เชียงใหม่ - ธปท.เผยสรุปภาพรวม ศก.ภาคเหนือไตรมาสแรกปี 64 ยังหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวโดนหนักจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง อัตราพักโรงแรมแค่ 4% ยังดีมาตรการรัฐและรายได้เกษตรขยายตัวช่วยการบริโภคหดตัวน้อยลง คาดไตรมาส 2 หนักต่อเนื่องจากการระบาดระลอกสาม ลุ้นฟื้นตัวช่วงไตรมาส 3 หากควบคุมโรคอยู่หมัดและกระจายวัคซีนทั่วถึง
นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคเหนือ เปิดเผยสรุปภาพรวมภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ว่า หดตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ทำให้ภาคการท่องเที่ยวหดตัวมากขึ้น อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบของภาครัฐและรายได้เกษตรกรขยายตัวตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวน้อยลง
ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง และการใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ชะลอลงจากฐานสูงในปีก่อน ส่วนการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงจากการลงทุนก่อสร้างตามสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นจากราคากลุ่มอาหารสดลดลง ด้านตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง ภาคการเงิน ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เงินฝากและเงินให้สินเชื่อขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน
สำหรับภาคบริการด้านการท่องเที่ยวนั้นหดตัวมากขึ้นจากไตรมาสก่อน จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ทำให้แต่ละจังหวัดมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น ประกอบกับสถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือรุนแรงขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวขาดความเชื่อมั่นจึงยกเลิกหรือเลื่อนการจองห้องพักและการจัดประชุมสัมมนา ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน จำนวนเที่ยวบิน จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย และอัตราการเข้าพักลดลง
ทั้งนี้ พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 โรงแรมที่พักในภาคเหนือมีการเปิดให้บริการเพียง 40% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่เปิด 60% โดยมีอัตราการเข้าพักเพียง 4% เท่านั้น โดยในไตรมาสที่ 2 คาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวภาคเหนือจะยังคงมีแนวโน้มหดตัวมากขึ้นต่อเนื่อง จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกสามที่ส่งผลกระทบมากกว่าระลอกสอง อย่างไรก็ตามยังน้อยกว่าระลอกแรก อย่างไรก็ตาม คาดว่าน่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 โดยมีปัจจัยสำคัญอยู่ที่การจัดการควบคุมโรคและการกระจายฉีดวัคซีน รวมทั้งไม่มีการระบาดระลอกใหม่
ด้านการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันปรับดีขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็น ด้านการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนในกลุ่มยานยนต์กลับมาขยายตัวในกลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์ตามความต้องการของลูกค้ากลุ่มเกษตรกรและการขนส่งสินค้า ประกอบกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่าย อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำสะท้อนกำลังซื้อโดยรวมยังอ่อนแอ
ขณะที่รายได้เกษตรกรขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามด้านราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัวดีจากราคาอ้อยโรงงานที่ผลผลิตทั้งฤดูกาลผลิตน้อยกว่าปีก่อน ประกอบกับราคามันสำปะหลังและข้าวเปลือกเจ้าเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด รวมทั้งด้านผลผลิตเพิ่มขึ้นตามปริมาณข้าวและมันสำปะหลังที่เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก
ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน โดยการผลิตในหมวดอาหารหดตัวน้อยลงจากผลผลิตน้ำตาลที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบเหลื่อมมาเก็บเกี่ยวในไตรมาสนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม หมวดเครื่องดื่มหดตัวมากขึ้นจากการท่องเที่ยวและกิจกรรมนอกบ้านลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกสอง ทั้งนี้ หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวชะลอลง และหมวดอาหารแปรรูปเพื่อการส่งออกลดลงจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทำให้การขนส่งล่าช้า
ด้านการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงจากไตรมาสก่อน การลงทุนเพื่อการก่อสร้างชะลอตัวตามภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอ รวมทั้งมาตรการสนับสนุนสินเชื่อของภาครัฐสิ้นสุดลง ทำให้ผู้ประกอบการเลื่อนแผนการลงทุนออกไป สะท้อนจากพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างกลุ่มบ้านเดี่ยวหดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การลงทุนเพื่อการผลิตกลับมาขยายตัวเล็กน้อยจากการลงทุนในกลุ่มธุรกิจขนส่ง ทั้งสินค้า E-Commerce และสินค้าเกษตรสะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัว รวมทั้งธุรกิจรายใหญ่บางรายมีการลงทุนนำเข้าเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและรองรับคำสั่งซื้อในอนาคตบ้าง
ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อน รายจ่ายประจำหดตัวจากฐานปีก่อนสูง ตามการเร่งเบิกจ่ายหลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 เริ่มประกาศใช้ โดยหดตัวมากในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของสถาบันการศึกษา และหมวดรายจ่ายอื่นของงบกลาง ส่วนทางด้านรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงต่อเนื่องจากการเร่งเบิกจ่ายของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง กรมชลประทาน และกรมทางหลวงชนบท หมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และหมวดครุภัณฑ์ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับมูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากร การส่งออกในรูปเงินบาทหดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน จากการเร่งส่งออกผลไม้ไปจีน และชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมทั้งผ้าผืน ไปเมียนมาในช่วงต้นไตรมาส อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐประหารในเมียนมาตั้งแต่ ก.พ. 2564 ส่งผลกระทบต่อระบบการชำระเงินและการขนส่งสินค้าระหว่างเมืองสำคัญในเมียนมา ทำให้การส่งออกไปเมียนมาเริ่มลดลง ด้านการนำเข้าขยายตัวดีในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่นำเข้าจากพื้นที่ชายแดนเมียนมา ผลไม้จากจีน และไฟฟ้าจาก สปป.ลาว
ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นจากไตรมาสก่อน จากราคาหมวดอาหารสดลดลงตามราคาข้าว ไข่ และผักสด ส่วนหมวดพลังงานปรับเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง จำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมตามมาตรา 38 ยังอยู่ในเกณฑ์สูง
ทั้งนี้ ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ยอดสินเชื่อคงค้างขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ประกอบกับสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์กลับมาขยายตัว จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคและสินเชื่อเพื่อธุรกิจหดตัวน้อยลง ทางด้านยอดเงินฝากคงค้างขยายตัวทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จากความต้องการรักษาสภาพคล่องของผู้ฝาก