การตลาด – ไทยยังวิกฤติ โควิด-19 ยังฟาดหางใส่อย่างหนักหน่วง ระบาดรอบ3เล่นงานจนอ่วม ดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกยังแกว่งไม่นิ่ง เดือนเมษายนดัชนีตกฮวบ หลังจากมีนาคมเริ่มฟื้นตัว สมาคมฯยังจี้รัฐเรื่องเก่าๆเร่งทวงข้อเสนอที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง เช่น ซอฟท์โลน
สถานการณ์โควิด- 19 ยังคงเป็นปัญหาที่หนักอึ้งและกระทบทั้งชีวิตและเศรษฐกิจอย่างรุนแรงต่อเนื่องในทุกภาคส่วน
ดูเหมือนว่า สถานการณ์ในไทยจะหนักหน่วงขึ้นตามลำดับ นับตั้งแต่มีการระบาดรอบใหม่รอบที่3 ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน2564เป็นต้นมา ที่ตัวเลขการพบผู้ติดเชื้อมีเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหายระดับหลัก 1 – 2 พันกว่าคนต่อวันมาโดยตลอด ทั้งที่ตัวเลขขนาดนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในไทย
ล่าสุดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นต้นมา อยู่ที่ 1,891 ราย, วันที่ 2 เพิ่มมาเป็น1,940 ราย, วันที่ 3 พุ่งเป็น 2,041 ราย, วันที่ 4 ลดลงมาอยู่ที่ 1,763 ราย และวันที่ 5 พุ่งสูงขึ้นมาอีกมีจำนวน 2,112 ราย
ถึงขั้นที่ทางรัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค ต้องประกาศให้ 6 จังหวัดเป็นพื้นที่สีแดงเข้มที่้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เป็นพิเศษ เพราะมีการระบาดติดเชื้อจำนวนมาก คือ พื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งแน่นอนว่ามีมาตรการอื่นๆที่เข้มงวดตามมา เริ่มวันที่ 1พฤษภาคมเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วตอนล็อกดาวน์ครั้งแรกที่มีการระบาดอย่างหนัก เช่น ห้ามนั่งทานอาหารในร้านให้ซื้อกลับบ้านอย่างเดียวเท่านั้น
นับตั้งแต่ต้นปีนี้หากมองในภาคค้าปลีกก็ย่อมได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะจากการทำ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกทั่วประเทศ (Retail Sentiment Index) ของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยที่ร่วมมือกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทำการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกไทย ในทุกภาคส่วนของค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการทุกๆ เดือน นั้น ฟ้องไว้ตั้งแต่ต้นปีแล้ว สะท้อนให้เห็นว่ามีการขี้นๆลงๆแบบไม่มีเสถียรภาพอย่างชัดเจน
ทั้งนี้จากข้อมูลของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย โดย นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า จากผลของการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index : RSI) เดือนมกราคม 2564 (รอบการสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 19-26 มกราคม 2564) โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีการสำรวจเป็นรายเดือน พบว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก เดือนมกราคม 2564 ลดลงทันทีอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม และเป็นการลดลงจากความอ่อนไหวจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ แม้ภาครัฐจะใช้มาตรการเข้มข้นเพียง 28 จังหวัด ดัชนีความเชื่อมั่นก็ยังคงปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อเดือนเมษายน 2563 จากครั้งที่เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกที่ภาครัฐมีมาตรการ Lock Down ทั้งประเทศ
ขณะที่ดัชนีเดือนกุมภาพันธ์นั้น ดูเหมือนว่าจะดีขึ้นมาบ้างเล็กน้อย
จากการควบคุมโควิดที่ยังอยู่ในความสามารถดำเนินการได้ ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีต่อสถานการณ์ในเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2564 จึงเพิ่มสูงขึ้นมาก จากเดือนมกราคมในปีเดียวกัน คิดเป็น 43% ซึ่งการสำรวจครั้งนี้มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบด้วยร้านค้าปลีกสินค้าทั่วประเทศ ซึ่งมีช่องทางจำหน่ายรวมกันกว่า 23,000 แห่ง และร้านค้าปลีกบริการภัตตาคารร้านอาหารที่มีช่องทางบริการกว่า 4,000 แห่ง
