เคทีซีเผยครึ่งปีแรกยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโต 4% ยอดบัตรใหม่ 9.5 หมื่นใบ คาดทั้งปีอาจไม่เป็นไปตามเป้าจากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 พร้อมปรับกลยุทธ์การตลาดครึ่งปีหลัง ปี 2564 เน้นหลักการ Partnership Marketing ดึงเทคนิคสร้างความสัมพันธ์อย่างยั่งยืนกับพันธมิตรในหลากมิติ เพิ่มความคุ้มค่าให้สมาชิกกับสิทธิพิเศษในหมวดที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ด้านเอ็นพีแอลครึ่งปีแรกอยู่ที่ 1.5% ยังไม่มีสัญญาณน่าห่วง
นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (เคทีซี) เปิดเผยถึงผลงานครึ่งปีแรกว่า ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2564 ยอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีอยู่ที่ 94,000 ล้านบาท เติบโต 4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากเป้าหมายทั้งปีที่ 8% โดยหมวดที่มีการใช้จ่ายสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ประกันภัย น้ำมัน วาไรตี้ สโตร์ (เช่น Shopee / Lazada) ซูเปอร์มาร์เกต โรงพยาบาล และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจัดเป็นหมวดที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน
ส่วนจำนวนสมาชิกบัตรปัจจุบันมีฐานสมาชิกบัตรเครดิต 2.5 ล้านใบ สมาชิกบัตรใหม่ตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 95,000 ใบ จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปี 230,000 ใบ โดยช่องทางขยายฐานสมาชิกที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ สาขาธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ และหน่วยงาน Outsource Sales ทั้งนี้ อัตราการอนุมัติบัตรเครดิตใหม่อยู่ที่ 36% จากเดิมที่ประมาณ 40% กว่าๆ กลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มที่มีรายได้ 30,000 บาทขึ้นไป สัดส่วนสมาชิกอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร 55% และจังหวัดอื่นๆ 45%
"จากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกนี้ ส่งผลกระทบให้ยอดการใช้จ่าย ยอดบัตรใหม่ของเราจากเดิมที่คาดการณ์ว่าไตรมาส 3 จะดีขึ้น แต่ตอนนี้คงไม่ใช่ ต้องรอไตรมาส 4 ที่เป็นช่วงไฮซีซันอีกครั้ง ทำให้การคาดการณ์เป้าหมายต่างเป็นเรื่องยาก เพราะอยู่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่ยอดใช้จ่ายนั้นขณะนี้มองว่าการเติบโตทั้งปี ณ ระดับ 5% หรือคิดเป็นวงเงิน 200,000 ล้านบาทก็มีความเป็นไปได้ ส่วนยอดบัตรใหม่แม้ว่ายอดอนุมัติบัตรใหม่จะลดลง แต่ยังคงเป้าหมายเดิมไว้ก่อน ซึ่งอัตราการอนุมัติบัตรใหม่ที่ลดลงนั้น หลักๆ มาจากการพิจารณาถึงคุณสมบัติที่ยังไม่ได้ตามเกณฑ์ เช่น ด้านความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งตรงนี้ยอมรับว่าเราเข้มงวดขึ้นตามสถานการณ์ความเสี่ยงที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน เราจะหันมาดูแลลูกค้าเดิมให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น โดยการเพิ่มความสะดวกในช่องทางการใช้จ่ายที่ตอบรับกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น วงเงินการใช้จ่ายก้อนเล็กลง รวมถึงเน้นด้านความปลอดภัยในกรณีที่ลูกค้านิยมใช้จ่ายซื้อของออนไลน์มากขึ้น เป็นต้น"
ส่วนยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้น 6 เดือนแรกอยู่ที่ 1.5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสแรกอยู่ที่ 1.4% ขณะที่อุตสาหกรรมอยู่ที่ 2.3% ซึ่งมองว่ายังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้และยังไม่มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วง ขณะที่โครงการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น กลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมามีจำนวน 140,000 ราย คิดเป็นวงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์การตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง เคทีซียังคงมีเป้าหมายให้สมาชิกเลือกใช้บัตรเครดิตเคทีซีเป็นอันดับแรก และเป็นบัตรที่ใช้เป็นประจำในทุกวัน (Default Card) โดยศึกษาพฤติกรรมการใช้จ่ายของสมาชิกที่มีการปรับเปลี่ยนจากผลกระทบของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และวิกฤตโควิด-19 เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ความคุ้มค่าที่ตรงใจสมาชิกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหมวดประกันภัย ที่มียอดใช้จ่ายสูงเป็นอันดับหนึ่ง และหมวดชอปปิ้งออนไลน์ที่ยอดใช้จ่ายเติบโตอย่างมาก พร้อมสร้างประสบการณ์ที่ดีให้สมาชิก ด้วยการพัฒนาศักยภาพของแอป KTC Mobile ให้มีบริการที่สะดวก เน้นการใช้งานง่าย และรวดเร็วขึ้น เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของสมาชิกที่คุ้นชินกับการทำรายการแบบออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันสมาชิกโหลดใช้งานแอป KTC Mobile แล้วทั้งสิ้น 1.8 ล้านราย
นอกจากนี้ เคทีซียังให้ความสำคัญกับพันธมิตรทางธุรกิจตามแนวทางการตลาดแบบ Partnership Marketing ด้วยเทคนิคการสร้างความสัมพันธ์อย่างยั่งยืน โดยให้บริการด้านการชำระเงินที่หลากหลาย และการผนึกกำลังใช้จุดแข็งคะแนน KTC FOREVER เพิ่มความคุ้มค่าให้สมาชิกและสนับสนุนพันธมิตรทางธุรกิจ การใช้พื้นที่สื่อของเคทีซีในการช่วยประชาสัมพันธ์กิจการของพันธมิตร รวมถึงเคทีซียังมี KTC U SHOP ซึ่งเป็นบริการขายสินค้าออนไลน์ที่ใช้เป็นช่องทางในการสนับสนุนพันธมิตรและผู้ประกอบการที่สนใจนำเสนอสินค้าให้แก่สมาชิกบัตร โดยสมาชิกสามารถชำระด้วยคะแนน KTC FOREVER หรือบัตรเครดิตเคทีซีได้อีกด้วย
"ในปี 2564 ด้วยภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว เคทีซีจึงมุ่งเน้นการพัฒนาระบบ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีของสมาชิก ประสานงานกับพันธมิตรธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อเศรษฐกิจกลับมาแข็งแรงขึ้น โดยคาดว่าสิ้นปียอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซียังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง" นางพิทยา กล่าวปิดท้าย