xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการปรับหนี้ลดดอกเบี้ย ฉุดหุ้นกลุ่มแบงก์-นอนแบงก์ร่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตัวเลขหนี้ครัวเรือนพุ่ง ธปท.ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ SME และเกณฑ์การจ่ายเงินปันผล & ห้ามซื้อหุ้นคืน พร้อมให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ ขยายเวลาชำระคืนหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ SME ด้วยการขยายมาตรการชะลอการชำระหนี้กลุ่มลูกค้า SME ที่จะครบกำหนด 30 มิ.ย.64 ไปถึงสิ้นปี 64 กูรูมองกระทบรายได้ดอกเบี้ยแบงก์และนอนแบงก์ลดลงทันที จากการปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล มีมุมมองเป็น “ลบ” กับหุ้น 2 กลุ่มนี้ 

จากตัวเลขที่รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดจะขยายตัว 3.0% ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา และการส่งออกของเอเชียที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 4.7% และฟื้นตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในปีหน้า

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้เสนอรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้ โดยประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัว 3.0% ซึ่งต่ำจากการประเมินครั้งก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2564 มีแนวโน้มเกินดุลลดลงจากการนำเข้าที่ขยายตัวสูง โดยจะเกินดุล 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะมูลค่าการส่งออกของไทยปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นที่ 10.0% และปี 2565 ขยายตัวอยู่ที่ 6.3% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 และ 2565 ประมาณการอยู่ที่ 1.2% และ 1.0% ตามลำดับ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ระบบการเงินไทยยังมีเสถียรภาพแต่เปราะบางมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอ่อนแอ จึงต้องติดตามฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่ไม่เข้มงวดเท่าปีก่อนหน้า ประกอบกับแรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐที่ออกมาเพิ่มเติมและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัว 4.7% จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นภายหลังการกระจายวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึงด้วย

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานออกมาว่า สถานภาพหนี้ของแรงงานไทยปี 2564 มีหนี้สินของครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากปี 2562 มาอยู่ที่ 98.1% โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายประจำวัน เพื่อการศึกษาและใช้หนี้บัตรเครดิต มีปัญหาการผิดนัดผ่อนชำระหนี้สูงถึง 85.1% เนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงินจากผลกระทบโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจ ส่งผลให้ภาระหนี้ครัวเรือนของแรงงานไทยในปีนี้ขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เฉลี่ยอยู่ที่ครัวเรือนละ 205,809 บาท หรือเพิ่มขึ้น 29.56% 

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดไตรมาสแรกปี 2564 สะท้อนสถานการณ์หนี้สินของประชาชนที่ยังคงมีอัตราการเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวม โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาสแรกปีนี้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 90.5% ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปีตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสูงขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 89.4% ต่อจีดีพี ในไตรมาส 4 ปี 2563 โดยหนี้ครัวเรือนที่ขยับขึ้นในไตรมาสแรกปีนี้มาจากหนี้ใน 3 กลุ่ม คือ หนี้บ้าน หนี้ประกอบอาชีพ และหนี้เพื่อใช้จ่ายชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ มองว่าวิกฤตโควิด-19 ที่ลากยาวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปีจะเพิ่มความเสี่ยงต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมๆ ตอกย้ำวังวนปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ หรือมีรายได้ลดลงจนมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนหนี้ จากผลสำรวจภาวะหนี้สินของประชาชนโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า สถานการณ์รายได้และหนี้สินของประชาชนรายย่อยถดถอยลงมากจากผลของโควิด-19 ระลอกที่สาม และลูกหนี้ห่วงปัญหาหนี้สินของตัวเองมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามในเดือน มิ.ย. ส่วนใหญ่ราว 79.5% ประเมินว่า ปัญหาหนี้ของตัวเองยังไม่น่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับทบทวนตัวเลขประมาณการหนี้ครัวเรือนไทยขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 90-92% ต่อจีดีพี (กรอบเดิมคาดที่ 89-91% ต่อจีดีพี) แม้ปัญหาหนี้ครัวเรือนโตสวนทิศทางเศรษฐกิจเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศไทย แต่อย่างไรก็ดี แม้ไม่มีปัญหาโควิด-19 หนี้ครัวเรือนก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างลำดับต้นๆ ของไทยที่รอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแนวทางแก้ไข ซึ่งปีนี้น่าจะเห็นการเดินหน้ามาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยหล่อเลี้ยงสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประคองไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็น NPLs และ/หรือทบทวนเพดานดอกเบี้ยผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย (เพื่อช่วยลดภาระให้ลูกหนี้ในช่วงที่โควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด) ตลอดจนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ รวมไปถึงการวางแนวทางในระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและหนี้สินของภาคครัวเรือนอย่างจริงจังเมื่อวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุดลง

แบงก์ชาติเล็งลดการนำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ

จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงคืน เมื่อ 10 มิ.ย.64 ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ SME และเกณฑ์การจ่ายเงินปันผล & ห้ามซื้อหุ้นคืน โดยให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ ขยายเวลาชำระคืนหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ SME และมีเกณฑ์เรื่องการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล & ห้ามซื้อหุ้นคืน โดยขยายมาตรการชะลอการชำระหนี้กลุ่มลูกค้า SME ที่จะครบกำหนด 30 มิ.ย.64 ไปถึงสิ้นปี 64 โดยใช้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเป็น SME ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท

พร้อมกำหนดกลไกจูงใจให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ โดยพิจารณาจากความสามารถการชำระหนี้ และระยะเวลาจ่ายคืนหนี้ที่สอดคล้องกับประมาณการรายได้ที่ลูกหนี้จะได้รับในอนาคตให้สถาบันการเงินมีอัตราการจ่ายปันผล (Dividend Payout ratio) ระหว่างกาลไม่เกินอัตราที่จ่ายในปี 63 และไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิครึ่งแรกปี 64 และงดการซื้อหุ้นคืน ห้ามไถ่ถอนหรือซื้อคืนตราสารการเงินกองทุนก่อนครบกำหนด เว้นแต่เป็นการออกทดแทน

นอกจากนี้ ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณาความจำเป็นในการขยายระยะเวลาลดอัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ จาก 0.46% ต่อปีเป็น 0.23% ต่อปี ที่จะสิ้นสุดในสิ้นปี 64

โบรกฯ มองกลุ่มแบงก์รับผลกระทบ

บล.เคทีบีเอสที มีมุมมองเป็นลบต่อประเด็นดังกล่าว ซึ่งมีมุมมองเป็น “ลบ” ต่อกลุ่มธนาคาร เพราะจะทำให้รายได้ดอกเบี้ยปรับลดลงทันที โดยมองว่าธนาคารจะได้รับผลกระทบจากสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเป็นหลัก เพราะสินเชื่อจำนำทะเบียนรถส่วนใหญ่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าขั้นต่ำที่ 24% อยู่แล้ว

ทั้งนี้ คาดหุ้นในกลุ่มธนาคารที่จะได้รับผลกระทบเรียงจากมากไปน้อยตามสัดส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB สัดส่วน 24% ตามด้วยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB สัดส่วน 6% และ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB สัดส่วน 4%

อย่างไรก็ตาม คาดว่า KTB จะได้รับ sentiment เชิงลบมากที่สุดในกลุ่ม แนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 13.00 บาท ขณะที่ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนเป็น “มากกว่าตลาด” เลือก KBANK แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 177.00 บาท เป็น Top pick

นอกจากนี้ มองเป็น Sentiment เชิงลบจาก การเข้ามาควบคุมกำกับดูแลสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของ สคบ. ซึ่งประเมินผลกระทบจำกัด เพราะในช่วงปีที่ผ่านมา สคบ.ได้มีการเข้ามาควบคุมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น market conduct และ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียน กระทบต่อบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD และบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR

