xs
xsm
sm
md
lg

ฟลอร์สนิทปิดรอบ 7UP / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากถูกลากขึ้นมายาวนาน สวนมาตรการกำกับการซื้อขาย หุ้นบริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ 7UP ที่มี พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ถือหุ้นใหญ่ ก็ปิดฉากลง โดยถูกทุบจนราคาดิ่งลงติดฟลอร์ 30%

หุ้น 7UP เคลื่อนไหวสงบเสงี่ยมอยู่พักใหญ่ แต่หลังจาก พล.ต.อ.สมยศ ทยอยเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2564 จนขยับขึ้นมาถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ในสัดส่วน 9.94% ของทุนจดทะเบียน และมีนายรชต พุ่มพันธ์ม่วง ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ในสัดส่วน 4.99% ของทุนจดทะเบียน

หุ้น 7UP จึงเกิดความคึกคักขึ้นอย่างผิดหูผิดตา

จากวันที่ 10 มีนาคม 2564 ซึ่งปิดที่ 47 สตางค์ ราคาหุ้นเริ่มพุ่งทะยานขึ้น แม้จะพักปรับฐานในบางช่วง แต่ก็ถูกลากขึ้นต่อจนขยับขึ้นสูงสุดที่ราคา 3.58 บาท ในระหว่างชั่วโมงซื้อขาย เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา

แม้ตลาดหลักทรัพย์จะประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายหุ้น 7UP มาตลอด แต่ไม่สามารถดับความร้อนแรงของราคาหุ้นได้ โดยประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา และต้องซื้อหุ้นด้วยเงินสด

ครั้งที่ 2 วันที่ 11 มิถุนายน ครั้งที่ 3 วันที่ 13 กรกฎาคม และล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ประกาศยกระดับมาตรการกำกับการซื้อขายในขั้นที่ 2 กำหนดให้ซื้อหุ้นด้วยเงินสด และห้ามคำนวณวงเงินซื้อขายหุ้น

การถูกประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายครั้งล่าสุด ถูกนำไปกล่าวอ้างว่า เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ 7UP รูดติดฟลอร์

เพราะเมื่อเปิดการซื้อขายในวันที่ 4 สิงหาคม มีการถล่มขายหุ้น 7UP ในทันที โดยเปิดที่ราคา 2.40 บาท ก่อนจะไหลรูดลงจนติดฟลอร์ หรือลงต่ำสุด 30% ที่ราคา 1.78 บาท ลดลง 76 สตางค์ ตั้งแต่เวลา 11.00 น.เศษ และติดฟลอร์สนิทจนกระทั่งปิดการซื้อขาย

แม้จะเป็นหุ้นตัวเล็ก แต่แรงขายที่ไหลทะลัก โดยมีแรงซื้อเข้ามารองรับ ทำให้ 7UP เป็นหุ้นที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดประจำวัน จำนวน 2,053.42 ล้านบาท

การถล่มขายจนราคาหุ้นรูดติดฟลอร์เป็นการยืนยันถึงการปิดรอบ 7UP และไม่ได้เกิดจากการที่ตลาดหลักทรัพย์ยกระดับมาตรการกำกับการซื้อขาย แต่อาจได้เวลาทำกำไร “ปล่อยของ” ของนักลงทุน “ขาใหญ่” ไปแล้ว

เพราะก่อนหน้ามีการเทขายหุ้น 7UP มาตลอด 4 วันทำการ ทำให้ราคาปักหัวลง และเกิดการกระหน่ำขายเหมือนล้างพอร์ตของ “ขาใหญ่” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ในจังหวะที่ตลาดหลักทรัพย์ประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขาย

ไม่อาจทำนายได้ว่า ราคาหุ้น 7UP จะถูกทุบจนทรุดลงไปถึงจุดใด แต่อาจคาดหมายได้ว่า ราคาสูงสุดที่ 3.58 บาทในรอบนี้คงไม่ได้เห็นกันอีกนาน เพราะการลากราคาหุ้นน่าจะปิดฉากโดยสมบูรณ์แล้ว

นักลงทุนรายย่อยที่ตามแห่เข้าไปเก็งกำไร และขายหนีไม่ทัน “ติดกับ” 7UP เข้าไปแล้ว

ไม่มีรายงานว่า พล.ต.อ.สมยศ ขายหุ้นออกมาหรือไม่ แต่สำหรับนายรชต ถึงจะขายหุ้นออก แต่ก็ไม่จำเป็นต้องรายงานการจำหน่ายหุ้นออกให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพราะถือหุ้นต่ำกว่า 5% ของทุนจดทะเบียน

ราคาหุ้น 7UP ที่ทะยานขึ้นมาจากระดับ 47 สตางค์ เกิดจากการที่ พล.ต.อ.สมยศ เข้าไปทยอยเก็บหุ้นจนติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่ รองจากบริษัท พาหนะ อินเวสเตอร์ จำกัด ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 18.52% ของทุนจดทะเบียน

พล.ต.อ.สมยศ เริ่มเป็นนักลงทุนชื่อกระฉ่อนตั้งแต่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พฤติกรรมการลงทุนมีลักษณะซื้อมาขายไป ไม่ใช่นักลงทุนระยะยาว

เพราะเคยเข้าไปซื้อหุ้นบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) หรือ KMC ต่อจากกลุ่มกฤษดาธานนท์ แต่ขายหุ้นออกในช่วงเวลาไม่กี่เดือน ก่อนที่หุ้น KMC จะถูกพักการซื้อขาย ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ

และเคยเข้าไปถือหุ้นในบริษัท โพลาริส แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR ในสัดส่วน 14.20% ของทุนจดทะเบียน แต่ขายออกก่อนที่ POLAR จะเกิดปัญหาฐานะทางการเงิน ผู้บริหารถูก ก.ล.ต. กล่าวโทษในความผิดสร้างหนี้เทียมและการทำข้อมูลเท็จ โดยหุ้นถูกพักการซื้อขายและอยู่ในข่ายถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์

นอกจากถือหุ้นใหญ่ 7UP แล้ว พล.ต.อ.สมยศ ยังถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ WP ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจาก บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNIC ของนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน ซึ่งถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษในความผิดทุจริต ยักยอกทรัพย์ PICNIC และหนีคดีไปต่างประเทศ

นักลงทุนที่เสียที 7UP แบกหุ้นต้นทุนสูงอยู่ คงต้องเฝ้า พล.ต.อ.สมยศ ไว้ให้ดี

ต้องภาวนาอย่าให้ขายหุ้นทิ้ง เพราะถ้า พล.ต.อ.สมยศ ขายล้างพอร์ตหุ้นตัวไหน หุ้นตัวนั้นมักมีอันเป็นไป








กำลังโหลดความคิดเห็น