เมื่อการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศลากยาว หลายฝ่ายคาดยิ่งกดดันดัชนีหุ้นไทยลงต่อ แนะปรับลดน้ำหนักลงทุน หลัง 7 เดือนปี 2564 ต่างชาติขายออก 1.28 แสนล้านบาท ส่วนรายย่อยเข้าช้อนเต็มที่ จับมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นของภาครัฐ อาจกดดันหุ้นไทยเพิ่ม โดยเฉพาะหากต้องกู้เงินมาแก้ปัญหาอีกรอบ
ผ่านพ้นไปแล้ว 7 เดือน สำหรับปี 2564 ดัชนีหลักทรัพย์ในช่วงนี้อยู่ในช่วงขาลง นับตั้งแต่ครั้งที่เคยขึ้นไปสร้างจุดสูงสุด 1,636.56 จุด เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2564 แต่จากนั้นปรับลดลงมาโดยตลอดจนอยู่ที่ 1,521.92 จุด ในวันสุดท้ายของเดือน ก.ค. หรือลดลงไปกว่า 114 จุด และยังมีโอกาสที่จะลดลงไปมากกว่านี้ หากพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบัน จนเริ่มมีความกังวลกันว่า ดัชนีช่วงต้นปี (4 ม.ค.) ที่ระดับ 1,455.65 จุด อาจจะไม่ใช่จุดต่ำสุดของปีนี้
ขณะที่ภาพรวมการซื้อขายแยกตามประเภทนักลงทุน ในเดือนที่ผ่านมา (ก.ค.) นักลงทุนต่างประเทศขายสะสม 1.70 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยสถาบัน 3.55 พันล้านบาท โดยนักลงทุนทั่วไปเป็นผู้ซื้อสะสม 1.76 หมื่นล้านบาท และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซื้อสะสม 2.91 พันล้านบาท
ส่วนภาพรวมตั้งแต่ต้นปี 2564 นักลงทุนทั่วไปซื้อสะสมไปแล้ว 1.28 แสนล้านบาท และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสะสม 9.46 พันล้านบาท ฝั่งขายมากที่สุดหนีไม่พ้นนักลงทุนต่างประเทศ 9.32 หมื่นล้านบาท และสถาบันขายสะสม 4.43 หมื่นล้านบาท
การลดลงของดัชนีในวันสุดท้ายของเดือนก.ค. 15.86 จุด หลายฝ่ายเชื่อว่า มาจากความกังวลของนักลงทุนต่อการออกมาตรการคุมเข้มของรัฐบาลเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชโควิด-19 หลังจากที่การแพร่ระบาดในประเทศไม่ดีขึ้น อีกทั้งภาระของภาครัฐทำให้หนี้สินประเทศเพิ่มขึ้น และเมื่อมาตรการยิ่งเข้มข้นก็อาจทำให้รัฐสามารถกู้เงินเพิ่มได้อีก ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในเรื่องค่าเงิน
“มงคล พ่วงเภตรา” ผู้ช่วยกรรมผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบีเอสที แสดงความเห็นว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงจากความกังวลผลประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่จะออกมาจะมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เข้มขึ้น หลังจากที่การแพร่ะบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศไม่ดีขึ้น และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศ ทำให้รัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากมาตรการที่เข้ม และยังจะส่งผลกระทบต่อ GDP ไปด้วย
ที่ผ่านมา ภาระของภาครัฐทำให้หนี้สินประเทศเพิ่มขึ้น และมาตรการยิ่งเข้มก็อาจทำให้รัฐกู้เงินเพิ่มได้อีก ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในเรื่องค่าเงิน ดังนั้น การแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่ได้มองที่คนติดเชื้อมากอย่างเดียว แต่มองถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หนี้สินของประเทศ และค่าเงินด้วย
สำหรับ ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่ติดลบเช่นกัน โดยตลาดหลักอย่างตลาดหุ้นจีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น ติดลบกันหมด จากความกังวลจีนแทรกแซงกลุ่มเทคโนโลยี และฝั่งฮ่องกงก็วิตกจีนจะเข้ามาแทรกแซงด้วย ส่วนญี่ปุ่นวิตกการแพร่ระบาดโควิด-19
ทำให้แนวโน้มการลงทุนในสัปดาห์นี้ (2-6 ส.ค.) คาดว่าตลาดคงจะแกว่งตัวในกรอบแนวรับ 1,500-1,520 จุด ส่วนแนวต้าน 1,540 จุด ซึ่งหากมาตรการเข้มที่ออกมาเป็นล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ ก็ทำให้ดัชนีมีโอกาสลงต่ำกว่าระดับ 1,500 จุดได้ แต่คิดว่าไม่น่าจะใช้ พร้อมให้ติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ต่อไป
เมื่อเร็วๆ นี้ เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASP วิเคราะห์และแนะจัดพอร์ตการลงทุนว่ากระจายวัคซีนในอัตราเร่งของหลายประเทศในปัจจุบัน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจาก GDP งวดไตรมาสแรกปี 64 ของหลายประเทศทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวกลับไปใกล้เคียงกับงวดไตรมาส 4 ปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่โควิด-19 จะระบาดไปทั่วโลก ทำให้ยังคงน้ำหนักหุ้นต่างประเทศไว้ที่ 35% (มากกว่าตลาด) ส่วนตลาดหุ้นไทยยังมีความกังวลจากการแพร่ระบาด
อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ที่เร่งตัวขึ้น และการมีมาตรการคุมเข้ม 10 จังหวัดถึงปลายเดือนหน้าขณะที่การกระจายวัคซีนยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่าจะทำได้ตามเป้าหรือไม่ ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงลดน้ำหนักหุ้นไทยลง 5% เหลือ 30% (เท่าตลาด) ส่วนตราสารหนี้ บนความคาดหมายว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงที่ ขณะที่ Bond Yield ระยะยาวขยับสูงขึ้น จึงจัดสรรน้ำหนักการลงทุนแบบ Under Weight ให้น้ำหนักตราสารหนี้เพียง 15% ส่วนตราสารการลงทุนทางเลือกอื่นๆ ให้น้ำหนัก การลงทุน 10% ส่วนที่เหลือ 10% ลงตลาดเงิน
โดยคาดการณ์ GDP Growth ปี 2564 ถูกปรับลดลงมาค่อนข้างชัดเจนแล้วจากเดิมที่คาดเติบโต 1.5-1.7% เทียบปีก่อน มาอยู่ในกรอบ 0-1% จากล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ออกมาประเมินผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับติดลบ 0.8 ติดลบ 2% ของ GDP ลำดับถัดไปที่ต้องตามคือการปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน ซึ่งปัจจุบันค่าเฉลี่ย EPS ปี 2564 อยู่ในช่วง 83-84 บาท/หุ้น แต่คาดว่าจะอยู่ที่ 71.2 บาท/หุ้น
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศยังน่ากังวลอยู่มากโดยจำนวนผู้ติดเชื้อสูงถึง 1.70 หมื่นราย ซึ่งเป็น New High และน่าจะเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทย ส่วนปัจจัยในต่างประเทศไม่มีเรื่องใหม่ที่มีน้ำหนักขับเคลื่อนตลาด
แต่สิ่งที่น่าสนใจ พบว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ระหว่างการพักฐาน แม้การปรับตัวขึ้นของยิลด์พันธบัตรยังคงเป็นปัจจัยกดดันเป็นระยะๆ แก่ราคาอสังหาฯ แต่มองเห็นถึงโอกาสการฟื้นตัวของสินทรัพย์เหล่านี้ หลังหลายประเทศต่างทยอยฉีดวัคซีน และเริ่มเปิดเมืองมากขึ้น ขณะที่เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ก็เร่งตัวขึ้นเช่นกัน ทว่ามาตรการล็อกดาวน์จากภาครัฐเริ่มไม่เข้มข้นมาก และมีประสบการณ์ ในการรับมือได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อเป็นสภาพคล่องให้แก่พอร์ตการลงทุน จึงแนะน้ำให้มีน้ำหนักการลงทุนในตลาดเงินประมาณ 7%
“สมชัย อมรธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด แสดงความเห็นว่า มาตรการล็อกดาวน์ในปัจจุบันส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในระยะนี้อย่างชัดเจน แต่มองว่า หากมาตรการดังกล่าวประสบผลสำเร็จจะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลงไปได้ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในอนาคต
โดย บลจ.กรุงไทย ยังคงเป้าหมายดัชนีตลาด (SET Index) ไว้ที่ 1,650 จุด ณ สิ้นปีนี้แต่ขึ้นอยู่ภายใต้ว่าจะสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ได้เมื่อไหร่ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือ ความคืบหน้าในการจัดหาและแจกจ่ายวัคซีนของภาครัฐซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนในประเทศจะกลับเข้าภาวะใกล้เคียงปกติและการเปิดประเทศจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่เท่านั้น
ส่วนมุมมองการลงทุนครึ่งหลังปี 2564 บลจ.กรุงไทย มองว่า ความผันผวนที่จะเกิดขึ้นใน "ตลาดหุ้นทั่วโลก" ถือเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนมากกว่าแม้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกน่าจะมีความผันผวนมากขึ้นและอาจจะทำให้ผลตอบแทนลงทุนไม่ได้ดีเหมือนอย่างในช่วงครึ่งแรก หลังจากที่ตลาดได้รับข่าวการ "เปิดเมือง" ของประเทศใหญ่ๆ ที่มีการแจกจ่ายวัคซีนไปมากแล้ว รวมถึงแรงกดดันจากการถอนมาตรการช่วยเหลือของเฟด
แต่ด้วยการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากในปัจจุบัน ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ ยังมีความน่าสนใจอยู่ อีกทั้งหากวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะลดการแพร่ระบาดจากไวรัสสายพันธ์ใหม่ๆ ได้ก็น่าจะทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจและปัจจัยพื้นฐานดีขึ้นต่อเนื่องในอนาคต
“วิกิจ ถิรวรรณรัตน์” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย บล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 นั้นมีปัจจัยแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศที่ต้องติดตาม โดยต่างประเทศต้องติดตามการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เกี่ยวกับมุมมองการขึ้นดอกเบี้ย และการปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) ซึ่งในอดีตส่งผลกดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง
แต่ภายหลังการปรับฐานจาก QE Tapering ในครั้งก่อน พบว่าตลาดหุ้นไทยสามารถประคับประคองตัวได้ และกลับมาให้ผลตอบแทนที่ดีอีกครั้ง ส่วนครั้งนี้ คาดว่าเฟดจะเริ่มส่งสัญญาณในเดือน ส.ค. โดยคาดว่าจะส่งผลกดดันตลาดหุ้นไทยให้ปรับฐานลง แต่คาดว่าจะลงไม่ลึกมากนัก เพราะราคาหุ้นตอบสนองต่อปัจจัยลบไปแล้วล่วงหน้า
ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ภายหลังประเทศไทยยังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี คาดว่าการระบาดจะทำจุดสูงสุด (จุดพีก) ในช่วงปลายไตรมาส 3 ปี 2564 ดังนั้น การลงทุนจึงต้องมองข้ามไปหลังโควิด-19 คลี่คลายลงด้วยเช่นกัน
และในช่วงที่การระบาดยังรุนแรง แนะนำกลุ่มหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศต่ำ ส่วนกลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศ (Reopening) พบว่าราคาหุ้นปรับฐานลงไม่หนักอย่างการระบาดในระลอกก่อนหน้า สะท้อนว่าผู้ประกอบการมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น แต่แนะนำให้สถานการณ์ระบาดเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นก่อน และมีแนวโน้มกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้ก่อนจึงค่อยเข้าลงทุน
สำหรับเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปี 2564 ประเมิน ที่ 1,605 จุด อย่างไรก็ดี ระหว่างทางมีโอกาสปรับขึ้นไปทดสอบ 1,694 จุด ในทางกลับกันมีโอกาสปรับลงไปทดสอบที่แนวรับบริเวณ 1,500 จุด แต่มองเป็นจุดน่ากลับเข้ามาซื้อลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่ราคาปรับลงมาแรง เช่น กลุ่มพลังงาน และกลุ่มธนาคารพาณิชย์
