xs
xsm
sm
md
lg

ปังหรือพัง!? ส่องปัจจัยเสี่ยงBTCครึ่งปีหลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แม้สร้างสถิติดีเลิศในช่วง 6 เดือนแรก แต่สำหรับช่วง 6 เดือนหลังบิตคอยน์ยังต้องฝ่าฟันอุปสรรคอีกมาก
บิตคอยน์ประเดิมปี 2021 สุดสวยด้วยการทะยานสร้างสถิติสูงสุดตลอดกาลที่เกือบ 65,000 ดอลลาร์ในเดือนเมษายน แต่กลับปิดบัญชีครึ่งปีแรกหล่นร่วงราว 47% พร้อมความเสี่ยงอีกมากมายที่อาจทำให้นักลงทุนเจ็บหนักขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

แม้ตอนนี้เหล่าแฟนคลับอาจดูเหมือนยังเหนียวแน่นกับเงินดิจิตอลที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก แต่สำหรับนักลงทุนอื่นๆ ต่างตั้งการ์ดพร้อมรับความผันผวนรุนแรงในตลาดคริปโตจากปัจจัยเสี่ยงใหญ่สุด 5 ข้อที่ BTC อาจต้องเผชิญไปจนถึงสิ้นปี

กฎระเบียบ
หนึ่งในความเสี่ยงใหญ่สุดสำหรับบิตคอยน์ในขณะนี้คือกฎระเบียบ

ช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ จีนจัดหนักกวาดล้างอุตสาหกรรมคริปโต ตั้งแต่ไล่ปิดเหมืองขุดเหรียญที่ใช้พลังงานมหาศาลไปจนถึงสั่งห้ามแบงก์ใหญ่และผู้ให้บริการชำระเงินอย่างอาลีเพย์ทำธุรกิจกับบริษัทคริปโต

นอกจากนั้นเมื่อวันอังคาร (6) แบงก์ชาติจีนยังสั่งปิด Beijing Qudao Cultural Development โดยกล่าวหาว่า เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านซอฟต์แวร์สำหรับการทำธุรกรรมคริปโต พร้อมเตือนองค์กรต่างๆ ห้ามจัดหาสถานที่ การโฆษณา หรือบริการอื่นๆ ให้กิจกรรมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเด็ดขาด

กระแสการปราบปรามคริปโตยังลามถึงเกาะอังกฤษ สัปดาห์ที่แล้วมีการแบนไบแนนซ์ ตลาดเทรดเงินดิจิตอลชื่อดัง ไม่ให้ดำเนินกิจกรรมที่มีการควบคุมในสหราชอาณาจักรก่อนได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน (เอฟซีเอ)

ไซมอน หยู ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) StormX สตาร์ทอัพให้บริการจ่ายเงินคืนด้วยคริปโต บอกกับซีเอ็นบีซีว่า การดำเนินการของจีนอาจถือเป็น “สิ่งที่ดี” สำหรับบิตคอยน์และคริปโตสกุลอื่นๆ เช่น อีเธอร์ เนื่องจากจะช่วยส่งเสริมระบบการกระจายศูนย์มากขึ้น ตรงข้ามกับในอเมริกาที่มีหลายหน่วยงานเกินไปและไม่มีการจำแนกชัดเจนว่า คริปโตควรอยู่ในหมวดหมู่หลักทรัพย์หรือสินค้าโภคภัณฑ์ จึงยังไม่มีแนวทางควบคุมอย่างเหมาะสม ซึ่งบ่อยครั้งทำให้ผู้เล่นตัดสินใจยากว่า ควรดำเนินการอย่างไร

สัปดาห์ที่ผ่านมา ยูบีเอสย้ำว่า เคยเตือนมานานแล้วว่า ความรู้สึกที่เปลี่ยนไปมาของนักลงทุนหรือการปราบปรามของรัฐบาลอาจทำให้เกิดฟองสบู่ในตลาดคริปโต
ความผันผวน

