xs
xsm
sm
md
lg

ส่งฟ้องแก๊งออฟโฟร์ปั่นหุ้น KIAT / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คดีปั่นหุ้นบริษัท เกียรติธนาขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ KIAT กำลังเป็นอีกคดีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปิดสำนวนไม่ลง และต้องส่งเรื่องให้อัยการฟ้องศาล เพื่อบังคดีในทางแพ่ง

ก.ล.ต.ประกาศดำเนินมาตรการลงโทษในทางแพ่ง ผู้บริหาร KIAT พร้อมพวกรวม 13 คน เมื่อประมาณกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในความผิดการสร้างราคาหุ้น และสั่งปรับเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 291.17 ล้านบาท

ผู้ร่วมขบวนการ 9 คน ยินยอมชำระค่าปรับแต่โดยดี ซึ่งถือคดีเป็นที่สิ้นสุด เหลืออีก 4 คนที่ไม่ยินยอมชำระค่าปรับ และต้องส่งเรื่องให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อบังคับให้ชำระค่าปรับในอัตราโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด

ผู้ร่วมขบวนการปั่นหุ้น KIAT จำนวน 4 คนที่ไม่ยอมจ่ายค่าปรับประกอบด้วย นายเกียรติชัย มนต์เสรีนุสรณ์ อดีตกรรมการผู้จัดการ KIAT นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย นางกิ่งกาญจน์ สมิตานนท์ และนายประพล มิลินทจินดา

ก.ล.ต.กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง กลุ่มปั่นหุ้น KIAT รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 226.16 ล้านบาท โดยนายเกียรติชัย ต้องชำระค่าปรับจำนวน 150.14 ล้านบาท นายสุรพงษ์ 45.14 ล้านบาท นางกิ่งกาญจน์ 5 แสนบาท และนายประพล 30.37 ล้านบาท

นอกจากนั้น ก.ล.ต.ยังรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามความผิดต่ออีกด้วย

การส่งเรื่องให้อัยการฟ้องศาล ทำให้นายเกียรติชัย นายสุรพงษ์และนายประพล ต้องชำระค่าปรับเพิ่มขึ้นสูงมาก เพราะเดิม ก.ล.ต.สั่งปรับนายเกียรติชัย เป็นเงิน 112.60 ล้านบาท นายสุรพงษ์ปรับ 17.93 ล้านบาท และนายประพล ปรับ 22.78 ล้านบาท

คดีปั่นหุ้นที่ ก.ล.ต.ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง สั่งปรับผู้กระทำผิดนั้นมีหลายคดีที่ผู้กระทำผิดดื้อแพ่งไปยอมจ่าย ทำให้ ก.ล.ต.ต้องส่งเรื่องให้อัยการฟ้อง และบางคดีศาลมีคำตัดสินมาแล้ว เช่น คดีปั่นหุ้นบริษัท ปิโก้ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ PICO จำนวน 3 ราย โดยมี นายสุรินทร์ บรรยงพงษ์เลิศ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ของ PICO ถูก ก.ล.ต. ลงโทษปรับ 18.43 ล้านบาท แต่นายสุรินทร์ ไม่ยินยอมชำระค่าปรับ จึงต้องยื่นฟ้องศาล โดยสั่งชั้นต้นสั่งปรับเป็นเงิน 18.43 ล้านบาท ขณะที่ ก.ล.ต. ขอให้ลงโทษขั้นสูงสุด โดยปรับเป็นเงิน 24.13 ล้านบาท

ต่อมา ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งลงโทษปรับในอัตราสูงสุดที่ ก.ล.ต.ฟ้อง โดยปรับจำนวน 24.13 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.75 นับจากวันฟ้อง

ส่วนคดีปั่นหุ้นบริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA โดยชื่อเดิมคือ บมจ.คราวน์ เทค แอดวานซ์ หรือ AJD ซึ่ง ก.ล.ต.สั่งลงโทษปรับนายอมร มีนะโม อดีตผู้บริหารบริษัท พร้อมพวกรวม 40 คน วงเงิน 1,727.38 ล้านบาท ซึ่งนายอมร และพวกปฏิเสธการจ่ายค่าปรับ ก.ล.ต.จึงส่งเรื่องให้อัยการฟ้อง เรียกค่าปรับ 2,303.06 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างรอคอยการพิจารณาคดีของศาล

เช่นเดียวกัน คดีปั่นหุ้น KIAT คงต้องใช้เวลารอคอยอีกระยะว่า ศาลจะชี้ชะตาแก๊งปั่นหุ้น 4 คนที่ยังไม่ยอมจ่ายค่าปรับอย่างไร

และรอคอยว่า ปปง.จะดำเนินคดีต่อแก๊งนี้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม การที่ ก.ล.ต. รายงานขั้นตอนการลงโทษผู้กระทำผิดร้ายแรงตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ เป็นเรื่องที่ดีเพราะช่วยให้ประชาชนได้รู้ความคืบหน้าของคดีสำคัญในตลาดหุ้น

คดีการใช้ข้อมูลภายในซื้อขาย หรืออินไซเดอร์เทรดดิ้ง การปั่นหุ้น หรือการยักยอกทรัพย์ ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น เป็นพฤติกรรมการเอาเปรียบประชาชนผู้ลงทุน เป็นการโกง และสร้างความเสียหายให้นักลงทุนนับแสนๆ คน

คดีอาชญากรรมที่สร้างความเสียหายร้ายแรงในตลาดหุ้น หน่วยงานที่กำกับดูแลจะต้องดำเนินการลงโทษอย่างเฉียบขาด และรายงานความคืบหน้าของขั้นตอนลงโทษให้สาธารณชนรับรู้อย่างต่อเนื่อง

แต่คดีอาชญากรรมร้ายแรงในตลาดหุ้น เมื่อหลุดจากมือ ก.ล.ต. ผ่านไปสู่หน่วยงานอื่นแล้วมักจะเงียบหาย แทบไม่มีการแถลงความคืบหน้าใดๆ สาธารณชนจะรับทราบ เมื่อคดีถูกเป่าไปแล้ว โดยการสั่งไม่ฟ้อง

ถ้าทุกหน่วยงานดำเนินคดีอาชญากรรมในตลาดหุ้นอย่างโปร่งใส แจ้งความคืบหน้าของคดีให้สาธารณชนที่รับรู้เป็นระยะ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาดจริงจัง

ประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนประมาณ 1.5 ล้านคน คงมีความมั่นใจมาตรการปกป้องคุ้มครองนักลงทุนมากขึ้น

เพราะใครเอาเปรียบ ใครโกงประชาชนผู้ลงทุน ใครก่ออาชญากรรมในตลาดหุ้นจะไม่ถูกปล่อยให้ลอยนวลอีกต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น