หุ้นบริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ UPA ทำท่าจะปิดรอบเก็งกำไรเสียแล้ว หลังจากถูกลากขึ้นมาติดต่อกัน 5 วันทำการ และมีการประกาศเพิ่มทุนครั้งใหญ่ตามมา
UPA แจ้งผลการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีมติเพิ่มทุนจำนวน 16,810.74 ล้านหุ้น พาร์ 50 สตางค์ โดยหุ้นใหม่จำนวน 8,449.71 ล้านหุ้น จะเสนอขายให้บุคคลในวงจำกัดในราคา 33 สตางค์ มูลค่ารวมไม่เกิน 2,788.41 ล้านบาท
เพื่อชำระเป็นค่าตอบแทนการเข้าลงทุนซื้อหุ้น บริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด จำนวนไม่เกิน 9,684,987 หุ้น หรือ 96.49% ของทุนจดทะเบียน มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ 10 บาท
และหุ้นใหม่จำนวน 4,645.01 ล้านหุ้น จะจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 33 สตางค์ พร้อมแจกใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนหรือวอร์แรนต์รุ่นที่ 2 หรือ UPA-W2 อายุ 1 ปี ราคาแปลงสภาพ 60 สตางค์ ในสัดส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 1 วอร์แรนต์
UPA แจ้งมติการเพิ่มทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์เช้าวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา และเมื่อเปิดการซื้อขาย ราคาหุ้นถูกลากขึ้น ก่อนจะปิดที่ 47 สตางค์ เพิ่มขึ้น 6 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้น 14.63% มูลค่าการซื้อขาย 981.44 ล้านบาท
เปิดการซื้อขายวันที่ 20 กรกฎาคม UPA ถูกลากขึ้นไปต่อ และขึ้นไปสูงสุดที่ 50 สตางค์ ระหว่างชั่วโมงซื้อขาย แต่ถูกเทขายจนราคาร่วงลงมาปิดที่ 45 สตางค์ ลดลง 2 สตางค์มูลค่าซื้อขาย 584.82 ล้านบาท
UPA ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และพัฒนาธุรกิจพลังงาน และถือเป็นหุ้นขนาดเล็ก โดยเสี่ยยักษ์หรือนายวิชัย วชิรพงศ์ นักลงทุนรายใหญ่ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของ UPA ได้ขายหุ้นจำนวน 1,200 ล้านหุ้น หรือ 11.85% ของทุนจดทะเบียน ในราคาหุ้นละ 37 สตางค์ ให้แคปปิตอล เอเชีย อินเวสท์เม้นท์ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา และเหลือหุ้นที่ถืออยู่ 100 ล้านหุ้น
เสี่ยยักษ์ซื้อหุ้น UPA จาก น.ส.แคทรียา บีเวอร์ จำนวน 1,300 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 16 สตางค์ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 แต่ขายทำกำไรจำนวน 1,200 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 37 สตางค์ มีกำไรหุ้นละ 21 สตางค์ จึงฟันกำไรไปแล้ว 252 ล้านบาท
ราคาหุ้น UPA เคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ระหว่าง 30-40 สตางค์อยู่หลายเดือน มูลค่าการซื้อขายระดับ 10 ล้านบาทต่อวัน โดยวันที่ 12 กรกฎาคม ราคาปิดที่ 32 สตางค์ แต่หลังจากนั้นมีการไล่ราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางมูลค่าซื้อขายที่หนาแน่นขึ้น ก่อนจะประกาศเพิ่มทุน
ผลประกอบการบริษัทไม่ดีนัก โดยขาดทุนหลายปีติดต่อ ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 173.55 ล้านบาท ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 63.69 ล้านบาท ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 84.76 ล้านบาท ส่วนไตรมาสแรกปีนี้กำไรสุทธิ 5.21 ล้านบาท
ปัจจัยพื้นฐานหุ้น UPA ไม่โดดเด่น จึงไม่อยู่ในความสนใจของนักลงทุน ส่วนการเพิ่มทุนครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ราคาหุ้นถูกลากขึ้นมาเป็นการสร้างฐานราคา ก่อนจะประกาศเพิ่มทุน โดยมีการออกวอร์แรนต์มาล่อให้ผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิ
ผู้ถือหุ้นเดิมส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อย ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 9,276 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 63.02% ของทุนจดทะเบียน
ความเสี่ยงในการใส่เงินเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นรายย่อยคือ ราคาหุ้น UPA เพิ่งจะถูกลากขึ้นจาก 32 สตางค์ ขณะที่หุ้นใหม่เสนอขายในราคาหุ้นละ 33 สตางค์ ซึ่งหากชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนแล้ว ราคาหุ้นในกระดานจะมีโอกาสปรับตัวลงมาต่ำกว่าราคาหุ้นเพิ่มทุนหรือไม่
และบริษัท โกลเด้นท์ ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัดที่จะซื้อ โดยออกหุ้นใหม่จำนวน 8,449.71 ล้านหุ้นซื้อมานั้นจะสร้างผลตอบแทนคุ้มกับจำนวนหุ้น UPA มหาศาลที่เพิ่มขึ้นหรือไม่
ราคาหุ้น UPA ที่ทรุดลงมาหลังจากถูกลากขึ้นไปที่ 50 สตางค์ ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 12 เดือน อาจเป็นโอกาสที่ดีในการขายของผู้ถือหุ้นบางกลุ่ม
เพราะนอกจากจะชิงทำกำไรแล้ว ยังไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงกับการใส่เงินเพิ่มทุนอีกด้วย
ส่วนนักลงทุนที่คิดจะลุย UPA อยากได้วอร์แรนต์ และใส่เงินเพิ่มทุนเข้าไป ต้องเผชิญความเสี่ยง มีสิทธิขาดทุนทั้งหุ้นตัวแม่และหุ้นตัวลูก
ถ้าผลประกอบการ UPA ยังฟุบเหมือนหลายปีที่ผ่านมา จะใส่เงินเพิ่มทุนจึงต้องคิดให้หลายตลบ