อีกหนึ่งความเสี่ยงสำคัญคือ การเหวี่ยงรุนแรงของราคาบิตคอยน์และอัลต์คอยน์

เดือนเมษายนบิตคอยน์ทำสถิติสูงสุดตลอดกาลที่ 64,829 ดอลลาร์ ในวันเดียวกับที่คอยน์เบส แพลตฟอร์มเทรดคริปโตรายใหญ่สุดในอเมริกา จดทะเบียนในตลาดแนสแด็ก แต่พอถึงเดือนมิถุนายนราคา BTC กลับหล่นวูบเหลือแค่ 28,911 ดอลลาร์ และทรงอยู่ต่ำกว่า 30,000 ดอลลาร์ในช่วงสั้นๆ ก่อนตะกายกลับมาอยู่เหนือ 34,000 ดอลลาร์

เหล่ากองเชียร์มองว่า บิตคอยน์เป็น “ทองคำดิจิตอล” หรือสินทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสัญญาณบ่งชี้วงกว้างและให้ผลตอบแทนสูงในช่วงที่เศรษฐกิจปั่นป่วน อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะผันผวนอาจส่งผลดีเมื่อราคาสินทรัพย์พุ่งขึ้น แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ

ยูบีเอสระบุว่า ซัปพลายคริปโตที่มีจำกัดมากทำให้ความผันผวนยิ่งรุนแรง ขณะเดียวกัน การใช้ในโลกจริงที่ยังจำกัดและราคาที่ผันผวนสูงบ่งชี้ว่า ผู้ซื้อจำนวนมากต้องการเก็งกำไร

กระนั้น แม้ภาวะผันผวนอาจผลักไสนักลงทุนบางส่วนออกจากตลาด แต่รอสส์ มิดเดิลตัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ DeversiFi แพลตฟอร์มบริการทางการเงินระบบดิจิตอลแบบไม่ผ่านตัวกลาง มองว่า ความผันผวนไม่ใช่อุปสรรค แต่จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนประเภทสถาบัน เพราะหมายถึงโอกาสในการทำกำไรก้อนโตด้วยเงินทุนเพียงเศษเสี้ยวเมื่อเทียบกับมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดในพอร์ต

มิดเดิลตันอธิบายว่า ตราบที่บิตคอยน์ยังเคลื่อนไหวแถวๆ 30,000-40,000 ดอลลาร์ นักลงทุนจะมองว่า เป็นการสร้างฐานทำให้มีเงินทุนใหม่ๆ ไหลเข้าทั้งบิตคอยน์และตลาดคริปโตโดยรวม

ข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อม
คำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอาจเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคใหญ่สำหรับบิตคอยน์ สืบเนื่องจากการที่อุปกรณ์ขุดบิตคอยน์ใช้กระแสไฟฟ้าเปลือง และการใช้พลังงานของบิตคอยน์ช่วงหลายปีมานี้เพิ่มขึ้นอย่างมากตามมูลค่าเหรียญดิจิตอลสกุลนี้

แม้มีเสียงเตือนเรื่องรอยเท้าคาร์บอนหรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการขุดบิตคอยน์มานาน แต่เรื่องนี้เพิ่งเป็นประเด็นร้อนเพราะอีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสลา หลังจากค่ายรถไฟฟ้าแห่งนี้เซอร์ไพรส์สาวก BTC ด้วยการประกาศซื้อบิตคอยน์มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ และยอมรับการชำระเงินด้วยบิตคอยน์ แต่หลังจากนั้นไม่นาน มัสก์กลับทำให้ตลาดคริปโตหัวหมุนด้วยการระงับการรับชำระค่าอีวีด้วยบิตคอยน์โดยให้เหตุผลว่า การขุดบิตคอยน์ใช้พลังงานอย่างบ้าคลั่งและพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิล

นักวิเคราะห์ของซิตี้ชี้ว่า จุดยืนของมัสก์อาจทำให้ผู้จัดการสินทรัพย์บางคนที่ถูกกดดันให้จำกัดการลงทุนเฉพาะสินทรัพย์ที่มีจิตสำนึกด้านจริยธรรมเลิกถือบิตคอยน์ และกระตุ้นให้ภาครัฐแทรกแซงการทำเหมืองคริปโตเหมือนที่จีนลงมือไปแล้ว

การตรวจสอบสเตเบิลคอยน์
สเตเบิลคอยน์หรือเงินดิจิตอลที่ผูกกับเงินเฟียต เช่น ดอลลาร์ กำลังเผชิญการตรวจสอบจากทางการ เช่น สัปดาห์ที่แล้ว อิริก โรเซนเกรน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาบอสตัน ระบุว่า เทเทอร์ซึ่งเป็นสเตเบิลคอยน์และถือเป็นหนึ่งในสกุลเงินดิจิตอลที่มีมูลค่าสูงสุดของโลก เป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

เทเทอร์มีค่า 1 เหรียญ: 1 ดอลลาร์ โดยการสำรองเงินดอลลาร์เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา นักลงทุนคริปโตมักใช้เทเทอร์ซื้อคริปโตแทนการใช้ดอลลาร์ แต่นักลงทุนบางคนห่วงว่า ผู้ออกเทเทอร์อาจไม่ได้สำรองดอลลาร์ไว้มากพอเพื่อรองรับการผูกค่าเงินไว้กับสกุลเงินสหรัฐฯ

เดือนพฤษภาคม บริษัทที่อยู่เบื้องหลังเทเทอร์ได้ออกมาเปิดเผยรายละเอียดเงินสำรองสำหรับสเตเบิลคอยน์สกุลนี้ว่า 76% สำรองด้วยเงินสดและสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเทียบเท่าเงินสด แต่มีแค่ 4% ที่เป็นเงินสดจริง ขณะที่ประมาณ 65% เป็นตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น

เทเทอร์มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับกองทุนรวมตลาดเงินดั้งเดิม ต่างกันตรงที่เทเทอร์ไม่มีกฎระเบียบควบคุม มีโทเคนหมุนเวียนมูลค่าเกือบ 60,000 ล้านดอลลาร์ และมีเงินฝากมากกว่าแบงก์หลายแห่งในอเมริกา

นอกจากนั้นยังมีความกังวลกันว่า เทเทอร์อาจถูกใช้เพื่อปั่นราคาบิตคอยน์ โดยรายงานฉบับหนึ่งอ้างว่า มีการใช้เทเทอร์ปั่นราคาขึ้นช่วงที่ราคาบิตคอยน์ร่วงในปี 2017

เหรียญมีมและการหลอกลวง
การเก็งกำไรที่พบมากขึ้นในตลาดคริปโตอาจเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงสำหรับ BTC

โดชคอยน์ คริปโตที่สร้างขึ้นมาขำๆ แต่กลับพุ่งแรงเมื่อต้นปีจนทำสถิติสูงสุด เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยแห่ช้อนซื้อเพื่อเก็งกำไร

ณ จุดหนึ่ง โดชคอยน์มีมูลค่ามากกว่าฟอร์ด มอเตอร์ และบริษัทยักษ์ใหญ่บางแห่งของอเมริกา หลังได้แรงเชียร์จากเซเลบมากมายที่รวมถึงมัสก์ แต่หลังจากนั้นราคาก็ดิ่งลง

หยูจาก StormX บอกว่า อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือการหลอกลวงที่เกิดขึ้นตลอดปีนี้ เห็นได้จากเหรียญมีมบางเหรียญที่ราคาเหวี่ยงขึ้นลงรุนแรง และนักลงทุนรายย่อยเจ๊งระนาว

เขาทิ้งท้ายว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่นักลงทุนรายย่อยขาดทุนหนัก รัฐจะเข้าแทรกแซง แต่ถ้าถึงจุดที่มีการควบคุมมากเกินไปเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2018 อุตสาหกรรมคริปโตโดยรวมจะได้รับผลกระทบไม่พึงประสงค์


กำลังโหลดความคิดเห็น