โควิด-19 ระลอกใหม่พ่นพิษ ภาพรวมอสังหาฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่ภาวะซบเซาต่อ เปิดใหม่ ขายใหม่ลดลงต่อเนื่อง ตลาดคอนโดฯ มีเปิดใหม่แค่โคราช ศูนย์ข้อมูลฯ ส่งสัญญาณเฝ้าระวังใน 5 จังหวัด หน่วยเหลือขาย 12,365 หน่วย มูลค่า 43,350 ล้านบาท
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวถึงการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และมหาสารคาม) ว่า โดยภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัยใน 5 จังหวัดในปี 2564 อยู่ในภาวะซบเซา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดอุบลราชธานี อุดรธานี และมหาสารคาม แต่พบว่าในครึ่งหลังของปี 2563 จังหวัดขอนแก่น มีความโดดเด่น การขายที่ดูดี แต่ในส่วนของตลาดอสังหาฯ ในจังหวัดนครราชสีมาที่เคยนำมาเป็นอันดับ 1 เริ่มตามจังหวัดขอนแก่น
ซึ่งจะเห็นได้ว่าในภาพปีที่ผ่านมา จะมีซัปพลายใหม่เข้ามาคิดเป็นสัดส่วน 2.5% หรือประมาณ 1,000 กว่าหน่วย มีส่วนที่ขายได้คิดเป็น 2.2% ของ 27 จังหวัด และมีหน่วยเหลือขายประมาณ 4% ดังนั้น ภาคอสังหาฯ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงมีความสำคัญ โดยแต่ละจังหวัดล้วนแต่มีความสำคัญ
โดยจากการสำรวจในช่วงครึ่งหลังปี 2563 พบมีจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างขายใน 5 จังหวัด มีทั้งหมด 297 โครงการ จำนวน 13,500 หน่วย มูลค่ารวม 47,535 ล้านบาท พบว่า โครงการบ้านจัดสรรเป็นตลาดที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีจำนวนสูงถึง 250 โครงการ 10,620 หน่วย มูลค่า 40,361 ล้านบาท และโครงการอาคารชุด 47 โครงการ 2,880 หน่วย มูลค่า 7,174 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวมีหน่วยเหลือขาย จำนวน 12,365 หน่วย รวมมูลค่าหน่วยเหลือขาย 43,350 ล้านบาท และในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ จำนวน 1,135 หน่วย รวมมูลค่า 3,585 ล้านบาท
“ผลจากโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้อสังหาฯ ในจังหวัดนครราชสีมามีหน่วยเปิดใหม่ครึ่งปีแรกลดลง -24.7 เปอร์เซ็นต์ และปรับตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี ทำให้เปิดใหม่ทั้งปีรวมมีจำนวน 1,684 หน่วย มูลค่า 5,352 ล้านบาท”
ส่วนหน่วยขายได้ใหม่รวมทั้งปีจะมีจำนวน 1,793 หน่วย มูลค่า 5,711 ล้านบาท มีหน่วยเหลือขาย ณ สิ้นปี 2564 จะมีประมาณ 6,770 หน่วย มูลค่า 24,278 ล้านบาท อัตราดูดซับทั้งโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดฯ ลดลงติดต่อ 3 ปี โดยการโอนกรรมสิทธิ์ปีนี้จะมีจำนวน 6,141 หน่วย ลดลง -26.6% มูลค่าลดลงมาอยู่ที่ 10,627 ล้านบาท หรือลดลง -38.4%
ดร.วิชัย กล่าวว่า ที่อยู่อาศัยเหลือขายนั้น ในจังหวัดนครราชสีมา พบว่า ในครึ่งหลังปี 63 บริษัทอสังหาฯ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เข้ามาพัฒนาโครงการมีสต๊อกติดมือทั้งประเภทคอนโดฯ บ้านจัดสรร บ้านเดี่ยว โดยเฉพาะทาวน์เฮาส์มีสัดส่วนสต๊อกมากกว่าผู้ประกอบการในท้องถิ่นอยู่ที่ 58% และยังเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการขายที่สูงเช่นกัน
สำหรับจังหวัดขนาดใหญ่รองลงมา คือ ขอนแก่น คาดว่าปีนี้จะมีหน่วยเปิดใหม่ 982 หน่วย มูลค่า 3,117 ล้านบาท มีหน่วยขายได้รวม 1,156 หน่วย มูลค่า 3,310 ล้านบาท เหลือขาย ณ สิ้นปี 64 ประมาณ 3,573 หน่วย มูลค่า 12,062 ล้านบาท การโอนกรรมสิทธิ์ 4,997 หน่วย ลดลง -20% ส่งผลให้มีมูลค่าการโอน 7,613 ล้านบาท ลดลงเช่นกัน -34.3%
ทั้งนี้ ในครึ่งหลังของปี 63 บริษัทอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์มีสต๊อกเหลือขายในจังหวัดขอนแก่น จะเป็นสินค้าจัดสรรทั้งหมด ที่มากสุดจะเป็นทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด และบ้านเดี่ยว
จังหวัดอุดรธานี คาดหน่วยเปิดใหม่รวม 255 หน่วย มูลค่า 1,504 ล้านบาท หน่วยขายได้รวม 432 หน่วย มูลค่า 1,289 ล้านบาท หน่วยเหลือขาย ณ สิ้นปี 64 ประมาณ 1,753 หน่วย มูลค่า 6,936 ล้านบาท หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์มี 2,855 หน่วย ลดลง -8.2% มูลค่าการโอน 4,726 ล้านบาท ลดลง -10.4%
สำหรับทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดอุบลราชธานี คาดหน่วยเปิดใหม่ 270 หน่วย มูลค่า 868 ล้านบาท ขายได้ใหม่ 375 หน่วย มูลค่า 1,080 ล้านบาท หน่วยเหลือขายสิ้นปีนี้ 1,530 หน่วย มูลค่า 4,295 ล้านบาท การโอนกรรมสิทธิ์ 2,448 หน่วย ลดลง -30.5% และมีมูลค่าการโอน 2,894 ล้านบาท ลดลง -48.2%
และจังหวัดมหาสารคาม หน่วยเปิดใหม่ 152 หน่วย มูลค่า 284 ล้านบาท หน่วยขายได้รวม 145 หน่วย มูลค่า 413 ล้านบาท หน่วยเหลือขาย ณ สิ้นปีประมาณ 873 หน่วย มูลค่า 2,550 ล้านบาท การโอนกรรมสิทธิ์ 1,210 หน่วย เพิ่มขึ้น 2.6% มูลค่า 1,929 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.9%