ราคาหุ้นเหล็กพาเหรดขยับถ้วนหน้าตั้งแต่ปลายปีก่อนยาวมาจนถึงปัจจุบัน เหตุความต้องการเหล็กในตลาดโลกพุ่ง อีกทั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 คลาย ขณะปริมาณการผลิตลดลง ดันราคาเหล็กทะยานต่อเนื่อง กูรูประเมินราคาเหล็กจะขยับไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน โบรกฯ คาดหุ้นเหล็กเพิ่มแค่ช่วงสั้น หวั่นรัฐคุมกระทบราคา
ทิศทางราคาเหล็กโลกที่ยังเป็นช่วงขาขึ้น โดยปัจจัยหนุนราคาทางพื้นฐานของอุตสาหกรรม คือ ดีมานด์ในตลาด เพราะสินแร่เหล็กต้นน้ำในออสเตรเลียที่ขาดแคลน รวมถึงจีนต้องการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมเหล็กลง 30% ส่งผลให้โรงเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานต้องปิดตัวลง บวกกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดเริ่มคลี่คลาย
ดีมานด์พุ่ง-เศรษฐกิจฟื้นหลังโควิด-19 ซาลง
การที่ราคาเหล็กแพงขึ้น เพราะ Demand เหล็กทั่วโลกฟื้นตัวกลับมาระดับสูงขับเคลื่อนจากภาคการผลิตและภาคก่อสร้าง แต่ Supply เหล็กในจีนไม่เพียงพอต่อความต้องการเพราะเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ฝ่ายวิจัยคาดว่าราคาเหล็กยังมีทิศทางที่เป็น Upside Trend ไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน จากปริมาณเหล็กในตลาดโลกลดลง ซึ่งนโยบายของรัฐบาลจีนในการจำกัดการส่งออกเหล็กและการลดกำลังการผลิตในประเทศตามแผนแม่บทปี 2564 ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งความต้องการในตลาดโลกสูงขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
ข้อมูลจาก Metal Bulletin พบว่า แร่เหล็ก และเศษเหล็กในเดือนเมษายน 2564 มีราคาอยู่ที่ 162 และ 432 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจาก 83 และ 205 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น 119% และ 110% ตามลำดับ
ขณะที่ราคาสินค้าเหล็กทรงยาว เช่น เหล็กเส้น และวัตถุดิบอย่างเหล็กแท่งเล็ก หรือบิลเล็ตก็ราคาพุ่ง โดยเดือนเมษายนปีนี้ราคาอยู่ที่ 645 และ 810 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันตามลำดับ เพิ่มขึ้นจาก 378 และ 441 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น 71% และ 84% ตามลำดับ รวมทั้งกลุ่มสินค้าเหล็กทรงแบนต่างก็ปรับเพิ่มทั้งสิ้น
ทั้งนี้ปี 2564 จีนยังมีความต้องการใช้เหล็กเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยความต้องการใช้เหล็กในประเทศจีนไตรมาสแรกเติบโตขึ้น 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าทั้งปี ประเทศจีนจะมีความต้องการใช้เหล็กราว 1,025 ล้านตัน ซึ่งจีนมีการลงทุนตั้งแต่ต้นปีนี้เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโตขึ้นอย่างมหาศาล เช่น การผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น 89.9% การลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเขตเมืองเติบโต 38.3% การลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเติบโต 34.1% เป็นต้น
จากราคาเหล็กที่พุ่งสูง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลปัญหาราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นมาก เพื่อลดผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีเหล็กเป็นวัตถุดิบหลัก เพื่อดูแลให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ เป็นการป้องกันความเสี่ยง รวมถึงลดผลกระทบต่อผลประกอบการและการจ้างงาน
หุ้นเหล็กอาจขยับแค่ช่วงสั้น
นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.กรุงไทย ซีมิโก้ กล่าวว่า ราคาหุ้นกลุ่มเหล็กปรับตัวขึ้นในช่วงนี้จากแรงเก็งกำไรที่เข้ามาอย่างหนาแน่นหลังจากราคาเหล็กโลกปรับขึ้นทำนิวไฮ แม้ว่าราคาหุ้นกลุ่มเหล็กจะปรับตัวขึ้นมาแรงมากแล้ว แต่หากราคาเหล็กโลกยังมีทิศทางสูงขึ้นไปต่อได้ก็ยังเล่นเก็งกำไรได้ แต่อาจเป็นแค่ Short term จากวิกฤตที่มีเพียงแค่ครั้งเดียว อีกทั้งกลุ่มเหล็กในไทยมีปัญหาหนี้อยู่มาก ดังนั้น การปรับตัวขึ้นราคาเหล็กคงมีเพียงแต่เจ้าหนี้และเจ้าของธุรกิจเท่านั้นที่พอใจ
นอกจากนี้ กลุ่มเหล็กยังต้องระมัดระวังนโยบายด้านภาษีของภาครัฐเพื่อดูแลไม่ให้ราคาเหล็กปรับขึ้นมากเกินไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจากต้นทุนที่แพงขึ้น พร้อม ให้ติดตามทิศทางราคาเหล็กโลกอย่างใกล้ชิด เพราะเมื่อใดที่ราคาอ่อนตัวลงก็จะมีผลต่อราคาหุ้นในกลุ่มเหล็กทันที ดังนั้น จะต้องระมัดระวังการเล่นเก็งกำไรหุ้นในกลุ่มเหล็กด้วย และหุ้นในกลุ่มเหล็กหลายตัวช่วงนี้ต้องระวังเข้าข่ายติดเกณฑ์ Cash Balance เพราะหลายตัวยังมีผลการดำเนินงานไม่ดี เมื่อราคาหุ้นพุ่งแรงมีโอกาสที่จะใช้เกณฑ์ดังกล่าว
หวั่นรัฐคุมส่งผลกระทบราคา
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (ASPS) มองราคาหุ้นในกลุ่มเหล็กก่อนที่จะมีคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี พบว่า พุ่งต่อเนื่อง แต่หลังจากมีคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล พบว่า ราคาหุ้นกลุ่มเหล็กมีแรงเทขายออกมาจนทำให้ราคาหุ้นหลายตัวปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นเหล็กที่ปรับลงมาคำแนะนำ ASPS ยังเชื่อมั่นว่าประเด็นนี้น่าจะกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานจำกัด ยังให้น้ำหนักไปที่ทิศทางราคาเหล็กโลกที่ยังเป็นช่วงขาขึ้น โดยปัจจัยหนุนราคาทางพื้นฐานของอุตสาหกรรมยังมีแรงหนุนจากฝั่ง Supply คือ สินแร่เหล็กต้นน้ำในออสเตรเลียที่ขาดแคลน บวกกับจีนต้องการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมเหล็กลง 30% ให้สำเร็จภายในปี 68 ส่งผลให้โรงเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานต้องปิดตัวลง
