xs
xsm
sm
md
lg

กนง.ชูวัคซีนพระเอกดันเศรษฐกิจปี 64-65 โต 3-5.7%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ดนโยบายการเงินคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อปี หวังช่วยพยุงเศรษฐกิจรับผลกระทบโควิด-19 ระลอก 3 เล็งปรับประมาณการจีดีพี หวังวัคซีนจะเป็นพระเอกดันเศรษฐกิจปี 2564-2565 โตได้ 3-5.7% เร่งผลักดันมาตรการเดิมกระจายสินเชื่อซอฟต์โลนและโอนหลักทรัพย์ให้เร็ว ตรงจุด พร้อมออกมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือเอสเอ็มอีและภาคครัวเรือนเพิ่มเติม หากผลกระทบเพิ่มมากขึ้น

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยถึงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมากจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศและแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบันคือ การจัดหาและการกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทันการณ์ ในส่วนของด้านการเงิน มาตรการที่สำคัญคือการกระจายสภาพคล่องไปยังธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะมาตรการสินเชื่อและการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยลดภาระทางการเงินได้อย่างตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำและยังสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมากจากการระบาดระลอกที่ 3 ซึ่งกระทบการใช้จ่ายในประเทศ และแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากการเปิดประเทศที่ช้ากว่าคาดและนโยบายจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน สำหรับแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยมาจากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่ผลดีต่อการจ้างงานในตลาดแรงงานโดยรวมยังมีจำกัด ขณะที่มาตรการเยียวยาและมาตรการการเงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะมีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่แรงกระตุ้นภาครัฐในปีงบประมาณ 2565 อาจลดลงบ้างจากการเร่งเบิกจ่าย พ.ร.ก.กู้เงินในปีงบประมาณปัจจุบัน สำหรับความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ได้แก่

(1) การกระจายและประสิทธิผลของวัคซีนป้องกัน COVID-19 (2) การฟื้นตัวที่แตกต่างกันและไม่ทั่วถึง ทำให้ตลาดแรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น และส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนและการบริโภคภาคเอกชน และ (3) ฐานะการเงินที่เปราะบางเพิ่มเติม โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงตามรายได้ที่ลดลง ขณะที่ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ลดลงทำให้ความสามารถในการรองรับค่าใช้จ่ายได้ลดลง


กนง.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิต ถึงผลกระทบจากโควิด-19 ระลอก 3 รวมถึงเตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 และ 2565 โดยมองว่า การฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้เร็วและทั่วถึงจะเป็นพระเอกในการช่วยให้การเติบโตของเศรษฐกิเป็นไปตามเป้าหมายได้ถึง 3.0-5.7% รวมถึงนักท่องเที่ยว และการจ้างงานจะกลับมาดีตามไปด้วย โดยประเมินสถานการณ์ไว้ 3 กรณี คือ

กรณีที่ 1 จัดหาและกระจายวัคซีนเพิ่มเติม (100 ล้านโดส)ส่งผลให้จีดีพีปี 64 อยู่ที่ 2% และปี 65 อยู่ที่ 4.7% การว่างงาน/เสมือนการว่างงาน 2.7 ล้านคน

กรณีที่ 2 จัดหาวัคซีนได้ตามแผนเดิม (ฉีดวัคซีนได้ 64.6 ล้านโดส) ส่งผลให้จีดีพีปี 64 อยู่ที่ 1.5% ปี 65 อยู่ที่ 2.8% หากฉีดวัคซีนช้ากระทบต่อภูมคุ้มกันหมู่ กระทบ -3 ต่อจีดีพี หรือ 4.6 แสนบ้านบาท กระทบการว่างงาน 2.8 ล้านคน

กรณีที่ 3 จัดหาวัคซีนและกระจายได้ช้ากว่าแผนเดิม (น้อยกว่า 64.6 ล้านโดส) ส่งผลให้จีดีพีปี 64 อยู่ที่ 1.0% ปี 65 อยู่ที่ 1.1% มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 5.7% ต่อจีดีพี หรือ 8.8 แสนล้านบาท กระทบการว่างงาน 2.9 ล้านคน

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งขึ้นชั่วคราวในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 จากฐานราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

สภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น จึงต้องติดตามให้การขยายตัวของสินเชื่อทั่วถึงมากขึ้นหลังมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูมีผลบังคับใช้ ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยทยอยปรับลดลงจากช่วงก่อนหน้า สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด และผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการฯ เห็นว่าความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยควรเร่งมาตรการจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการการคลังควรรักษาความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นทางการคลังและ
ลดผลกระทบของการระบาด รวมทั้งสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่ออกมาเพิ่มเติมควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด ลดภาระหนี้ และสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ โดย ธปท. จะติดตามความคืบหน้าและประเมินประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่ออย่างใกล้ชิด

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ สถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ การกระจายและประสิทธิผลของวัคซีน ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาแล้ว โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น


กำลังโหลดความคิดเห็น