ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 4 ส.ค.นี้ กนง. จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความเสี่ยงอย่างมากจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา ซึ่งส่งผลให้การแพร่ระบาดมีแนวโน้มควบคุมได้ยากขึ้น ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขของไทยเผชิญข้อจำกัดมากขึ้น คาดว่าภาครัฐจำเป็นต้องต่ออายุมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการจ้างงาน และมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ทรุดตัวไปกว่าเดิม ดังนั้น มาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายยังคงมีความจำเป็นในการช่วยประคับประคองเศรษฐกิจควบคู่ไปกับมาตรการทางการคลังที่ออกมาเพิ่มเติม ซึ่งในการประชุม กนง.ที่จะถึงนี้ คาดว่า กนง.น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เพื่อเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามสถานการณ์เศรษฐกิจแย่ลงไปกว่านี้ ท่ามกลางความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีจำกัด ในขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะยังคงมุ่งเน้นการใช้มาตรการที่ตรงจุดเพื่อช่วยลดภาระหนี้สินของภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยล่าสุด ธปท. ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติได้เห็นร่วมกันออกมาตรการเร่งด่วนด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลา 2 เดือนให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งในพื้นที่ควบคุม และนอกพื้นที่ควบคุมที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ
อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์เศรษฐกิจแย่ลงกว่าที่คาด กนง. คงเผชิญแรงกดดันให้ออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า โดยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายยังคงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ กนง. อาจนำมาพิจารณา ทั้งนี้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปลายไตรมาส 3/2564 และส่งผลให้ทางการยังจำเป็นต้องต่ออายุมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดต่อไปในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความเสี่ยงเชิงลบเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งทางภาครัฐคงจำเป็นต้องออกมาตรการทางการเงินและการคลังเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดย ธปท. น่าจะยังคงมาตรการเฉพาะจุดที่ช่วยลดภาระหนี้สิน เช่น การพักชำระหนี้ต่อไป ขณะที่มีความเป็นไปได้ที่ กนง. อาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าหากมีความจำเป็น เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยลดภาระทางการเงินของครัวเรือนและภาคธุรกิจอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ดี ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อโลกขาขึ้น และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเร็วกว่าที่คาด อาจนำมาซึ่งความท้าทายในการดำเนินนโยบายทางการเงินของ ธปท. โดยนโยบายการเงินของเฟดที่เปลี่ยนไปในทิศทางเข้มงวดมากขึ้นจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) ซึ่งการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ อันส่งผลให้ กนง. อาจจำเป็นจะต้องพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายสวนทางกับธนาคารกลางอื่นๆ จะยิ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดเงินทุนไหลออกจากตลาดเงินไทย และอาจเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า