ขณะที่ฝั่ง Demand เหล็กทั่วโลกฟื้นตัวกลับมาระดับสูง ขับเคลื่อนจากภาคการผลิตและภาคก่อสร้าง แต่ Supply เหล็กในจีนที่มากถึง 50% ของโลก ไม่เพียงพอต่อความต้องการเพราะเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ฝ่ายวิจัยคาดว่าราคาเหล็กยังมีทิศทางที่เป็น Upside Trend ไปอีก 3 เดือนข้างหน้าเป็นอย่างน้อย ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตเหล็กกลางน้ำในไทยได้เร่งกำลังการผลิตขึ้นเป็น 50-60% จากเดิม 30% ในช่วงก่อนหน้า เพราะต้องการส่งออกสินค้าไปขายในตลาดต่างประเทศ
ผลงานกำไร-ขาดทุน ยืดหยุ่นบวกถ้วนหน้า
จากการรวบรวมข้อมูลการซื้อขายของหุ้นในกลุ่มเหล็ก พบว่า ราคาหุ้นกลุ่มเหล็กตั้งแต่เริ่มปี 64 ยังคงขยับต่อเนื่อง หุ้นหลายตัวราคาบวกให้เห็นมาตั้งแต่ปลายปี 63 และแทบทุกตัวราคาค่อยๆ ขยับเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน (ดูตาราง) และเมื่อเทียบราคาหุ้นวันแรกที่เปิดเทรดปีนี้และเทรดวันสุดท้ายของเดือนเมษายนจะพบว่าราคาหุ้นเพิ่มขึ้นทุกตัว
หุ้น MILL หรือบริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) ราคาเมื่อ 4 มีนาคมอยู่ที่ 0.90 บาท แต่วันต่อมาราคาหุ้นปิดที่ 1.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.13 บาทหรือ 12.62% มูลค่าซื้อขาย 66.33 ล้านบาท วันศุกร์ที่ผ่านมาราคาหุ้นปิดที่ 1.86 บาท มูลค่าซื้อขาย 66.99 ล้านบาท
ส่วนหุ้น PERM หรือ บมจ.เพิ่มสินสตีลเวิคส์ เมื่อ 9 มีนาคมปิดที่ 1.93 บาท ก่อนจะเทรดเหนือ 2 บาทในวันถัดมาและศุกร์ที่ผ่านมา ปิดที่ 3.44 บาท เพิ่มขึ้น 0.02 บาท หรือ 0.61% มูลค่าซื้อขาย 29.36 ล้านบาท
หุ้น CITY หรือ บมจ.ซิตี้ สตีล เมื่อ 11 มีนาคม ปิดที่ 1.82 บาท แต่วันถัดมาราคาหุ้นปรับไปปิดที่ 2.06 บาท และวันศุกร์ที่ผ่านมาราคาหุ้นปิดที่ 2.76 บาท ลดลง 0.04 บาท หรือ 1.47% มูลค่าซื้อขาย 1.77 ล้านบาท
และหุ้น TGPRO หรือ บมจ.ไทย-เยอรมัน โปรดักส์ ราคาหุ้นเพียงไม่กี่สตางค์ เมื่อขึ้นสู่ปี 64 ราคาหุ้นเทรดที่ 0.12 บาท เพิ่มขึ้น 0.03 บาท หรือ 30% มูลค่าซื้อขาย 10.23 ล้านบาท และเมื่อเดือนมีนาคม ราคาหุ้นขยับขึ้นไปเทรดที่ 0.20 บาท ก่อนจะค่อยๆ ขยับไป 0.42 บาทได้เมื่อ 27 เมษายนเพิ่มขึ้น 0.03 บาท หรือ 7.50% มูลค่าซื้อขาย 606.15 ล้านบาท
หุ้น บมจ.บางสะพานบาร์มิล หรือ BSBM ราคาหุ้นเทรดต่ำกว่า 1 บาทมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ขยับมาเทรดที่ 1.02 บาท เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 0.04 บาท คิดเป็น 3.96% และราคาขยับไปที่ 2.08 บาท เมื่อ 27 เมษายน
ขณะที่บริษัท โพสโค-ไทยน๊อคซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ INOX ราคาหุ้นเทรดต่ำกว่า 1 บาทยาวมาแต่ขยับเพิ่มเมื่อ 21 เมษายนปิดที่ 1.04 บาท เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 0.09 บาทหรือ 9.28% มูลค่าซื้อขาย 273.66 ล้านบาท
หุ้น MCS หรือ บมจ.เอ็ม.ซี.เอส.สตีล เรียกว่าหุ้นแกร่งแข็งแรงสุดๆ ของกลุ่มที่ราคาไม่ถูกนักเมื่อเทียบหลายตัวในกลุ่มเพราะราคาเทรดอยู่ที่ 10 กว่าบาท ซึ่งราคาหุ้นขยับเพิ่มไปเทรดเหนือ 15 บาทได้ตั้งต้นเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ล่าสุด วันศุกร์ที่ผ่านมาราคาหุ้นปิดที่ 13 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน
ส่วน บมจ.สามชัย สตีล อินดัสทรี หรือ SAM ราคาหุ้นเทรดต่ำกว่า 1 บาทมาตลอด และเมื่อวันที่ 21 เมษายน ราคาหุ้นเพิ่งปรับขึ้นไปที่ 1.06 บาท เพิ่มขึ้น 0.13 บาท หรือ 12.50% มูลค่าซื้อขาย 115.88 ล้านบาท และเมื่อ 27 เมษายน ราคาหุ้นขยับไปปิดที่ 2.36 บาท เพิ่มขึ้น 0.03 บาท หรือ 1.59% มูลค่าซื้อขาย 2,215.89 ล้านบาท
หุ้น บมจ.ทาทา สตีล (ประเทศไทย) หรือ TSTH ราคาหุ้นเทรดต่ำกว่า 1 บาทมาตลอดและขยับมาเหนือ 1 บาทเมื่อ 5 เมษายน ปิดที่ 1.04 บาท และเมื่อ 27 เมษายน ราคาหุ้นพุ่งไปเทรดที่ 2.36 บาท
ส่วน CSP หรือ บมจ.ซีเอสพี สตีลเซ็นเตอร์ ราคาเทรดต่ำกว่า 1 บาท กระทั่ง 2 มีนาคมปีนี้ราคาขยับไปที่ 1.04 บาท เพิ่มขึ้น 0.13 บาทหรือ 14.13% ก่อนราคาจะขยับไปเทรดที่ 2.14 บาท เมื่อ 22 เมษายนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 0.08 บาท หรือ 3.81% มูลค่าซื้อขาย 5.02 ล้านบาท
หุ้น CEN หรือ บมจ.แคปปิทอล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ตเวิร์ค เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาปิดที่ 1.88 บาท เพิ่มขึ้น 0.03 บาท หรือ 1.62% มูลค่าซื้อขาย 6.80 ล้านบาท ซึ่ง CEN เป็นอีกตัวหนึ่งที่ราคาหุ้นเทรดต่ำกว่า 1 บาท เมื่อ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ราคาหุ้นเทรดเหนือ 1 บาท เพิ่มขึ้น 0.24 บาท หรือคิดเป็น 28.92% มูลค่าซื้อขาย 18.37 ล้านบาท และบางวันราคาหุ้นเทรดเหนือ 2 บาท 92
สำหรับ GJS หรือ บมจ.จี เจ สตีล ราคาหุ้นล่าสุด 0.48 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน .ซึ่งราคาหุ้น GJS ไม่เคลื่อนไหวตต่อข่าวราคาเหล็กพุ่งแต่อย่างใด เพราะราคาหุ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดจากวันก่อนหน้าที่ผ่านมา
ขณะที่ THE หรือ บมจ.เดอะ สตีล ราคาหุ้นปิดเทรดวันศุกร์ที่ 3.10 บาท ลดลง 0.04 บาทหรือ 1.27% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.35 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านั้นราคาหุ้นเทรดกันที่ราคา 1 บาทกว่า กระทั่งเดือนมีนาคมที่ผ่านมาราคาหุ้นขยับเพิ่มต่อเนื่อง จนเทรดเหนือ 2 บาท และปรับขึ้นมาเกิน 3.46 บาทเมื่อ 28 เมษาย เพิ่มขึ้น 0.04 บาทหรือ 1.27% มูลค่าซื้อขาย 2.80 ล้านบาท
และ TWP หรือ บมจ.ไทยไวร์โพรดัคท์ ราคาปิดล่าสุดที่ 4.30 บาท ลดลง 0.02 บาท หรือ 0.46% ซึ่งตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นเทรดที่ 1 บาทปลายๆ ก่อนสิ้นปีราคาหุ้นขยับขึ้นไปเทรดเหนือ 2 บาทได้เมื่อ 23 ธันวาคม 63 เรื่อยมาจนถึงปี 64 และเมื่อ 24 มีนาคมราคาหุ้น TWP ปิดที่ 4.10 บาท ลดลง 0.22 บาท หรือ 5.61% มูลค่าซื้อขาย 9.94 ล้านบาท
และ TMT หรือ บมจ.ทีเอ็มที สตีล ปิดล่าสุดที่ 12.40 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือ 2.36% มูลค่าซื้อขาย 24.92 ล้านบาท เป็นหุ้นอีกตัวหนึ่งของกลุ่มที่มีราคาขยับขึ้นต่อเนื่องเพราะตั้ง พ.ย.63 ราคาหุ้นเทรดกันระดับ 4 บาทกว่าๆ ก่อนขยับไปเหนือ 5 บาท และเดือนธันวาคม หุ้นเทรดที่ 6 และปิดเทรดในปี 63 ด้วยราคา 7.20บาท เพิ่มขึ้น 0.05 บาทหรือ 0.70 % มูลค่าซื้อขาย 7.88 ล้านบาท และในปี 64 หุ้น TMT ราคาพุ่งต่อเนื่องไปจนแตะ 13.20 บาทได้เมื่อ 29 เมษายนที่ผ่านมา
ส่วน SSSC หรือ บมจ.ศูนย์บริการเหล็กสยาม ปิดล่าสุดด้วยราคา 3.32 บาท เพิ่มขึ้น 0.02 บาท หรือ 0.61% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.14 ล้านบาท หากดูจากราคาหุ้นแล้วตั้งแต่ปลายปี 63 ราคาหุ้นเทรดที่ 1 บานปลายๆ ก่อนจะขยับไปเทรดที่ 2 บาทกว่า และเรื่อยมาจนยืนเหนือ 3 บาทได้เมื่อเดือนเมษายน
และ TYCN หรือ บมจ.ไทยคูน เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) ราคาหุ้นปิดล่าสุดที่ 3.20 บาท ลดลง 0.02 บาทหรือ 0.62% มูลค่าซื้อขาย 195.54 ล้านบาท เมื่อมองราคาย้อนหลังจะพบว่าหุ้นเทรดกันที่ 1 บาทกว่า และขยับไปเหนือ 2 บาทนานก่อนจะขยับขึ้นไปอีกรับข่าวราคาเหล็กแพง
ขณะที่ LHK หรือ บมจ.โลหะกิจ เม็ททอล ปิดล่าสุดที่ 3.46 บาท ลดลง 0.02 บาท หรือ 0.57% มูลค่าซื้อขาย 1.68 ล้านบาท ซึ่งเป็นหุ้นอีกตัวหนึ่งที่เทรดกันระดับ 2 บาทกว่ายาวนาน เมื่อเดือนมีนาคมปี 64 ราคาเทรดเหนือ 3 บาท ได้รับข่าวราคาเหล็กพุ่ง
สำหรับ PAP หรือ บมจ.แปซิฟิกไพพ์ ราคาหุ้นปิดล่าสุดที่ 4.82 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า ซึ่งหุ้น PAP ราคาขยับต่อเนื่องมาจากปลายปี 63 ที่เทรดกันระดับ 2-3 บาท ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ราคาหุ้นขยับมา 4 บาท และเกือบแตะ 5 บาทในเดือนเมษายน