ทั้งนี้ ทางฝ่ายวิจัยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลงจะอยู่ที่ 2-4% โดยอิงจากการทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลง 2 รอบ รอบละ 2% และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมีโอกาสปรับตัวลงมาใกล้เคียงกับที่ GSB ปล่อยที่ 18-20% โดยคาดจะลดลงอยู่ที่ 20% (ปรับลดลง 4%) เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่า GSB และ (3) สินเชื่อส่วนบุคคลมีโอกาสปรับตัวลง 2-4%

ดังนั้น ผลดังกล่าวประเมินว่า บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากมากไปน้อย ดังนี้ MTC มีสินเชื่อจำนำทะเบียนที่คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยสูงสุด 4% อยู่ที่ 98% ต่อมา TIDLOR มีสินเชื่อจำนำทะเบียน 84% ขณะที่ SAWAD มีสินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อส่วนบุคคล และนาโนไฟแนนซ์ที่ 58%

ส่วน AEONTS มีสินเชื่อส่วนบุคคลที่คาดว่าปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2-4% อยู่ที่ 52% และสินเชื่อบัตรเครดิตที่ 41% และ KTC มีสินเชื่อบัตรเครดิตที่คาดปรับลดอัตราดอกเบี้ยน้อยสุดที่ 66% สินเชื่อส่วนบุคคล 34%

สำหรับกลุ่ม Finance คงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” และ Top pick เป็น SAWAD แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 85.00 บาท และ TIDLOR แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 48.00 บาท

ท้ายสุด เบื้องต้นด้วยจิตวิทยา หากภาครัฐที่จะแก้ปัญหาหนี้ของประชาชน เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินและกลุ่มไฟแนนซ์ เพราะจะทำให้รายได้ดอกเบี้ยปรับลดลงทันที

ฝ่ายวิจัย บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า การขยายมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ SME ไปอีก 6 เดือน สิ้นสุดในสิ้นปี 64 จะช่วยประคับประคองธุรกิจลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดระลอกที่ 3 และถึงแม้ว่าจะทำให้รายได้และ NIM ของสถาบันการเงินอ่อนลง แต่ก็ช่วยให้ NPL สถาบันการเงินไม่พุ่งขึ้นแรง และลดภาระในการตั้งสำรอง ECL ลง ทั้งนี้ หลายธุรกิจและหลายบริษัทยังมีแนวโน้มระยะยาวดี เพียงแต่ในระยะสั้นถูกกระทบจากโควิด-19 ระบาด โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว

สำหรับการไม่ให้อัตราการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสูงกว่าอัตราที่จ่ายในปี 63 และไม่ให้เกิน 50% ของกำไรสุทธิในครึ่งแรกปี 64 นั้นคาดว่าจะกระทบกลุ่มแบงก์ไม่มาก เพราะแบงก์มีแนวโน้มจะจ่ายปันผลไม่สูงอยู่แล้ว สำหรับธนาคารที่จ่ายปันผลระหว่างกาล ประกอบด้วย BBL, KBANK, KKP, SCB ซึ่งในปี 63 มีอัตราการจ่ายปันผล 28%, 20%, 37%, 29% ของกำไรสุทธิ ส่วน KTB, TISCO และ TTB จ่ายปันผลปีละ 1 ครั้ง โดยมีอัตราการจ่ายเงินปันผล 23%, 83% และ 45% จะเห็นได้ว่ามีเพียง TISCO ที่จ่ายเงินปันผลมากกว่า 50% ของกำไรสุทธิในปี 63 สำหรับปี 64F ประมาณการเงินปันผลไว้ที่ 6.30 บาท (เท่ากับปี 63) คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผล 79% ของกำไรสุทธิที่ประมาณการไว้ ซึ่งต่ำกว่าปีก่อน แต่สูงกว่า 50% ดังนั้นประมาณการเงินปันผลของ TISCO อาจมี Downside risk ถ้าหากให้ TISCO จ่ายปันผล 50% ของกำไรสุทธิปี 64F พบว่าเงินปันผลจะอยู่ที่ประมาณ 4 บาท/หุ้น ณ ราคาหุ้นปัจจุบัน 89.25 บาท จะคิดเป็น Dividend yield 4.5% ซึ่งก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่ 3.5%

