xs
xsm
sm
md
lg

ttb analytics คาดจีดีพีโต 1.9% ลุ้นเร่งฉีดวัคซีนตามแผนช่วยหนุนปีหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics)
ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2565 มีโอกาสโตได้ถึงร้อยละ 4.4 ตามแผนการฉีดวัคซีนเชิงรุก ปลดล็อกประเทศเปิดรับนักท่องเที่ยวได้เร็ว เสริมด้วยภาคส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง แต่อาจโตได้เพียงร้อยละ 2.8 ถ้าอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 1.5 แสนโดสต่อวัน ขณะที่เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกหดตัวตามคาดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสอง ได้ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดลงหลังจากที่เพิ่งฟื้นตัว ซึ่งเป็นผลจากจากมาตรการควบคุมการระบาดแม้มีความเข้มงวดน้อยกว่ามาตรการล็อกดาวน์ในครั้งก่อน แต่ก็เป็นการฉุดเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวได้เต็มที่ให้กลับสู่ภาวะซบเซาอีกครั้ง โดยล่าสุดสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานจีดีพีไตรมาสแรกของปี 2564 หดตัวร้อยละ 2.6 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ 4.2 องค์ประกอบเศรษฐกิจที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ยังคงเป็นการใช้จ่ายภาครัฐ ผ่านมาตรการเยียวยาและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่ยังคงมีต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าเป็นเงินกว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้การบริโภคภาคเอกชนไม่ทรุดหนัก รวมทั้งภาคส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่องตามเศรษฐกิจคู่ค้าหลักที่ฟื้นตัวเร็ว ทั้งตลาดสหรัฐฯ และจีน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่เริ่มในเดือนมีนาคมจนถึงขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศไทยมีผู้ได้รับวัคซีนอยู่ที่ 1.4 ล้านคน คิดเป็นเพียงร้อยละ 2 ของประชากรทั้งประเทศ นำไปสู่การปรับแผนฉีดวัคซีนเชิงรุกของภาครัฐ ทั้งการปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้เร็วที่สุดในทุกพื้นที่ การตั้งเป้าการฉีดให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรในแต่ละจังหวัด และเพิ่มเป้าหมายจัดหาวัคซีนเป็น 150 ล้านโดส ภายในปี 2565 หรือเพิ่มอีก 50 ล้านโดสจากปัจจุบัน รวมทั้งปรับรูปแบบการฉีดวัคซีนให้ยืดหยุ่น มีความเหมาะสม สะดวกรวดเร็วในการเข้าถึง ซึ่งคาดว่าจะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลง ช่วยให้ปลดล็อกประเทศ เปิดรับการท่องเที่ยวและภาคบริการได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ttb analytics ได้ประมาณการยอดผู้ติดเชื้อจากแผนฉีดวัคซีนเชิงรุกที่เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ พบว่า หากกระจายฉีดวัคซีนได้ 300,000 โดสต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับแผนจัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสภายในปี 2564 ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อทยอยลดลงตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยอยู่ที่ 300 คนในเดือนธันวาคม และมีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสมแล้วถึง 46.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 70 ของประชากร หรือกล่าวได้ว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม นำไปสู่การปลดล็อกประเทศได้ และภายในไตรมาสแรกปี 2565 การกระจายวัคซีนจะครอบคลุมประชากรเกือบทั้งหมดที่อยู่ในเกณฑ์ที่รับวัคซีนได้

แต่หากการกระจายวัคซีนทำได้ต่ำกว่าด้วยข้อจำกัดต่างๆ เช่น ฉีดได้ 150,000 โดสต่อวัน พบว่ายอดผู้ติดเชื้อในปีนี้จะยังคงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การปลดล็อกประเทศและเปิดรับการท่องเที่ยวต่างๆ จะเลื่อนไปจนถึงมิถุนายน 2565 ในทำนองเดียวกัน หากสามารถเร่งฉีดได้ถึง 500,000 โดสต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการจัดหาวัคซีนเพิ่มเป็น 150 ล้านโดส ภายในปี 2565 จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงในระดับที่ควบคุมได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 และสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาส 4 ของปี 2564 นี้ จากการมีผู้ได้รับวัคซีนเกินร้อยละ 70