ส่วน SMIT บมจ.สหมิตรเครื่องกล ราคาหุ้นปิดล่าสุดที่ 4.58 บาท เพิ่มขึ้น 0.04 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.04 บาท คิดเป็น 0.88% ขณะที่ราคาย้อนหลังพบว่า เทรดที่ราคา 3 บาทกว่า ก่อนจะขยับไปเหนือ 4 บาทได้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ตามด้วย PAP หรือบริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน) ราคาหุ้นปิดล่าสุดที่ 4.80 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า ซึ่งราคาหุ้นปรับเพิ่มจาก 3 บาทเมื่อเดือนเมษายน ขยับจากปีก่อนที่เคยเทรดกันในราคาเพียง 2 บาทปลายๆ ก่อนเพิ่มมาสู่ 3 บาทกว่าในเดือนธันวาคม 63
AMC ปีนี้โตทะลุ 10% กำไรสต๊อกเหล็ก
สำหรับ AMC หรือ บมจ.เอเซีย เมทัล ปิดล่าสุดที่ 3.90 บาท เพิ่มขึ้น 0.20 บาท เพิ่มขึ้น 5.41% มูลค่าซื้อขาย 32.07 ล้านบาท จากปลายปีก่อนที่ผ่านมา ราคาหุ้นเทรด 1 บาทปลายๆ และปิดที่ 2.52 บาทเมื่อสิ้นปี 63 และเมื่อขึ้นศักราชใหม่ ราคาหุ้นยังคงเทรดระดับเดียวกัน ก่อนจะขยับขึ้นไปเทรดที่ 3 บาทเมื่อปลายเดือนมีนาคม และ 27 เมษายน ราคาหุ้นขยับขึ้นไปแตะ 4.08 บาทได้
นายชูศักดิ์ ยงวงศ์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้นใหญ่ AMC เผยว่า ราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับขึ้นต่อเนื่องขณะนี้เป็นผลมาจากดีมานด์ในต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะจีนที่ใช้เหล็กมากสุดในโลกถึง 55% และจากข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในปี 2563 จีนนำเข้าสินค้าเหล็กจากประเทศต่างๆ มากถึง 18.3 ล้านตัน โดยเหล็กแผ่นรีดร้อนมากสุดถึง 9.9 ล้านตัน เหล็กแผ่นรีดเย็น 3.8 ล้านตัน และเหล็กแผ่นเคลือบ 2.4 ล้านตัน ซึ่งสินค้าเหล็กที่จีนซื้อในตลาดโลกจึงขาดแคลนและราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง
ดังนั้น จึงส่งผลให้ราคาเหล็กรีดร้อนในเอเชียปรับตัวขึ้น 20% ซึ่งไตรมาสแรกปีนี้ AMC ได้รับผลบวกกำไรจากสต๊อกเหล็กเข้ามาส่วนหนึ่ง ขณะที่ราคาขายก็ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุน ส่งผลดีต่รายได้ที่จะกลับสู่บริษัท อันจะทำให้ผลงานไตรมาสแรกเติบโตทะลุ 10% และ AMC เตรียมแผนลงทุนสร้างโรงงานผลิตเหล็กม้วนชนิดพิเศษ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อใช้เองและเกื้อหนุนพันธมิตร อันจะช่วยลดต้นทุนลงคาดเริ่มผลิตปี 2565 รวมทั้งลงทุนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและยานยนต์มากขึ้นเพิ่มช่องทางสร้างรายได้
จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่า ราคาหุ้นเหล็กบวกเพิ่มต่อเนื่องไม่เว้นแม้แต่หุ้นที่มีผลประกอบการขาดทุน บางตัวทะยานสูง นั่นอาจเพราะส่วนหนึ่งราคาหุ้นเหล็กราคาต่ำมาก ต่างจากในอดีตที่ราคาหุ้นเหล็กแข็งแกร่งไม่น้อยอีกทั้งราคาเหล็กพุ่งต่อเนื่อง ย่อมส่งผลดีต่อผู้ประกอบการผลิตเหล็ก แต่อย่างไรเสียต้องประเมินจากตลาดโลกด้วยว่าความต้องการเหล็กจะต่อเนื่องไปอีกนานเพียงใด