MTC โชว์สเต็ปความเป็นผู้นำสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์เบอร์หนึ่งของเมืองไทย ประกาศงบไตรมาส 1/64 กำไรสุทธิ 1,374 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.02% สร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง สวนกระแสโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ บิ๊กบอส "ชูชาติ เพ็ชรอำไพ" เปิดเกมรุกปูพรมขยายสาขาทั่วไทยครบ 5,500 แห่งในสิ้นปีนี้ รองรับความต้องการเข้าถึงสินเชื่อในระดับชุมชน หวังทำรายได้ และกำไรได้ตามเป้า
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ผู้นำตลาดสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม 3,857 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 8.95% มีกำไรสุทธิ 1,374 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 11.02% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดสินเชื่อคงค้างที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้มียอดสินเชื่อคงค้างกว่า 73,547 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,873 ล้านบาท หรือ 17.35% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 31 เดือนมีนาคม มีการเปิดสาขาใหม่เพิ่มเป็นจำนวน 121 สาขา ส่งผลให้บริษัทฯ มีสาขา 5,005 สาขา กระจายทั่วประเทศ
"การเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้บริษัทฯ ปรับแผนการดำเนินงานบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ได้ทำให้การดำเนินงานของบริษัทฯ สะดุดแต่อย่างใด เรายังคงเดินหน้าขยายสาขาตามแผนเดิมที่วางไว้ โดยในปีนี้ได้วางงบลงทุนสำหรับการขยายสาขาไว้ที่ 300 ล้านบาท รองรับแผนเปิดเพิ่มอีก 600 สาขา ซึ่งคาดว่าจะครบ 5,500 สาขา ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อรองรับความต้องการสินเชื่อของกลุ่มลูกค้าตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อยที่ต้องการสินเชื่อที่ไม่ยุ่งยาก เป็นธรรม และลดการพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ บริษัทฯ หวังผลักดันพอร์ตสินเชื่อเติบโต 20-25% และวางเป้าคุมเอ็นพีแอลไม่เกิน 2%"
นอกเหนือจากแผนปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ ซึ่งในแต่ละปีมีลูกค้าเป็นจำนวนมากที่ต้องการซื้อรถจักรยานยนต์คันใหม่ จากจุดแข็งของบริษัท ที่มีฐานลูกค้ามากกว่า 2 ล้านราย ทำให้มีโอกาสขยายตลาดได้อีกมาก
ประธานกรรมการบริหาร MTC กล่าวเสริมอีกว่า แม้จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ด้วยประสบการณ์ของทีมงานผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจมายาวนานเกือบ 3 ทศวรรษ ยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพสินเชื่อที่รัดกุม เพื่อป้องกันความเสี่ยงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคในครั้งนี้ไปได้ด้วยดีเหมือนเช่นปีที่ผ่านมา