วน 6.98% ของทุนจดทะเบียน และหุ้นบริษัท เอเชีย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC ถือหุ้น

ทั้ง STAR, PPPM, AEC และ ACAP เป็นหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานเปราะบาง ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ACAP ที่มีคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับการเบี้ยวชำระหนี้หุ้นกู้ และอยู่ระหว่างดำเนินการขอฟื้นฟูกิจการ แต่หุ้นกลับยังซื้อขายตามปกติ

สำหรับการหยุดธุรกิจงานด้านวิศวกรรม STAR ระบุว่า ได้เริ่มธุรกิจตั้งแต่ปี 2560 โดยว่าจ้างบริษัทเอกชนรายหนึ่งสร้างระบบไฟฟ้าและสื่อสาร งานระบบสุขาภิบาลและงานดับเพลิงในโครงการแห่งหนึ่ง แต่ผู้รับจ้างทิ้งงาน ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย จึงยื่นฟ้องผู้รับงาน ซึ่งศาลมีคำสั่งให้จำเลยชำระเงิน 41.52 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี

ส่วนธุรกิจสื่อและประชาสัมพันธ์ บริษัทฯ ลูก ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จนสิ้นสุดสัญญาวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 และไม่ต่อสัญญา เนื่องจากอายุสัมปทานมีจำกัด และมีความเสี่ยงจากการแข่งขัน

นอกจากนั้น ธุรกิจตู้กาแฟหยอดเหรียญ ซึ่งบริษัทฯ ว่าจ้างเอกชนแห่งหนึ่งดำเนินการ แต่เกิดปัญหาทั้งระบบและตัวเครื่อง รวมทั้งเกิดการแพร่ระบาดของโตวิด-19 ทำให้พบปัญหาหลายด้าน ทำให้ไม่ทันต่อการวางจำหน่าย บริษัทจึงพิจารณาให้ทนายความดำเนินการเรียกคืนเงินมัดจำจากเอกชนจำนวน 5.7 ล้านบาท

เมื่อธุรกิจไม่สามารถสร้างรายได้และผลตอบแทนที่เพียงพอให้บริษัทเติบโตได้ในระยะยาว คณะกรรมการบริษัทจึงมีมติหยุดดำเนินธุรกิจ

ไม่เพียงธุรกิจในประเทศเท่านั้นที่มีปัญหา แม้แต่การลงทุนในต่างประเทศก็มีกรณีพิพาทยืดเยื้อ โดยการลงทุนในบริษัทลูกที่รับกำจัดขยะในออสเตรเลีย วงเงินลงทุนประมาณ 215 ล้าน มีปัญหาในการเข้าไปบริหารจัดการในบริษัท และมีการฟ้องร้องเรื่องค่ากำจัดขยะมาหลายปี

ธุรกิจและการลงทุนของ STAR เสียหายไปหมด ผลประกอบการย่ำแย่ ขาดทุนต่อเนื่อง มีปัญหาฐานะการเงิน จนหุ้นถูกติดเครื่องหมาย C เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของทุนจดทะเบียน โดยปีนี้มีแต่ข่าวการชี้นำเรื่องการติดตามหนี้ และข่าวแจ้งความคืบหน้ากรณีพิพาทบริษัทลูกในออสเตรเลีย

หุ้น STAR อยู่ในสภาพตายซากมานาน มูลค่าซื้อขายแต่ละวันน้อยมาก บางวันซื้อขายกันเพียง 1 หมื่นบาทเศษ เนื่องจากเป็นหุ้นที่อยู่นอกเหนือความสนใจของนักลงทุนทั่วไป และจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยมีเพียง 542 รายเท่านั้น

ถ้าตลาดหลักทรัพย์พิจารณาว่า STAR เข้าข่ายการเพิกถอน จะเปิดการซื้อขายหุ้นเป็นการชั่วคราว ก่อนขึ้นเครื่องหมาย SP อีกครั้งพักการซื้อขายยาว จนกว่าบริษัทจะแก้ไขเหตุแห่งการถูกเพิกถอนได้ และหากแก้ไม่ได้ จะถูกเพิกถอนออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน

หุ้นในกลุ่ม STAR มีเพียง AEC เท่านั้นที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมา เพราะหลังจากเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ ราคาหุ้นก็พุ่งทะยาน กลายเป็นหุ้นที่ร้อนแรงที่สุดแห่งปี แม้ผลประกอบการยังไม่ดีก็ตาม

ส่วน PPPM และ ACAP อาการไม่ดีเช่นเดียวกับ STAR โดยหุ้นตกอยู่ในสภาพตายซากพอๆ กัน นักลงทุนพลัดหลงเข้าไปเสียหายถ้วนหน้า

เพียงแต่หุ้นกลุ่มนี้แมลงเม่าส่วนใหญ่ไม่เล่นด้วยเท่านั้น








กำลังโหลดความคิดเห็น