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงเป็นตัวเลขที่ยังต่ำกว่าความเชื่อมั่นของเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกทั่วประเทศ เดือนมีนาคม 2564 นั้น นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า มีการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์เล็กน้อย และสูงกว่าระดับเกณฑ์ค่าเฉลี่ย 50 เมื่อเทียบกับดัชนีเดือนมกราคมต่อดัชนีเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นมาก เป็นการเพิ่มขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิดระลอกใหม่เดือนมกราคมได้คลี่คลาย ผู้ประกอบการเชื่อมั่นในมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาด ควบคู่กับการทำโปรโมชันของร้านค้า
ทว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก (Retail Sentiment Index) เดือนเมษายน 2564กลับตรงกันข้าม เพราะนายฉัตรชัย กล่าวว่า ตัวเลขRSIได้ปรับลดลงกว่า 43% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม2564โดยดัชนีปรับลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 อย่างชัดเจน ใกล้เคียงกับดัชนีความเชื่อมั่นเดือนเมษายน 2563
“ตัวเลขนี้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ลดลง หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสามในเดือนเมษายน กระจายเป็นวงกว้างกว่าที่ผ่านมา ประกอบกับกำลังซื้อที่ฟื้นตัวช้าเป็นปัจจัยที่เพิ่มความกังวลให้แก่ผู้ประกอบการ” นายฉัตรชัย กล่าว
จากดัชนี้เหล่านี้ทำให้เรามองเห็นว่า ความเชื่อมั่นของผู้ํ้ค้าปลีกยังคงไม่มีอะไรที่แน่นอน หรือยังไม่มีเสถียรภาพแต่อย่างใด
ทั้งนี้ช่วงมกราคม ผู้ประกอบการค้าปลีกมีการประเมินผบกระทบไว้ดังนี้ว่า 1.ผลกระทบด้านยอดขายลดลง10-30%, 2.ยอดขายที่หายไปจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19ระลอกแรกเมื่อต้นปีที่แล้วจนมาระลอกใหม่เมื่อต้นปี2564นี้ สภาพคล่องที่เหลืออยู่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อีกไม่เกิน 6 เดือน, ผู้ประกอบการกว่า 80% ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงมากกว่า 25% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2563
ส่วนผลบวกของเดือนกุมภาพันธ์สรุปได้ว่า
1.ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายสาขาเดิมเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมทุกภูมิภาค, 2. ค่าใช้จ่ายต่อบิล และความถี่ในการจับจ่ายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 เพิ่มสูงกว่าเดือนมกราคม 12% แต่ยังต่ำกว่าค่าใช้จ่ายต่อบิลในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563, 3.ยอดการใช้บริการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 20% หลังร้านค้าปลีกเปิดทำการได้ตามปกติ และ กำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มพื้นตัวจากเดือนมกราคม เนื่องจากผู้บริโภคคลายความกังวล จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการใช้จ่ายช่วงตรุษจีน, 4.ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการแยกตามประเภทร้านค้าปลีก ทุกประเภทร้านค้าปลีกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะร้านค้าปลีกประเภทภัตตาคาร ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 แต่กลับสวนทางกับร้านค้าประเภทสะดวกซื้อที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 เป็นผลจากร้านค้าประเภทสะดวกซื้อไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ เป็นต้น
สำหรับเดือนมีนาคม ผลที่ได้รับนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อการเติบโตยอดขายสาขาเดิมเดือนมีนาคม ปีนี้เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ปีที่แล้ว มีทิศทางที่ดีเพิ่มขึ้นมากสูงกว่าระดับเกณฑ์ค่าเฉลี่ยที่ 50 ยอดขายสาขาเดิมของปีนี้เพิ่มขึ้นสูงกว่ายอดขายสาขาเดิมเมื่อปีที่แล้วในช่วงเดือนมีนาคมเดียวกันอย่างชัดเจน
ยอดจับจ่ายต่อบิลลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ สะท้อนถึงกำลังซื้อที่ลดลงและยังฟื้นตัวไม่ดีมาก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจัยความถี่ในการจับจ่ายเดือนมีนาคมกลับสูงกว่าเดือนกุมภาพันธ์เล็กน้อย และก็สูงกว่าดัชนีปัจจัยความถี่ในการจับจ่าย (Frequency on Shopping) หลายเดือนที่ผ่านมา ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมแยกตามภูมิภาค
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายสาขาเดิมแยกตามภูมิภาค จะพบว่าเดือนมีนาคม กรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ยกเว้นภาคกลาง และภาคใต้ ที่ดัชนีความเชื่อมั่นทรงตัว
ล่าสุดกับดัชนีแนวโน้มของเดือนเมษายนนี้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อการเติบโตยอดขายสาขาเดิมเดือนเมษายนเทียบเดือนมีนาคม ลดลงกว่า 40% เกือบครึ่ง ซึ่งเป็นการลดลงทั้งยอดซื้อต่อบิลและความถี่ในการจับจ่าย
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมรายภูมิภาคปรับลดลงจากเดือนเมษายนในทุกภาค
สะท้อนถึงสภาวะความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่กระจายทุกภูมิภาค โดยเฉพาะดัชนีที่ลดลงชัดเจน กรุงเทพปริมณฑล และภาคใต้ ที่เป็น Super Spread หลัก
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการจำแนกตามประเภทความร้านค้าปลีก
เปรียบเทียบระหว่างเดือนเมษายนและเดือนมีนาคม พบว่า ลดลงอย่างชัดเจนและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ในทุกประเภทร้านค้าปลีก ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนทรงตัวเท่าเดิม สะท้อนถึงผู้ประกอบการร้านค้าปลีกไม่มีความหวังและความมั่นใจในมาตรการภาครัฐที่จะฟื้นกำลังซื้อกลับมาได้เร็ว
ยกเว้นร้านค้าปลีกประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่งและซ่อมบำรุง ที่ปรับลดต่ำกว่าเดือนมีนาคมเล็กน้อย
ผลสำรวจดัชนีดังกล่าวทั้ง4เดือนที่ผ่านมายังชี้ให้เห็นถึง ความเดือดร้อนของผู้ประกอบการตค้าปลีกต่างๆได้อย่างดีว่าเป็นเช่นไร
อีกทัั้งยังสะท้อนมาได้จาก ข้อเสนอและแนวทางต่างๆที่ผู้ค้าปลีกโดยทางสมาคมฯที่ร้องเรียนและยื่นข้อเสนอให้กับทางภาครัฐไปหลายประการในทุกครั้งทุกเดือน ดูเหมือนว่าอาจจะยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร หรือได้แต่ไม่ตรงกับเป้าหมายนัก เพราะสังเกตุได้ว่า ข้อเสนอต่างๆทุกเดือนจะคล้ายๆกันตลอดทุกประเด็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
โดยเฉพาะประเด็นหลักคือ เรื่องของเงินและต้นทุนดำเนินการต่างๆ ท่ามกลางการไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้เต็มที่ โดยที่มีรายจ่ายต่อเนื่อง เพราะรายรับแทบไม่มี
ทั้งนี้ผู้ประกอบการเสนอแนะให้ภาครัฐช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องอย่างเร่งด่วนด้วยมาตรการภาษีลดภาระค่าใช้จ่าย และสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แก่ผู้ประกอบการโดยเร็ว เนื่องจากด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 6 เดือนและอยากให้ภาครัฐประกาศการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงเพื่อให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยให้ใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน
ถัดมาเดือนกุมภาพันธ์ สมาคมฯ ก็ยังคงตอกย้ำและกระตุ้นภาครัฐ ให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีก เรื่องสภาพคล่องอย่างเร่งด่วนด้วยมาตรการภาษี ลดภาระค่าใช้จ่าย และสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพราะด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่ของผู้ประกอบการค้าปลีกจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อีกเพียง 6 เดือน พร้อมให้ภาครัฐประกาศการจ้างงานแบบรายชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับกรบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยให้ใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน
ส่วนเดือนมีนาคมจะเน้นไปที่เรื่องของการกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภคเป็นหลัก รวมถึงเพิ่มช่องทางการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและเงินสนับสนุนจากรัฐให้หลากหลาย กับเรื่องวัคซีน โดยสร้างความเชื่อมั่นในมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาด และการเร่งฉีดวัคซีนแก่ผู้เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง