xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยแชมป์ชอปออนไลน์ของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย เผยโควิด-19 ดันคนไทยขึ้นแท่นนักชอปออนไลน์ที่ 1 ของโลก เส้นทางผู้ซื้อออนไลน์ในปัจจุบันสั้นกระชับยิ่งขึ้น มีแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์เป็นผู้ครองเรตติ้งสูงสุดตลอดเส้นทาง โซเชียลและเกมมิ่งคอมเมิร์ซเริ่มมีบทบาทเด่น และทางรอดทางรุ่งของแพลตฟอร์ม D2C

นางมัวรีน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ “Future Shopper 2021 พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคในอนาคต” ว่า ผู้บริโภคชาวไทยกำลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำเทรนด์การชอปปิ้งออนไลน์ทั่วโลก และยังพบว่าการย้ายฐานความคิดของผู้ซื้อจะสร้างทัศนคติและพฤติกรรมออนไลน์คอมเมิร์ซที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องหลังช่วงการระบาดของโควิด-19
 
การศึกษาครั้งนี้จะช่วยให้ธุรกิจมองอนาคตได้ชัด คม และกว้างไกลยิ่งขึ้น เห็นถึงโอกาสมากมายและความท้าทายที่ต้องเผชิญ ให้แบรนด์เดินหน้าวางแผนธุรกิจและการลงทุนได้อย่างรอบรู้เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว
 
นายปราชญ์ฐศร ชุติคุณธนากิจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้พบว่า 1. พฤติกรรมการชอปปิ้งได้ก่อตัวขี้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภค 94% ชี้ชอปปิ้งออนไลน์เป็นช่องทางที่มาช่วยพวกเขาไว้ในปี 2563 ทำให้พฤติกรรมชอปปิ้งออนไลน์ของตนเองได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วตลอดกาล เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นเร็วยิ่งขึ้น ยังใช้เงินผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นกว่าในอดีต และมีถึง 45% ที่ยินดีจ่ายเงินตั้งแต่ 1,000-8,000 บาทในการชอปปิ้งออนไลน์
 
โดยพบว่า 4 เรื่องที่ร้านค้าและผู้ค้าปลีกสามารถดำเนินการได้ คือ 1. จัดพื้นที่และวางแผนการขายในส่วน Curbside Shopping ให้ดี, 2. อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเลือกซื้อและกลับออกนอกร้านได้อย่างรวดเร็ว, 3. ทบทวนการจัดพื้นที่ร้านใหม่ และ 4. ประสบการณ์ Omnichannel
 


นอกจากนี้ เส้นทางลูกค้า ประสบการณ์ และความคาดหวังของผู้บริโภคชาวไทยกำลังก่อตัวขึ้นในรูปแบบใหม่ท่ามกลางการเติบโตของการชอปปิ้งออนไลน์ ประกอบด้วย 1. เส้นทางผู้ซื้อสั้นกระชับยิ่งขึ้น-ยิ่งเร็วยิ่งดี ซึ่ง 97% ต้องการขยับจากช่วงแรงบันดาลใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไปสู่ช่วงของการซื้อให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและธุรกิจตรงสู่ผู้บริโภค (Direct-to-Consumer - D2C) ในการดึงผู้ซื้อกลับสู่แพลตฟอร์มของตนเองและทำให้เกิดการซื้อขึ้น
2. ตลาดออนไลน์นำโด่งในโลกชอปปิ้งออนไลน์ ได้แก่ 1. e-marketplace เป็นอันดับหนึ่งในทั้ง 3 ช่วงหลักของเส้นทางลูกค้า คือ แรงบันดาลใจ, ค้นหา และซื้อ รองลงมาคือช่องทางโซเชียล (61%) และเสิร์ชเอนจิน (38%) และ 3. ช่องทาง D2C กำลังจะตกขบวน แบรนด์ต่างๆ ได้มุ่งเน้นไปที่การสร้างความโดดเด่นให้กับแบรนด์ของตนในช่องทางตลาดออนไลน์ แต่พวกเขาควรคำนึงถึง

โดย 4 เรื่องที่แบรนด์ D2C สามารถดำเนินการได้ ได้แก่ 1. ทำให้การชอปปิ้งที่ D2C เป็นช่องทางที่ดีกว่า ทุกวันนี้การเสนอราคาที่ถูกกว่าและจัดส่งฟรีอาจเป็นสิ่งพื้นฐานในโลกของการชอปปิ้งออนไลน์ไปแล้ว แต่แบรนด์ยังคงสามารถให้สิ่งทดแทนจาก “มูลค่า” อื่นๆ ที่หาไม่ได้ในตลาดออนไลน์ เช่น นโยบายคืนสินค้าได้ฟรี สินค้าเอ็กซ์คลูซีฟ และสิทธิพิเศษต่างๆ สำหรับลูกค้า, 2. สร้างกองหนุน แพลตฟอร์มของแบรนด์ต้องยินดีที่จะสร้างความโปร่งใส 100% ในการนำเสนอรีวิวและคำติชมของลูกค้า หรือแม้กระทั่งมีสิ่งจูงใจให้แก่ผู้เขียนรีวิวหรือคำชมบนเว็บไซต์ของพวกเขา,

3. คอนเทนต์ที่มีพลังสร้างสรรค์และตอบโจทย์ผู้บริโภค คอนเทนต์ที่ใช่จะต้องมีพลังสร้างสรรค์และตอบข้อสงสัย คลายกังวล และตอบสนองความต้องการส่วนตัว แบรนด์จะต้องรู้จักผู้เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ และสร้างคอนเทนต์ที่ตรงกับสิ่งที่พวกเขาต้องการ และ 4. ต้องสร้างความภักดี ใช้พลังของข้อมูลผู้บริโภคให้เกิดประโยชน์ด้วยการมอบโปรแกรม CRM ที่เป็นมากกว่าสิ่งตอบแทนที่เป็นสิ่งของ แต่ต้องให้รางวัลทางใจด้วยเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกดีและหวนกลับมาอีกเรื่อยๆ


อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการเติบโตของออนไลน์คอมเมิร์ซ แบรนด์ยังควรต้องติดตามสถานการณ์ว่ามีแพลตฟอร์มอื่นใดบ้างที่กำลังแจ้งเกิดหรือตีตื้นขึ้นมา ซึ่งพบว่า 1. โซเชียลคอมเมิร์ซจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะช่องทางการขายออนไลน์ 2. โซเชียลมีเดียกำลังกำหนดเส้นทางชอปปิ้งในโลกดิจิทัล 77% ระบุว่าพวกเขาเคยแนะนำผลิตภัณฑ์ให้แก่เพื่อนๆ

ทั้งนี้ กลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อพวกเขามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สมาชิกในครอบครัว (24%), อินฟลูเอนเซอร์ทางโซเชียลมีเดีย (19%) และเพื่อนๆ (12%) 3. เกมมิ่งคอมเมิร์ซเป็นอีกช่องทางที่กำลังโตวันโตคืน โดยที่หลายๆ แบรนด์ยังคงมองไม่เห็น จากที่มีเวลาเล่นเกมมากขึ้น 66% มีแนวโน้มจะซื้อสินค้าแบบเดียวกันให้กับตัวเองและอวตาร์ของตนบนแพลตฟอร์มเกมมิ่ง

นอกจากนี้ การศึกษาครั้งนี้ยังเผยให้เห็นคุณลักษณะที่แตกต่างกันของผู้บริโภคต่างรุ่นต่างยุค ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ถึงพฤติกรรมการชอปปิ้งที่แตกต่างกัน และเป็นแนวทางให้แบรนด์ปรับใช้กลยุทธ์กับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 1. Gen X มือใหม่ดิจิทัล เกมเมอร์ตัวยง และรู้ดีว่าตนเองต้องการอะไร 2. มิลเลนเนียล ขอหาดูรีวิวก่อนจะศึกษาหาข้อมูลจากบทรีวิวที่น่าเชื่อถือก่อนจะตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ 3. Gen Z ต้องดูสุดยอดทั้งในโลกความจริงและโลกเสมือน เป็นกลุ่มที่มีโอกาสสูงที่จะซื้อสินค้าให้กับอวตาร์ของตนเองในโลกเกมมิ่งเพื่อเป็นตัวตนของพวกเขาในเวอร์ชันดิจิทัล

“โลกชอปปิ้งในอนาคตของไทยได้ก้าวล้ำไปมากในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 กระทั่งในปัจจุบันเป็นอันดับหนึ่งในโลกในเรื่องการปรับพฤติกรรมเข้าหาการชอปปิ้งออนไลน์ แบรนด์จึงต้องคอยจับสัญญาณและก้าวให้เท่าทันอยู่เสมอ และพร้อมชนะใจผู้ซื้อยุคอนาคตเพื่อคว้าโอกาสที่พวกเขามีให้” นางมัวรีน ตัน กล่าวสรุป


กำลังโหลดความคิดเห็น