ภาพรวมธีมลงทุนหลังไตรมาสแรกปี 64 ดัชนีหุ้นไทยใกล้ถึงจุดอิ่มตัว กูรูให้น้ำหนัก “หุ้นขนาดกลาง-เล็ก” ที่ราคายังมีอัปไซด์ พร้อมการลงทุนในต่างประเทศรับเศรษฐกิจโลกฟื้น เชื่อกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมจะกลับมาเดินหน้า ระยะยาวตลาดหุ้นไทยยังคงน่าสนใจในการลงทุน แนะควรมีหุ้นไทย Old Economy Theme ติดพอร์ตคู่กับกระจายการลงทุนไปยังหุ้น New Economy เพื่อไม่ให้พลาดผลตอบแทนบางช่วง รวมถึงลดความผันผวนของพอร์ต
ดัชนีหุ้นไทยเพิ่งจะขยับขึ้นไปยืนเหนือระดับ 1,600 จุดได้ไม่นาน แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่กำลังเกิดขึ้นก่อนเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ได้กดดัชนีหลักทรัพย์ร่วงไปแล้วกว่า 40 จุด และยังมีโอกาสลดลงไปมากกว่านี้ หากสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่สามารถคลี่คลายหรือควบคุมได้
ก่อนหน้าการแพร่ระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น ต้องยอมรับนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศของรัฐบาลกำลังประสบผล เพราะบรรดากูรูด้านการลงทุนต่างเชื่อว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว และมีโอกาสที่สิ้นปีดัชนีหลักทรัพย์จะสามารถขึ้นไปถึง 1,650 จุด
แต่หากพิจารณาจากดัชนีในช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 หลายฝ่ายมองว่า Set Index ใกล้ถึงจุดอิ่มตัว หรือมีโอกาสปรับขึ้นได้ไม่มากแล้ว จนทำให้เริ่มมีกระแสแนะนำปรับเปลี่ยนการลงทุน และเมื่อบวกกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ยิ่งทำให้ความน่าสนใจต่อตลาดหุ้นไทยถูกลดทอนลงไป
ดังนั้น เมื่อความเชื่อมั่นลดลง หนีไม่พ้นที่จะเกิดการเทขายเพื่อโยกย้ายเงินลงทุน โดย ณ เวลานี้นักลงทุนบางส่วนเลือกที่จะถือเงินสดไว้ในมือเพื่อรอดูสถานการณ์ก่อนตัดสินใจกลับเข้าไปลงทุนในหุ้นอีกครั้ง และอีกส่วนกำลังพิจารณาปรับลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทย และให้น้ำหนักต่อการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ เข้ามาทดแทนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า
เหตุผลสำคัญมาจากการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET TRI) ติดลบกว่า 5.24% เนื่องจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจ และมีสัดส่วนหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากวิกฤตดังกล่าวค่อนข้างน้อย
แต่จากแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2564 เริ่มฟื้นตัวได้ จึงประเมินเป้าดัชนีหุ้นไทยในสิ้นปีนี้ที่ระดับ 1,600 จุด และมีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะปรับเพิ่มเป้าหมายดัชนีหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด ทำให้หากหุ้นไทยเกิดการปรับฐานอีกครั้ง หลายฝ่ายมองว่าเป็นโอกาสในการปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนที่ดีขึ้น
โดยรวมแม้ตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมาจะสามารถปรับระดับขึ้นมาได้ค่อนข้างดี แต่หากเทียบกับตลาดหุ้นหลักอื่นๆ ในโลก เช่น สหรัฐฯ จีน พบว่าตลาดหุ้นไทยยังปรับระดับขึ้นมาได้ช้ากว่าตลาดหุ้นอื่นๆ สาเหตุเป็นเพราะประเภทธุรกิจในตลาดส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเก่าที่กระจุกตัวอยู่ ไม่ได้มีอุตสาหกรรมใหม่เพิ่มเข้ามามากนัก รวมถึงยังมีผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ที่เหลืออยู่ ทำให้หุ้นไทยยังปรับตัวขึ้นได้ไม่มาก หากเทียบกับตลาดต่างประเทศ อีกทั้งในด้านมูลค่าหุ้นปรับขึ้นมาอยู่ในระดับที่แพงมากแล้ว โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ซึ่งเป็นหุ้นเกี่ยวข้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจ
ไม่เพียงเท่านี้ ตลาดหุ้นไทยยังถูกกดดันจาก การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่หากอัตราดอกเบี้ยมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลลบต่อค่าเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ รวมทั้งตลาดหุ้นไทย ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนลดลง รวมถึงปัจจัยในประเทศ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ต้องจับตาว่า รัฐบาลจะดำเนินการได้ดีเพียงใด เพราะจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต รวมถึงความตึงเครียดทางการเมืองที่ยังมีแรงกดดันอยู่ด้วย
ลงทุนหุ้น “กลาง-เล็ก” รับเติบโต
แนวทางการเลือกลงทุนในหุ้นขนาดกลาง-เล็ก เกิดขึ้นจากในหลายอุตสาหกรรมมีแนวโน้มธุรกิจที่น่าสนใจ เริ่มที่หุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ หรือสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร เนื่องจากอุตสาหกรรมมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องตามการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ ถัดมาคือหุ้นในกลุ่มธุรกิจ New S-Curve หรือหุ้นที่ได้รับประโยชน์จาก mega trend เช่น หุ้นที่เกี่ยวข้องกับกัญชง หลังรัฐบาลไทยได้ปลดล็อกกัญชงให้เอกชนสามารถนำพืชชนิดนี้มาใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ และที่ผ่านมา โดยภาพรวมแล้วหลังวิกฤตเศรษฐกิจ หุ้นขนาดกลาง-เล็กจะปรับตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเช่นกัน
“โรเบิร์ต เพนนาโลซา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด แสดงความเห็นว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกในมุมมองของบริษัทคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นแรงหนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงหรือตลาดหุ้นทั่วโลก เนื่องจากการแจกจ่ายวัคซีนที่ทำได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
"เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนจะเป็นตัวผลักดันหลัก ซึ่งในสหรัฐฯ มีการเริ่มฉีดวัคซีนได้เร็ว เริ่มจาก 1 แสนคนต่อวัน เพิ่มเป็น 2 ล้านคน ต่อวัน ซึ่งเป้าหมายอยู่ที่ 4 ล้านคนต่อวัน เพื่อให้มีคนฉีดวัคซีน 50% ของประชากรในครึ่งปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแรงขับเคลื่อนมากขึ้นจากเดิมในปีที่แล้วที่โตจากการบริโภคในประเทศเป็นหลัก"
และจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สินทรัพย์เสี่ยงถือเป็นการลงทุนที่เพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนได้ดี โดยเฉพาะหุ้น ขนาดเล็กทั่วโลกถือเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการเข้าลงทุน ด้วยราคาหุ้นของหุ้นกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (Large cap) ได้ปรับตัวขึ้นสูง ขณะที่หุ้นขนาดเล็ก (Small Cup) ยังคงมีแนวโน้มที่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ในระยะยาว ถือเป็นจังหวะดีที่นักลงทุนไทยเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ได้
โดยตลาดหุ้นขนาดเล็กทั่วโลกที่น่าสนใจ ให้น้ำหนักตลาดสหรัฐอเมริกา ตลาดหุ้นอังกฤษ ตลาดหุ้นไต้หวัน ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ส่วนตลาดหุ้นจีนก็มีความน่าสนใจเช่นกัน ส่วนกลุ่มหุ้นขนาดเล็กที่น่าสนใจ ได้แก่ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม และหุ้นกลุ่มอุปโภคและบริโภค