โดยการเร่งฉีดและการกระจายวัคซีนได้ตามเป้าหมาย สามารถทยอยการผ่อนคลายมาตรการควบคุม และเป็นผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาส 3 นี้ โดยการบริโภคภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้น ได้แรงหนุนจากภาคธุรกิจ กิจการร้านค้าที่เริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจได้ดังช่วงก่อนใช้มาตรการควบคุม ส่งผลดีต่อการจ้างงาน กอปรกับภาครัฐจะยังคงมีมาตรการเยียวยาและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง ในส่วนของภาคการส่งออกมีแนวโน้มพลิกฟื้นสอดคล้องกับบรรยากาศการค้าโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้า ปี 2564 จะโตได้ร้อยละ 8.1 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ และตลาดจีน ในขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวยังคงทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวนำร่องในเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ตโมเดล คาดว่าในปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 4 แสนคน สำหรับการลงทุนภาคเอกชนจะเริ่มฟื้นตัวสอดคล้องกับภาคการส่งออกและความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่แรงฉุดจากผลกระทบของโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ภาพรวมทั้งปี 2564 เศรษฐกิจจะโตได้ร้อยละ 1.9 ลดลงจากประมาณการเดิม (ณ เดือนธันวาคม 2563) ที่ร้อยละ 2.4

สำหรับในปี 2565 ภายใต้เงื่อนไขของการฉีดวัคซีน 300,000 โดสต่อวัน ทำให้สามารถเปิดประเทศได้เต็มรูปแบบในไตรมาสแรก โดยมียอดสะสมผู้ได้รับวัคซีนคิดเป็นร้อยละ 77 ของประชากรทั้งหมด จะช่วยดึงภาคการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น กอปรกับเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และการกระจายวัคซีนได้เร็วในประเทศเศรษฐกิจหลัก เป็นผลดีต่อนักท่องเที่ยวที่เป็นตลาดหลักของไทย เช้น ยุโรป จีน โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 10 ล้านคน

นอกจากนี้ คาดว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจในด้านอื่นจะกลับมามีบทบาทได้มากขึ้น ทั้งภาคการส่งออกที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2564 โดยคาดว่าในปี 2565 การส่งออกสินค้าจะเติบโตได้ร้อยละ 4.1 โดยมีปัจจัยหนุนมาจากเศรษฐกิจต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวหลังจากเริ่มมีการทยอยฉีดวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาต่อเนื่อง โดยตลาดที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 เช่น เหล็ก ทองแดง น้ำมัน และสินค้าเกษตร ทำให้มูลค่าส่งออกมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับการกลับมาดำเนินชีวิตได้เป็นปกติของประชาชนและการกลับสู่ตลาดแรงงานของภาคธุรกิจ รวมทั้งรายได้ในภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ขยับสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2565 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าในประเทศ และกดดันกำลังซื้อของครัวเรือน ทั้งนี้ จากเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่มีแรงขับเคลื่อนมากขึ้นในทุกองค์ประกอบ ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ร้อยละ 3.6 ในปี 2565 แต่หากสามารถกระจายวัคซีนได้เร็วมากขึ้นอย่างกรณีฉีดได้ 500,000 โดสต่อวัน ก็จะเป็นปัจจัยเร่งให้เปิดประเทศได้เร็วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 สร้างความเชื่อมั่นด้านบริหารจัดการในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้แก่ตลาดนักท่องเที่ยว ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มเป็น 13.8 ล้านคน เป็นแรงหนุนดันให้เศรษฐกิจปี 2565 ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.4


กำลังโหลดความคิดเห็น