GC ศึกษา M&A ต่อหลังปิดดีล Allnex คาด EBITDA margin เพิ่มไม่น้อยกว่า 2% ย้ำไม่จำเป็นเพิ่มทุน และเนื้อหอมมีแบงก์พร้อมปล่อยกู้อีก 1,000 ล้านเหรียญ
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการใน allnex ผู้นำในธุรกิจ Coating Resins (ธุรกิจผลิตภัณฑ์เรซินชนิดพิเศษเพื่อใช้ในการผลิตสารเคลือบอุตสาหกรรม) ระดับโลก นับเป็นประโยชน์เพิ่มศักยภาพทั้ง 2 ฝ่าย โดยตลาดนี้ขยายตัวไม่ว่าจะอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 หรือไม่ก็ตาม และในอนาคตเอื้อประโยชน์ทั้งการจำหน่ายวัตถุดิบของจีซี และการลงทุนขยายตลาดของ allnex ซึ่งหลังจากการดำเนินการซื้อขายหุ้นเสร็จแล้วในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 หลังจากได้รับอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทางบริษัทจะประกาศแผนการขยายงานต่อไปในอนาคต และบริษัทจะได้รายได้ส่วนนี้ในปี 2565
ทั้งนี้ PTTGC International (Netherlands) B.V. (GC Inter B.V.) บริษัทย่อยของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายกิจการ Allnex Holding GmbH (allnex) กับ Allnex Holdings S.à.r.l and Allnex S.à.r.l (ผู้ขาย) ซึ่งเป็นกองทุนภายใต้การบริหารของ Advent International (Advent) เมื่อวันที่ 10 ก.ค.64 โดยลงนามที่จังหวัดภูเก็ต
"การลงนามสัญญาเป็นก้าวสำคัญของ GC Group ในการปรับ Portfolio เพื่อเพิ่มความหลากหลายของเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ และสร้างความแข็งแกร่ง พัฒนาตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ allnex และขยายไปยังตลาดเกิดใหม่ผ่านการลงทุนในอนาคต อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเดินหน้าการหากิจการเพื่อควบรวมกิจการ หรือ M&A อย่างต่อเนื่อง และการลงนามที่ภูเก็ตก็เป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวไทยตามนโยบายภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" นายคงกระพัน กล่าว
ทั้งนี้ allnex เป็นผู้นำระดับโลกในธุรกิจผลิตภัณฑ์ Coating Resins ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสารเคลือบและสารเติมแต่งสำหรับใช้กับวัสดุทุกประเภท เช่น ไม้ เหล็ก พลาสติก เป็นต้น รวมถึงเป็นผู้นำในการนำเสนอโซลูชันการพัฒนาแอปพลิเคชันการเคลือบต่างๆ มีรายได้ประมาณ 2,000 ล้านยูโร/ปี หรือ 74,167.2 ล้านบาท (ที่อัตราแลกเปลี่ยน 37.08 บาทต่อ 1 ยูโร) โดยมี EBITDA Margin อยู่ที่ 17-19% มีเครือข่ายโรงงาน 33 แห่งใน 18 ประเทศ ศูนย์การวิจัยและเทคโนโลยีอีก 23 แห่ง มีพนักงานประมาณ 4,000 คนทั่วโลก การขายกิจการ allnex ให้แก่ GC Inter B.V. คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564
สำหรับความคืบหน้าการลงทุนโครงการพลาสติกชีวภาพ หรือไบโอชีวภาพชนิด PLA ในประเทศไทยของบริษัท เนเจอร์เวิร์ค จากสหรัฐอเมริกา ที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ GC จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนก่อตั้งโรงงาน PLA แห่งที่ 2 ในประเทศไทยหรือไม่ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1-2 เดือนนี้ คาดว่าจะมีการผลิต PLA ได้ปีละประมาณ 75,000 ตัน มูลค่าการลงทุนมากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศ ได้แก่น้ำตาลปีละประมาณ 110,000 ตัน โครงการจะตั้งอยู่ที่นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) จังหวัดนครสวรรค์
น.ส.ภัทรลดา สง่าแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี จีซี กล่าวว่า การจัดหาเงินทุนเพื่อลงทุนในครั้งนี้ราว 1.48 แสนล้านบาท ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน เนื่องจากมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ ได้แก่ 1.เงินสดในมือราว 1 แสนล้านบาท มีเงินจากการขายหุ้นกิจการไฟฟ้า 2.3 หมื่นล้านบาท มีวงเงินการค้าชำระวัตถุดิบที่สามารถขยายอายุการจ่ายเงินได้อีก 3.2 หมื่นล้านบาท และยังมีจากผลดำเนินการครึ่งหลังของปี มีเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำจาก บมจ.ปตท. อีก 73,920 ล้านบาท และธนาคารต่างๆ ยังเสนอให้กู้อีกราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ บริษัทคาดว่าต้องกู้ราว 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้จะกู้หรือออกหุ้นกู้ก็ต้องพิจารณาต่อไป
“จีซีคล่องตัวมาก การซื้อกิจการไม่กระทบเงินจ่ายปันผล โดย allnex มีอัตราเติบโตกว่าร้อยละ 10 มีรายได้ที่ดี มีอีบิทด้า 400 ล้านยูโร/ปี กำไรสุทธิ ร้อยละ 50 ของอีบิทด้า เราเข้าไปจะลดต้นทุนด้านการเงินและดีลนี้คาดจะสร้าง EBITDA margin ให้จีซีเพิ่มไม่น้อยกว่า 2% พูดได้ว่ามูลค่า Synergy จะส่งผลให้ผลประกอบการรวมและฐานะการเงินของบริษัทแข็งแกร่ง และสามารถดำเนินธุรกิจและเจริญเติบโตไปตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้” น.ส.ภัทรลดา กล่าวสรุป