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ฯกลุ่มแบงก์มีมุมอง Negative sentiment ต่อข่าวที่นากยกรัฐมนตรีขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ธนาคารที่จะได้รับ Sentiment เชิงลบมากสุดเรียงลำดับ ตามสัดส่วนสินเชื่อบุคคลมากสุด คือ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB)

ส่วนธนาคารที่มีสินเชื่อจำนำทะเบียนมากสุดคือ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ตามด้วย TTB ทั้งนี้ หาก ธปท. ลดเพดานดอกเบี้ยจริง เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว ธปท. จะต้องช่วยลดต้นทุนทางการเงินของกลุ่มธนาคาร โดยอาจยืดอายุมาตรการลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ 0.23% ออกไปอีก 1 ปี

พร้อมยังคงน้ำหนักการลงทุน Bullish สำหรับกลุ่มธนาคาร เลือก ธนาคารกรุงเทพ (BBL) แนะ "ซื้อ" ให้ราคาเป้าหมาย 155 บาท และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) แนะ "ซื้อ" ให้ราคาเป้าหมาย 175 บาท เป็น Top pick

บล.ทิสโก้ ออกบทวิเคราะห์ ว่า SCB มีแนวโน้มกำไรที่ดูดีกว่ากลุ่ม เนื่องจากมีการลด OPEX อย่างเห็นได้ชัดทั้งจากการลดจำนวนสาขาและพนักงาน ซึ่งจะหนุนกำไรสุทธิได้ดี แม้ NII จะยังแย่ แต่คาด non-NII จะดีขึ้นในปีหน้า โดยเฉพาะประกันภัย และ wealth ส่วนพอร์ตสินเชื่อยังกระจุกอยู่ในสินเชื่อรายย่อย (46% ของสินเชื่อทั้งหมด) ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดต่ำ แม้จะมีลูกหนี้อยู่ในโครงการบรรเทาหนี้ค่อนข้างเยอะ (19% ของสินเชื่อทั้งหมด) นักวิเคราะห์ของโบรกเกอร์นี้แนะนำ "ซื้อ" และปรับประเมินเพื่อสะท้อน OPEX ที่ต่ำกว่าคาด และผลกระทบจากการระบาดระลอก 3 โดยลด OPEX 7% หลังงบ 1Q21A ออก ความเสี่ยงค่อนข้างโน้มเอียงไปทางด้านบวก ราคาเป้าหมายให้ไว้ที่ระดับ 136 บาท โดยราคาปัจจุบันวนเวียนอยู่ที่ระดับ 105 บาท มีค่า P/E ที่ 12.60 YIELD 2.21

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB โดย บล.ทิสโก้  ระบุแนวโน้มกำลังฟื้นตัว การเติบโตจะมาในปี 65 กำไรจะยังอ่อนแอต่อในปีนี้ เนื่องจาก ECL และ OPEX เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากค่าใช้จ่ายในการควบรวม อย่างไรก็ดี คาดการเติบโตจะมาในปี 65 เนื่องจาก OPEX น่าจะลดลงมาก เพราะการ synergy เริ่มเห็นผล ความกระตือรือร้นในการบาลานซ์งบการเงินให้ดี ขยายพอร์ตไปยังสินเชื่อ yield ดี มีหลักประกัน การจัดหาเงินทุนที่ถูกลงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพจากการประเมินมูลค่าที่ต่ำ คาดตลาดยังไม่ได้รวมสตอรี่ในปีหน้าเข้ามาในราคา ปรับประเมินลด OPEX เพื่อสะท้อนค่าใช้จ่ายพิเศษที่ลดลง ด้านรายได้ลด NIM ทำให้ NII ลดลง แต่เพิ่ม nonNII เพื่อสะท้อนผลงานไตรมาสแรกที่ดี จึงเพิ่มต้นทุนทางเครดิตเพื่อสะท้อนสถานการณ์การระบาด กำไรสุทธิ FY21F ลดลง -9.9% ส่วน FY22F เพิ่มขึ้น 1.7% จากการประเมินมูลค่าไปยังปี 2022 F จึงแนะนำเป็น "ซื้อ" มูลค่าเหมาะสม 1.51 บาท ค่า P/E 12.81 YIELD 3.88 บนราคาหุ้นปัจจุบัน 1.17 บาท

บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP โบรกเกอร์ของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ทำบทวิเคราะห์ภายหลังการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ ล่าสุด TCAP ถือเป็น Financial Holding Company ที่มีหลายธุรกิจ ดังนั้น กำไรที่ได้จะมาจากธุรกิจของบริษัทที่ไปลงทุน ทั้งนี้ บริษัทลูกที่เข้าไปลงทุนมากกว่า 50% โดยรวมยังถือว่าทำได้ตามแผน แต่เป็นผลจากบริษัทร่วม ที่ถือน้อยกว่า 50% อย่าง TTB (TMB) และ MBK ที่ได้รับผล กระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้กำไรลดลง ทั้งนี้โดยรวม TCAP รายงานกำไร 1,078 ล้านบาท ลดลง 75% YoY เพราะปีก่อนมี one time gain ก้อนใหญ่เข้ามา ในปัจจุบัน ผู้บริหาร TCAP ประเมินข้อมูลแล้ว เชื่อว่าบริษัทลูกต่างๆ จะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นเป็นลำดับ คาดว่าจะทำให้ TCAP ยังสามารถจ่ายปันผลทั้งปีที่ 3 บาท เท่ากับการจ่ายปันผลปีก่อนได้ หรือคิดเป็นอัตราเงินปันผลตอบแทนสูงถึง 9% และเป็นหุ้นที่มีราคาต่ำบุ๊กมาก จึงมีคำแนะนำ "ซื้อเก็งกำไร" ราคาเป้าหมาย 37 บาท ซึ่งราคาหุ้นล่าสุดอยู่ที่ 35.25 บาท

ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB เคยทำจุดสูงสุดในรอบปีที่ราคา 12.90 บาท เป็นหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำเพียงแค่ 9.88 และมี YIELD 2.46 นับว่าเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดีมากตัวหนึ่งในกลุ่มธนาคาร โดยราคาล่าสุดเทรดกันอยู่ที่ 11.30 บาท

ทางด้าน บล.หยวนต้า ระบุในบทวิเคราะห์ว่า KTB ได้โชว์ผลประกอบการไตรมาส 1/64 มีกำไรสุทธิ 5,578 ล้านบาท ฟื้นตัวดีขึ้นเทียบระหว่างไตรมาสต่อไตรมาส ด้วยแรงหนุนจากการตั้งสำรองที่ผ่อนคลายลง รวมถึงรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จากกำไรของเงินลงทุนและการตีมูลค่าเรื่องมือทางการเงิน และ Cost to Income Ratio ที่ต่ำลงในไตรมาส 4/63 แม้ช่วงสั้น KTB จะมีแรงกดดันจากกิจกรรมผ่านสาขาที่ชะลอตัวลงไปใน ไตรมาส 2 /64 แต่ภาพรวมเริ่มมีการพัฒนาการที่ดีขึ้น ขณะช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้นค่อนข้าง Laggard เทียบกับแบงก์ใหญ่รายอื่น โดยซื้อขายที่ระดับ PBV ต่ำที่สุดในกลุ่ม นักวิเคราะห์จากหยวนต้า มอง KTB น่าซื้อ โดยให้ราคาเป้าหมายเบื้องต้น 13.40 บาท คาดว่าจะให้ Div.Yield ถึง 4.6%






กำลังโหลดความคิดเห็น