อดีตกรรมการ และผู้บริหารบริษัท เค.ซี.พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ KC กำลังเจอวิบากกรรมซ้ำสอง เพราะสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศกล่าวโทษ ความผิดทุจริตซื้อขายที่ดิน สร้างความเสียหายให้บริษัท
วันที่ 6 มกราคม 2561 ก.ล.ต.เคยประกาศกล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร KC รวม 4 คน พร้อมพวกอีก 3 คน กรณีทุจริตตั๋วแลกเงินระยะสั้น สร้างความเสียหายให้บริษัทจำนวน 425 ล้านบาท
อดีตกรรมการ และผู้บริหาร KC รวม 4 คนที่ถูกกล่าวโทษคดีทุจริตตั๋วแลกเงิน ประกอบด้วย นายภัทรภพ อิทธิสัญญากร (เปลี่ยนชื่อเป็นนายกฤติภัทร) นายสรรชัย อินทรอักษร นายธีราสิทธิ์ แสงเงิน และนายกิติสาร มุขดี ส่วนพวกอีก 3 คน ประกอบด้วย นายเทพทิวา บุตรพรม น.ส.จรูญลักษณ์ คงคาเรียน (เปลี่ยนชื่อเป็น น ส.นิษฐา) และนายวีรวัฒน์ สุขวราห์
ทั้ง 7 คนถูกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ จากการออกตั๋วแลกเงินระยะสั้น หรือตั๋ว B/E ระหว่างเดือนกันยายน 2558 ถึงเดือนตุลาคม 2559 จำนวน 25 ฉบับ วงเงินระหว่าง 25 ล้านบาท ถึง 150 ล้านบาท แต่ยักยอกเงินที่ได้จากการออกตั๋วในนามบริษัทเข้าบัญชีตัวเองและพวกพ้อง และยินยอมให้ไม่มีการลงบันทึกบัญชีการขายตั๋ว B/E
คดีเก่าผ่านไปแล้วกว่า 3 ปี แต่ไม่มีความคืบหน้าใดจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เช่นเดียวกับอีกหลายคดีความผิดอื่นๆ ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ ก.ล.ต.ร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งแทบทุกคดีที่หายสาบสูญ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษไม่เคยมีการแถลงผลการสอบสวนใด
จะได้ข่าวกันอีกครั้งเมื่อคดีถูกเป่าไปแล้ว โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้อง ทำให้แก๊งปั่นหุ้น หรือยักยอกทรัพย์ถ่ายเททรัพย์สิน โกงประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้นลอยนวล
คดีใหม่ที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร KC และบริษัท โมเดิร์น สตรีท ซึ่งเป็นบริษัทลูกรวม 3 คน ในความผิดทุจริตการซื้อขายที่ดิน ประกอบด้วย นายกิติสาร มุขดี นายสรรชัย อินทรอักษร นายธีราสิทธิ์ ส่วนพวกอีก 4 คน ประกอบด้วย นายวีรวัฒน์ สุขวราห์ น.ส.สุภัทรา ทินเพ็ง นายรัฐวุฒิ วรพันธ์ และห้างหุ้นส่วนจำกัด รัฐวุฒิ โดยนายรัฐวุฒิ ห้างหุ้นส่วนผู้จัดการ
ความผิดที่ ก.ล.ต. ระบุคือ การทุจริตซื้อขายที่ดิน 3 แปลง ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม 2559 เบียดบังทรัพย์สิน แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้เพื่อตนเองหรือผู้อื่น สร้างความเสียหายให้บริษัทโดยขายที่ดินของบริษัทในราคาต่ำกว่าความเป็นจริงและทำสัญญาซื้อที่ดินในราคาสูงกว่าความเป็นจริง
ผู้ที่ถูกกล่าวโทษในความผิดทุจริตซื้อขายที่ดินของบริษัท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดียวที่ถูกกล่าวโทษในคดีทุจริตเงินขายตั๋ว B/E สะท้อนให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้จ้องวางแผนผ่องถ่ายทรัพย์สินของบริษัท และอาจมีพฤติกรรมอื่นที่ ก.ล.ต. ตรวจไม่พบ
หุ้น KC ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP พักการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2561 เนื่องจากไม่ส่งงบการเงินตามเวลาที่กำหนด ราคาหุ้นปิดครั้งสุดท้ายที่ 18 สตางค์ ปัจจุบันถูกจับเข้ากลุ่มฟื้นฟูกิจการ และอยู่ในข่ายอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน
ฐานะของหุ้น KC ในวันนี้ต้องถือว่าเหลือเพียงซาก เพราะทรัพย์สินถูกผ่องถ่ายออกไปโดยอดีตกรรมการและผู้บริหารบริษัท ทิ้งความสูญเสียให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 2,518 ราย
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 บริษัทได้ออกหุ้นเพิ่มเสนอขายบุคคลในวงจำกัดจำนวน 550 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 20 สตางค์ จากพาร์ 1 บาท แต่ขายได้เพียง 50 ล้านหุ้น โดยนายกวีชัย เลิศอัศวรัตน์ เป็นผู้ซื้อ ส่วนหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 875 ล้านหุ้นที่เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม ในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ราคาหุ้นละ 10 สตางค์นั้นมีผู้ใช้สิทธิจองซื้อ 532 ล้านหุ้น
เงินที่ระดมได้จากการขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวนประมาณ 60 ล้านบาทเศษ คงไม่สามารถพลิกฟื้นฐานะการดำเนินงานของกิจการได้
หุ้น KC จึงตกอยู่ในสภาพสิ้นอนาคต และนับถอยหลังสู่การถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์
ความล่มสลายของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ จำเลยที่ต้องรับผิดชอบคือ อดีตกรรมการและผู้บริหารบริษัทที่ ก.ล.ต.ลงดาบประหารถึง 2 ครั้ง และไม่น่าจะรอดพ้นจากกรรมที่ก่อไว้กับผู้ถือหุ้น
กรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ตั้งแก๊งสุมหัวกันไซฟ่อนทรัพย์สิน โกงผู้ถือหุ้นรายย่อย สูบเงินออกจากบริษัทจนเหลือแต่ซาก ไม่ได้มีเฉพาะ KC เท่านั้น แต่อาจมีบริษัทจดทะเบียนอีกนับ 100 แห่งที่มีการก่ออาชญากรรมจากฝ่ายบริหารบริษัทในรูปแบบต่างๆ และอนาคตอาจจบลงด้วยความล่มสลาย
ดังนั้น จะลงทุนหุ้นตัวไหนต้องสืบประวัติ ดูกรรมการและผู้บริหารบริษัทให้ดี ถ้ามีพฤติกรรมโกงอย่ายุ่งเด็ดขาด
เพราะอาจเกิดรายการตายหมู่เหมือนผู้ถือหุ้น KC