ส่วนปี 2565 บล.บัวหลวง ได้ประเมินภาพของตลาดหุ้นไทยว่าคาดการณ์กำไรของหุ้นในตลาดจะปรับขึ้นสูงกว่าปี 2564 อย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่ากำไรต่อหุ้น (EPS) ปีหน้าจะอยู่ที่ 98.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะส่งผลให้คาดการณ์เป้าหมายดัชนีปรับขึ้นไปอยู่ที่ 1,780 จุด ส่วนหนึ่งได้ปัจจัยหนุนจากกลุ่มหุ้นพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักสูงในตลาดหุ้นไทย โดยคาดว่ากำไรจะเติบโตต่อเนื่อง จากคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบปี 2565 ระหว่าง 65-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ไม่เพียงเท่านี้ ยังพบว่าหุ้นหลายตัวมีแนวโน้มกำไรปี 2565 ในทิศทางที่เติบโต และบางตัวเติบโตดีกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดโควิด-19 ดังนั้น ในช่วงที่ตลาดปรับฐานจึงเป็นช่วงที่นักลงทุนสามารถเลือกซื้อ หรือเลือกลงทุนในหุ้นที่ราคาปรับฐานลงมาได้ โดยหุ้นที่แนะนำ ได้แก่ กลุ่มส่งออก KCE DELTA และ HANA รวมถึงกลุ่มยานยนต์ ตามทิศทางการส่งออกที่เติบโตดีตามเศรษฐกิจต่างประเทศที่กลับมาฟื้นตัว กลุ่มเดินเรือ RCL และ LEO ได้อานิสงส์จากค่าระวางเรือที่ปรับตัวขึ้น โดยคาดว่าแนวโน้มกำไรจะปรับขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) ซึ่งเหมาะกับการหลบภัยในช่วงที่เศรษฐกิจถูกผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้ ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่ม โดยมีจุดเด่นจากแนวโน้มกำไรปี 2565 ที่เติบโตสูง ขณะที่ราคาต่อกำไร (P/E) ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก และราคาหุ้นยังเคลื่อนไหวอยู่ในโซนล่าง เช่น OSP และสุดท้ายกลุ่มบรรจุภัณฑ์ ทั้งผู้จัดส่งบรรจุภัณฑ์ KEX และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ SCGP
ส่วนหุ้นขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มพลังงาน และกลุ่มธนาคาร คาดจะกลับมาอีกครั้งในปลายปี 2564 จากความต้องการใช้พลังงานที่ฟื้นตัวกลับมาในช่วงปลายปี และภาวะเงินเฟ้อที่จะกลับมาสูงขึ้นหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยกลุ่มพลังงาน คาดหวังการเติบโตจากภายนอก (In-organic Growth) จากการออกไปซื้อกิจการต่างประเทศ เช่น PTTGC ด้วยเม็ดเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง เชื่อว่าจะสร้างผลกำไรให้ระยะกลาง-ยาว โดยการลงทุนระยะสั้นแนะนำเก็งกำไรตามงบการเงิน ส่วนระยะยาวแนะนำทยอยสะสม เพราะราคาที่ปรับฐานลงมาเป็นราคาที่มีส่วนลดค่อนข้างน่าสนใจ
สำหรับราคาหุ้นธนาคารที่ปรับลง หลายฝ่ายคาดว่าสะท้อนจากมาตรการต่างๆ ที่ธนาคารจำเป็นต้องช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น มาตรการยืดหนี้ และมาตรการพักชำระหนี้ แต่มองว่าปัจจัยลบดังกล่าวว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจสะดุดในช่วงสั้นเท่านั้น แต่ไม่ส่งผลถาวร โดยเชื่อว่าหลังจากผ่านช่วงวิกฤตแล้ว มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ และปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบจะไม่เพิ่มขึ้นเหมือนช่วงเวลานี้แล้ว ส่วนปริมาณการตั้งสำรองของธนาคาร ณ ปัจจุบันถือว่าเพียงพอ แต่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นคือการกลับมาจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล
ดังนั้นจึงมองว่าใน ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่ดีในการซื้อหุ้นเพื่อรับการเติบโตใน 2-3 ไตรมาสข้างหน้า ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะฟื้นตัว และจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตามขึ้นมา โดยการจัดพอร์ตลงทุนแนะนำถือหุ้นไทยมากกว่า 50% เพราะมูลค่าปัจจัยค่อนข้างถูก และส่วนที่เหลือแนะนำจัดสรรเงินลงทุนในต่างประเทศ เช่น การซื้อกองทุนรวมดัชนี (ETF) และกองทุนรวม