เป็นข่าวใหญ่ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สำหรับ "นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก" ประธานโครงการคืนคุณแผ่นดิน เจ้าของเครือข่ายธุรกิจมากมาย ซึ่งตกอยู่ในฐานะผู้ต้องหาคดีต้มตุ๋นนับพันล้านบาท
มีคำถามว่า นักต้มตุ๋น 18 มงกุฎรายนี้มีที่ยืนในสังคมตลอดระยะเวลาหลายปีได้อย่างไร ทำไมเข้านอกออกในภายกองทัพ ทำไมจึงได้สัมภาษณ์ในรายการดังทางทีวี ทำไมถ่ายรูปอย่างใกล้ชิดสนิทสนมกับคนใหญ่คนโต ทำไมมีนักการเมืองเข้าไปคลุกคลี
เพราะนายประสิทธิ์ เคยมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายหลอกลวง และถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งลงโทษปรับ ในความผิดระดมเงินจากประชาชนอย่างผิดกฎหมาย ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2561 และเป็นข่าวใหญ่ที่สังคมรับรู้โดยทั่วไป
แต่ทำไมไม่มีใครตีแผ่ เปิดโปง หรือปิดกั้นไม่ให้นักต้มตุ๋นรายนี้กลับมาสร้างความเสียหายให้ประชาชน
กองทัพ นักการเมือง และหลายองค์กรที่เปิดโอกาสให้นายประสิทธิ์ มีเวทีในการสร้างภาพ ล้วนมีส่วนรับผิดชอบกับความเสียหายของประชาชนทั้งสิ้น
ตั้งแต่ปลายปี 2560 นายประสิทธิ์ ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัท มัณดาวีต์ ทัวร์ จำกัด ออกเดินสายจัดสัมมนานักลงทุนสูงวัยในหลายจังหวัด โดยเสนอขายหุ้นกู้ ชักชวนให้ร่วมลงทุน อ้างว่าจะควบรวมกิจการกับบริษัท เว็บสวัสดี จำกัด และจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
แต่ระหว่างที่ยังไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ จะจ่ายผลตอบแทนให้ผู้ลงทุนปีละ 8% ซึ่งผู้ลงทุนสามารถถอนเงินลงทุนได้ โดยเสนอให้ร่วมลงทุนรายละ 1 แสนบาท
การเสนอขายหุ้นกู้โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงสั่งปรับบริษัท มัณดาวีต์ ทัวร์ จำกัด เป็นเงิน 500,000 บาท และปรับนายประสิทธิ์ 500,000 บาท
18 มงกุฎรายนี้ควรจะปิดฉากไปแล้วนับตั้งแต่ถูก ก.ล.ต. ลงโทษตั้งแต่ต้นปี 2561 แต่เพราะมาตรการทางสังคมที่ต่ำ การละเลยต่อบรรทัดฐานทางจริยธรรมและคุณธรรมขององค์กรต่างๆ ทำให้บรรดามิจฉาชีพ คนโกง หรือแม้แต่คนที่มีพฤติกรรมเลวร้าย กลายเป็นคนมีชื่อเสียง มีตำแหน่งทางสังคม
วันนี้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเปิดเวทีให้นายประสิทธิ์ สร้างภาพ สร้างฐานะทางสังคม ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบกันหมด
แม้แต่กองทัพที่เปิดพื้นที่ให้นายประสิทธิ์ และการรับคนสีเทาเข้าร่วมสังฆกรรมกับกองทัพบก ก็ไม่มีนายประสิทธิ์เพียงกรณีเดียว
เพราะหลายปีที่กองทัพบกนำอดีตเจ้าหน้าที่ระดับบริหารบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งถูก ก.ล.ต.ลงโทษในความผิดปั่นหุ้น และถูกถอนใบอนุญาตการเป็นบุคลากรในตลาดทุนเป็นเวลา 10 ปี และอยู่ระหว่างการถอนใบอนุญาตอยู่ โดยเปิดเวทีให้รายงานหุ้นทางวิทยุเครือข่ายกองทัพบกในข่าวภาคเที่ยง
ก.ล.ต.พยายามรักษากฎหมาย ป้องกันมิให้เอารัดเอาเปรียบประชาชนผู้ลงทุน โดยลงโทษผู้กระทำผิดโดยไม่ละเว้นหรือเลือกปฏิบัติ และปิดกั้นมิให้คนที่มีพฤติกรรมฉ้อโกงมีที่ยืนในสังคม
แต่กองทัพบกกลับเปิดเวทีให้คนที่ ก.ล.ต. ขึ้นบัญชีดำไว้มีที่ยืน ดังนั้น ประชาชนจะถามหามาตรฐานทางสังคมกับใครในกองทัพ
อย่างไรก็ตาม องค์กรที่ไม่เคร่งครัด เข้มงวดกับพฤติกรรมของบุคคล พร่ำเพ้อแต่นโยบายธรรมาภิบาลเพียงลมปาก ไม่ได้มีเฉพาะกองทัพเท่านั้น
แม้แต่ตลาดหลักทรัพย์เคยเชิญนักปั่นหุ้นเป็นวิทยากร ให้ความรู้แก่นักลงทุนมาแล้ว
(อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้)