หุ้นโลกพักฐาน Old Economy ฟื้น
“พจน์ หะริณสุต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ แสดงความเห็นว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นในปีนี้ จากความคืบหน้าของวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งรับการอนุมัติและแจกจ่ายในหลายประเทศ โดยในปัจจุบันวัคซีนดังกล่าวถูกแจกจ่ายไปแล้วกว่า 279 ล้านโดสทั่วโลก คาดว่าวัคซีนเหล่านี้น่าจะสามารถแจกจ่ายให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) และยับยั้งการระบาดโดยธรรมชาติได้ในปีนี้ ทำให้นักลงทุนลดความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ลงไปมาก
ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นโลกภาพรวมขณะนี้เข้าสู่ช่วงการปรับฐานหลังจากขึ้นมาต่อเนื่องนับตั้งแต่จุดต่ำสุดช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ปัจจุบัน นักลงทุนหลายคนกังวลฟองสบู่ Bond Yield 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งเร่งตัวขึ้นสะท้อนมุมมองเงินเฟ้อเร่งตัวในอนาคต และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐฯ การเพิ่มขึ้นของ Yield กดดันมุมมองหุ้นเติบโตโดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีเนื่องจากราคาที่เพิ่มขึ้นไปมาก ทำให้ Earnings Yield Gap ผลต่างระหว่างปันผลตอบแทนคาดหวังเปรียบเทียบกับ Bond Yield แคบกว่าหุ้น Value ที่มี Dividend สูง
นอกจากนี้ กลุ่มหุ้นที่ราคา Laggard อยู่ จึงมีการ Switch หรือ Rotate กลุ่มลงทุนหรือเรียกว่า มีการสลับจากหุ้น New Economy Theme ที่ปรับตัวขึ้นมาโดดเด่นในรอบปีที่ผ่านมากลับไปสู่หุ้น Old Economy Theme ที่ระดับราคายังต่ำอยู่และยังไม่ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานที่ดีขึ้นมาก
เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นไม่เกิน 6 เดือน โดยเฉพาะถ้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ผ่านเป็นกฎหมาย โดยมองว่าอาจจะผ่านในกลางเดือนนี้และวงเงินแม้ว่าจะลดลงจาก 1.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาที่ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังคงเป็นวงเงินกระตุ้นที่สูงถึง 7-9% ต่อ GDP หุ้นเติบโตคุณภาพดีหลายตัวอาจมีงบการเงินออกมาดีติดต่อกันสัก 2-3 ไตรมาส (ไตรมาส 4/2563 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1-2/2564) มูลค่าที่ตลาดมองว่าแพงมากในปัจจุบันจะเริ่มแพงลดลงตามจากรายได้และกำไรที่เติบโตตามทัน
"บลจ.วรรณ มองว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกยังอยู่ในโซนขาขึ้น โดยนักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่มีมุมมองต่อการฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนจะปรับตัวดีขึ้นมากในปีนี้ และมีมุมมองที่ Bullish หุ้นค่อนข้างมาก จึงยังคงให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นต่างประเทศ โดยมองว่า พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเน้นด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ประกอบกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ได้เปิดโอกาสการเข้าถึงบริษัทดังกล่าว ทั้งที่เป็นผู้ชนะทั้งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา และเป็น Megatrend จากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ เห็นสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากหุ้น Mega-Large Cap ที่ราคาขึ้นมาสะท้อนแนวโน้มกำไรหลายปีล่วงหน้า ไปยังหุ้น Mid-Small Cap ที่แนวโน้มเติบโตสูงกว่าแต่ยังไม่สะท้อนในราคาหุ้นล่วงหน้ามากนัก”
สำหรับมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ระยะสั้นมีแนวโน้มที่หุ้น Old Economy จะกลับมา Outperform ซึ่งหุ้นบริษัทจดทะเบียนของไทยมีลักษณะนั้น ช่วงที่ผ่านมาระดับราคาไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากมุมมองการเติบโตด้อยกว่าหุ้น New Economy ทั้งนี้ หากการเดินหน้าฉีดวัคซีนทั่วโลกประสบผลสำเร็จช่วยให้กลับมาเปิดประเทศได้เร็วขึ้นจากเดิมที่มองปลายปี 2564 อย่างเร็ว อาจจะมีการทำ Travel Bubble กันตั้งแต่กลางปีนี้ ช่วยหนุนให้ทุกอย่างเริ่มกลับเป็นปกติ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีส่วนช่วยให้กำไรบริษัทจดทะเบียนอาจจะดีกว่าที่คาดไว้
อย่างไรก็ดี ในระยะยาวตลาดหุ้นไทยยังคงน่าสนใจในการลงทุน โดยแนะนำให้ผู้ลงทุนควรมีหุ้นไทย Old Economy Theme ติดพอร์ตควบคู่กับการกระจายการลงทุนไปยังหุ้น New Economy เพื่อไม่ให้พลาดผลตอบแทนในบางช่วงเวลารวมถึงช่วยลดความผันผวนพอร์ตการลงทุนจากรูปแบบการลงทุนที่แตกต่างกัน
รับการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) เชื่อว่า หลายบริษัทจดทะเบียนน่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการด้านการสาธารณสุขต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 โดยภายหลังจากการเข้าร่วมงานเสวนา "โครงการตลาดทุนพบภาครัฐ ครั้งที่ 1/2564 : กระทรวงสาธารณสุขพบนักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบัน" กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พบว่า
ประการแรกการควบคุมโควิด-19 ในประเทศยังทำได้ดี ไม่จำเป็นต้องมีการ Lockdown รอบใหม่ ประเทศไทยมีความพร้อมรับมือ โดยมียารักษาอาการปอดอักเสบสำคัญ ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ มีอยู่ราว 7 แสนเม็ด เทียบกับระดับหมื่นเม็ดในช่วงเริ่มต้นระบาดปีก่อน ทำให้พร้อมใช้งานและลดอัตราการเสียชีวิต ขณะเดียวกัน หน้ากากอนามัยมีการผลิตได้มากเพียงพอไม่ขาดแคลนและมีราคาไม่สูงผิดปกติ และการผลิตชุด PPE (Personal Protective Equipment) สำหรับแพทย์ในการรักษามีมากเพียงพอ
ประการที่สองคือ ประเทศไทยจัดหาวัคซีนสาหรับคนไทย 61 ล้านโดส เน้นไปที่ AstraZeneca เริ่มต้นที่เดือน มิ.ย.6.45 ล้านโดส จากนั้น 10 ล้านโดส จนถึงสิ้นเดือนธ.ค.64 แต่รัฐบาลมีโอกาสได้วัคซีนเร็วกว่ามิ.ย.64 นอกจากนี้ รัฐบาลมีการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac ราว 2 ล้านโดส เป็นกรณีพิเศษเพื่อป้องกันการระบาดระลอก 2 ภายในประเทศ หากกระจายทำได้เต็มศักยภาพจะครอบคลุมราว 50-60% ของจำนวนประชากรภายในสิ้นปี 2564 ไม่รวมเด็กและสตรีมีครรภ์ นอกจากนี้ การผลิตของ AstraZeneca จะเกิดขึ้นภายในประเทศไทย โดยประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตได้ราว 200 ล้านโดส ทำให้มีความมั่นคงในระยะยาว
สุดท้ายคือ แนวทางการเปิดประเทศ เริ่มทยอยลดระยะเวลาการกักตัว หากไม่มีการฉีดวัคซีนเหลือ 10 วัน แต่หากฉีดแล้วจะเหลือ 7 วัน จากนี้ไปจะยิ่งผ่อนคลายมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลจะเริ่มเปิดประเทศในเกาะภูเก็ต และเกาะสมุยเป็นเป้าหมายแรกๆ และจะขยายผลต่อไป (อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้กำลังเกิดการระบาดระลอกใหม่ในประเทศ) โดยเลือก AOT, SPA, BDMS, NOBLE, CPALL, KBANK, VGI เป็นหุ้นเด่นใน Theme การเปิดประเทศ