เมย์แบงก์ กิมเอ็ง คาดหวังประเทศฟื้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการบริโภค และการท่องเที่ยวภายในประเทศ ชี้แนวโน้มเงินบาทยังคงอ่อนค่า แนะจับตาทิศทางเศรษฐกิจต่างประเทศหนุน
ทีมวิจัย บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ประเมินว่า ประเทศไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้เร็วเช่นกัน จากความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาด และสถานการณ์ทั่วโลกที่ดีขึ้นหลังเริ่มฉีดวัคซีน แต่อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังฟื้นตัวได้ช้า จากข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่ (มูลค่าการส่งออกภาคบริการใน 4Q20 ฟื้นตัวกลับมาได้เพียง 25% เมื่อเทียบกับช่วง 4Q19) หากประเมินจากกรอบระยะเวลาการเริ่มเปิดประเทศที่จะนำร่องจังหวัดภูเก็ต ในเดือน ก.ค. และเปิดประเทศแบบเต็มรูปแบบในเดือน ต.ค. เศรษฐกิจไทยในช่วง 2Q64 ยังจำเป็นต้องพึ่งพามาตรการกระตุ้นด้านการบริโภค การท่องเที่ยวภายในประเทศไปก่อน ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในระยะถัดไป
ในส่วนของแนวโน้มค่าเงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าในช่วง 2Q64 จากการบริหารงานของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีประสิทธิภาพ ผสานกับการทยอยฉีดวัคซีนที่ทำได้เร็วกว่าคาด ถือเป็นแรงขับเคลื่อนภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากตัวเลข PMI ทั้งภาคการผลิตและบริการที่ปรับตัวขึ้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดย Dollar Index (DXY) มีแนวต้านที่สำคัญถัดไปบริเวณ 95 จุด และการแข็งค่าของดอลลาร์จะเป็นแรงกดดันให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับปัจจัยภายในประเทศ เช่น การที่ภาครัฐยังคงพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการทางการคลัง ซึ่งจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินก้อนใหญ่ จึงเพิ่มโอกาสที่ภาครัฐอาจจำเป็นต้องกู้เพิ่มเติม ผสานกับภาคท่องเที่ยวที่ยังหดตัว และการกระตุ้นการส่งออก ซึ่งล้วนแล้วแต่หนุนให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า โดยประเมินกรอบแนวต้านของค่าเงินบาทบริเวณ 32 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหา COVID-19 ของสหรัฐฯ ทำได้เร็วกว่าคาด จากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในสหรัฐฯ เริ่มดีขึ้น ตามพัฒนาการของการกระจายวัคซีนที่ทำได้เร็วกว่าคาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโจ ไบเดน เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ซึ่งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา COVID-19 เป็นลำดับแรก โดยผลจากนโยบายของโจ ไบเดา ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนวัคซีนที่สามารถกระจายไปยังประชาชนในวงกว้างเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าและส่งผลทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นเร็ว แต่ภาคแรงงานยังค่อนข้างช้า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณการฟื้นตัวที่เร็วกว่าคาด เร่งตัวขึ้นเทียบเคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต (GDP 1Q21 หดตัวเพียง -0.1% เทียบกับช่วง 1Q20) และมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่องประมาณ 3-12% ในปี 2564-2565 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคการผลิตที่กลับสู่ระดับเทียบเคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ยืนเหนือระดับ 50 ได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2563 แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาภาคแรงงาน พบว่า การฟื้นตัวยังค่อนข้างช้า แม้สถานการณ์ในตลาดแรงงานจะดีขึ้นมากจากช่วง COVID-19 รอบแรก ที่อัตราการว่างงานเร่งตัวทำจุดสูงสุดที่ 14.8% ในเดือน เม.ย.2563 แต่ ณ ปัจจุบันยังทรงตัวที่ระดับเกิน 6% ถือว่ายังสูงกว่าระดับปกติก่อนวิกฤต COVID-19 ที่ระดับ 4% อยู่พอสมควร ซึ่งเราเชื่อว่าในระยะถัดไปจากการกระจายวัคซีนที่ทำได้เร็วกว่าคาด ผสานมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจะเป็นตัวเร่งภาคแรงงานฟื้นขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“การถอดถอนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือเป็นความเสี่ยงระยะกลางที่ต้องจับตา แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าคาด สร้างความกังวลต่อโอกาสที่สหรัฐฯ จะถอดถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สะท้อนจากการตอบรับเชิงลบของตลาดหุ้นจังหวะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้น และเกิดภาพการสลับกลุ่มเล่น (Rotation) ในตลาดหุ้นทั่วโลก บ่งชี้ว่าเม็ดเงินใหม่ยังชะลอดูความชัดเจนจาก Policy Makers ต่อแนวทางการดำเนินนโยบายทั้งทางด้านการคลังและการเงินในช่วงถัดไป”
อย่างไรก็ดี การส่งสัญญาณอย่างเป็นทางการของ Fed ผ่าน Dot Plot ที่สะท้อนมุมมองต่อดอกเบี้ยนโยบาย บ่งชี้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นไม่เร็วไปกว่าปี 2566 ในขณะเดียวกัน Bloomberg Consensus ให้น้ำหนักการเริ่มลดขนาดการทำ QE (QE Tapering) จะเกิดขึ้นในช่วง 1Q2565 บ่งชี้ว่าสหรัฐฯ ยังต้องการเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกระยะหนึ่ง สอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวแบบกระจุกไปที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ในขณะที่ดัชนีที่บ่งชี้ภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งระบบอย่างอัตราการว่างงานยังไม่ดีนัก