ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มองเศรษฐกิจไทยยังคงน่ากังวลจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ชี้การกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวในปีหน้า
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนสูงจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยจากการที่ธนาคารได้จัดโรดโชว์กับนักลงทุนต่างชาติ พบว่า นักลงทุนและลูกค้ายังมีความกังวลกับความไม่แน่นอนในภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยนักลงทุนถามถึงทิศทางของนโยบายการเงินและนโยบายการคลังของไทย และเงินบาทที่อ่อนค่ามากสุดในภูมิภาคขณะนี้ แต่ยังมีนักลงทุนบางส่วนยังมีความเชื่อมั่นและเห็นถึงโอกาสในการขยายธุรกิจมายังภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กลับมามากขึ้น
"เป็นการยากที่จะประเมินเศรษฐกิจในขณะนี้ ที่มีแต่ปัจจัยด้านลบและความไม่แน่นอนมากมาย ซึ่งทั้งหมดเกิดจากโควิด-19 และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะจบเมื่อไหร่ ดังนั้น เราจึงยังคงประมาณจีดีพีไทยปีนี้ไว้ที่ระดับ 1.8% และปีหน้าที่ 3.1% ไว้ก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจนกว่านี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักอย่างเดียวคือ การคุมโควิด-19 และเร่งการฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้นจะทำให้ไม่ต้องล็อกดาวน์ การท่องเที่ยวกลับมา และส่งออกขับเคลื่อนไปดีต่อไป ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในปีหน้าด้วย"
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในระยะต่อไปยังอ่อนค่าต่อเนื่อง จากปัจจัยลบต่อค่าเงินบาท ทั้งการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยยังมีความไม่แน่นอน ในขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น และดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงอย่างมาก ทำให้มองว่าค่าเงินบาทน่าจะเผชิญสภาวะที่ท้าทายในช่วงต่อจากนี้
ส่วนภาคส่งออกที่ถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ยังมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยล่าสุดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาขยายตัวถึง 44% จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 38% และแนวโน้มน่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว แต่จะต้องจับตาดูสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งหากระบาดไปสู่ระบบภาคการผลิตจนทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้อาจจะกระทบต่อการส่งออกได้
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังจะเห็นได้จากโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วประมาณ 10,000 คนในเดือนนี้ และมีผู้ติดเชื้อเพียง 20 คน ถือว่าไปได้อย่างช้าๆ แม้ว่าการเปิดประเทศในปลายปีน่าจะเป็นเรื่องยาก แต่ตรงจุดนี้นับเป็นการเริ่มต้นที่ดูดี ขณะเดียวกัน จะต้องมีการเตรียมพร้อมของผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหารที่อาจจะใช้เวลาในการเตรียมการที่เปิดรับนักท่องเที่ยวหลังจากที่หยุดมาระยะหนึ่ง
**คาด กนง.ดอกเบี้ยยาว 3 ปี**
ด้านนโยบายการเงินนั้น ธนาคารประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงนโยบายดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมที่ 0.50% ในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 5 สิงหาคมที่จะถึงนี้ และคงดอกเบี้ยในระดับนี้ไปอีก 3 ปีหรือปี 2566 เพื่อเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและบรรเทาภาระต้นทุนให้ธุรกิจและประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่ประเทศเศรษฐกิจหลักบางประเทศเริ่มจะมีการเข้มงวดกับนโยบายการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการลดคิวอี หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ ธปท.จะต้องเผชิญกับแรงกดดันของทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่เริ่มจะเป็นขาขึ้น
"เราคาดว่าคณะกรรมการ กนง.จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า แต่ไม่แปลกใจว่าอาจจะมีการเสียงแตก คือมีคณะกรรมการบางท่านจะโหวตให้ลดดอกเบี้ย เพราะแบงก์ชาติสื่อสารออกมาอย่างต่อเนื่องถึงความกังวลด้านเศรษฐกิจ โดยเสียงส่วนใหญ่ยังโหวตให้คงอยู่"
สำหรับมาตรการทางการคลังนั้น ธนาคารมองว่าการใช้นโยบายการคลังจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้หากทำให้ช่วงที่สามารถคุมการระบาดของโควิด-19 ได้แล้ว ซึ่งจะทำให้สามารถทำได้ทั้งในด้านของการฟื้นฟู และเยียวยาไปพร้อมกัน จากปัจจุบันที่แม้จะมีมาตรการเยียวยาอยู่แล้ว แต่ยังมีประสิทธิผลไม่เต็มที่เนื่องจากสถานการณ์ไม่เอื้อต่อการใช้จ่ายเพราะมีการล็อกดาวน์อยู่ ดังนั้น หากการดำเนินมาตรการทางการคลังมีประสิทธิภาพที่ดีจะช่วยบรรเทาความกดดันของนโยบายทางการเงินที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาลงอยู่อีกทางหนึ่งด้วย
"ธนาคารมองว่านโยบายการคลังจะทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้แล้ว เมื่อคลายล็อกดาวน์ ท่องเที่ยวเริ่มกลับมา คนสามารถออกไปจับจ่ายใช้สอยในบรรยากาศที่ดีขึ้น จะทำให้การกระตุ้นได้ผลมากกว่านี้ ขณะเดียวกัน จะเสริมด้วยมาตรการฟื้นฟูด้วยเพื่อเสริมความเข้มแข็งในอนาคต"