หลังจากถูกลากขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดของรอบที่ราคา 84.75 บาท ระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา เปิดการซื้อใหม่วันที่ 27 พฤษภาคม หุ้นบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ถูกถล่มขายอย่างหนัก ราคาดิ่งลงแรง สร้างความตื่นตระหนกให้นักลงทุนรายย่อยที่ถือหุ้นอยู่
ราคาหุ้น KTC ปักหัวลงทันทีที่เปิดการซื้อขายในวันที่ 27 พฤษภาคม โดยเปิดที่ 76.50 บาท ก่อนจะปิดที่ 73.50 บาท ลดลง 9.50 บาท หรือลดลง 11.45% มูลค่าซื้อขาย 14,386.61 ล้านบาท และเป็นหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดประจำวัน
ในวันเดียวกันมีรายการบิ๊กล๊อตหรือการซื้อขายรายใหญ่ หุ้น KTC จำนวน 110 ล้านหุ้น หรือประมาณ 4% ของทุนจดทะเบียน ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 74.75 บาท รวมเป็นเงิน 8,222 ล้านบาท
นายมงคล ประกิตชัยวัฒนา ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของ KTC เคยขายหุ้นจำนวนประมาณ 125 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.8674% ของทุนจดทะเบียนให้กองทุนต่างประเทศ ผ่านโบรกเกอร์ต่างประเทศ มอร์แกนสแตนเลย์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยไม่มีการเปิดเผยชื่อกองทุนต่างชาติที่ซื้อ
หลังการขายหุ้น นายมงคล ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 แต่สัดส่วนการถือหุ้นลดเหลือ 10.2542% ของทุนจดทะเบียน และไม่ได้เป็นผู้ขายหุ้นจำนวน 110 ล้านหุ้นในครั้งนี้
ขณะที่เซียนฮง หรือนายสถาพร งามเรืองพงศ์ ซึ่งเคยถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ในสัดส่วนกว่า 4% ของทุนจดทะเบียน ได้ขายหุ้น KTC ออกไปก่อนหน้าแล้ว
รายการบิ๊กล็อตจำนวน 110 ล้านหุ้นที่เกิดขึ้น คาดว่าจะเป็นการทำรายการของกองทุนต่างประเทศ ซึ่งมีหลายกองทุนที่ถือหุ้น KTC
ปีนี้ KTC มีข่าวดีกระตุ้นราคาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการประกาศนโยบายบุกขยายสินเชื่อ การรุกในสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ล่าสุดได้ซื้อหุ้น บริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด จากธนาคารกรุงไทย จำนวน 75.05 ล้านหุ้น คิดเป็น 75.05% ของทุนจดทะเบียน
และเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้แจ้งชำระเงินค่าหุ้นงวดแรกไปแล้ว จำนวน 297.19 ล้านบาท จากเงินค่าหุ้นที่ต้องชำระทั้งหมด 594.39 ล้านบาท
ขณะที่ผลประกอบการ KTC ดีต่อเนื่อง โดยปี 2563 มีกำไรสุทธิ 5,332.87 ล้านบาท และไตรมาสแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 1,6336.81 ล้านบาท โดยมีค่าพี/อี เรโช 35 เท่า และอัตราเงินปันผลตอบแทน 1.20%
สิ้นปี 2563 ราคาหุ้น KTC ปิดที่ 59.60 บาท และปรับตัวขึ้นมาตลอดนับจากต้นปี 2564 เพราะนักลงทุนคาดหวังแนวโน้มการเติบโต จึงทยอยเข้ามาเก็บหุ้น ผลักดันให้ราคาหุ้นพุ่งทะยานสร้างจุดสูงสุดในรอบปีนี้ที่ 84.75 บาท ก่อนถูกถล่มขายลงทันที
ผู้ถือหุ้นรายย่อย KTC จำนวน 16,025 ราย คงรู้สึกหวั่นไหวกับราคาหุ้นที่ผันผวน และกังวลกับการเทขายของกองทุนต่างประเทศ จนเกิดความสับสนว่า ควรจะถือหุ้น KTC ต่อหรือไม่ แม้เดิมตั้งใจว่าจะซื้อเพื่อการลงทุนระยะยาวก็ตาม
แต่ราคาหุ้นที่ทรุดลงแรง ทำให้ไขว้เขว เสียสมาธิ และกลัวราคาหุ้นจะเป็นเปลี่ยนทิศทางสู่ช่วงขาลงเหมือนกัน
แม้ว่าผู้บริหาร KTC จะออกมาปลอบประโลมผู้ถือหุ้นว่าการขายหุ้นของนักลงทุนรายใหญ่ ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงาน และอาจเป็นการขายเพื่อทำกำไรเท่านั้น
แต่การขายในลักษณะเททิ้งทั้งจำนวนของหุ้นที่ถืออยู่ ทำให้เกิดมุมมองในสองด้าน มุมมองหนึ่งคือ การขายทำกำไรตามปกติ อีกมุมมองคือ ขายทำกำไร เพราะอาจประเมินเห็นว่า แนวโน้มผลประกอบการ KTC อาจไม่สดใสเหมือนเก่า
อย่างไรก็ตาม รายการบิ๊กล๊อตของกองทุนต่างชาติได้กลายเป็นอีกองค์ประกอบที่นักลงทุนจะนำไปเป็นข้อมูลพิจารณาทบทวนการลงทุนในหุ้น KTC
แต่ถ้ามั่นใจว่าแนวโน้มในหุ้น KTC ยังสดใส การปรับฐานครั้งนี้อาจเป็นโอกาสเก็บหุ้น