ราคาน้ำมันขยับลงในวันอังคาร (30 มี.ค.) คลองสุเอซกลับมาเปิดการสัญจรและดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ปัจจัยหลังนี้ฉุดทองคำดิ่งลงแรง ขณะที่วอลล์สตรีทปิดลบเล็กน้อย หลังผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แตะระดับสูงสดในรอบ 14 เดือน
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือ ไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 1.01 ดอลลาร์ ปิดที่ 60.55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 84 เซ็นต์ ปิดที่ 64.14 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
เรือสินค้าทั้งหลายสามารถแล่นผ่านคลองสุเอซได้อีกครั้ง หนึ่งวันหลังจากพวกเรือลากฉุดดึงเรือสินค้าขนาดใหญ่เอเวอร์ กิฟเวน กลับมาลอยลำ หลังมันเกยตื้นขวางเส้นทางสัญจรมานานเกือบ 1 สัปดาห์ ขณะที่ผู้บริการคลองคาดหมายว่าน่าจะสามารถเคลียร์เรือที่จอดนิ่ง 422 ลำได้หมดภายใน 3 วันครึ่ง
นอกจากนี้แลัว ตลาดน้ำมันยังถูกฉุดจากดอลลาร์ที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ โดยการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้น้ำมันมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ซื้อที่ถือสกุลเงินอื่น
ปัจจัยการแข็งค่าของดอลลาร์นี้เองที่ฉุดให้ราคาทองคำในวันอังคาร (30 มี.ค.) ปิดลบแรงเช่นกัน โดยราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 27.60 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,686.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันอังคาร (30 มี.ค.) ปิดลบพอสมควร นักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน
ดาวโจนส์ ลดลง 104.41 จุด (0.31 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 33,066.96 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 12.54 จุด (0.32 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 3,958.55 จุด แนสแดค ลดลง 14.25 จุด (0.11 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 13,045.39 จุด
แม้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจะฟื้นขึ้นในช่วงท้ายของการซื้อขาย หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แกว่งตัวลงจากระดับสูงสุด แต่ภาคเทคโนโลยีของเอสแอนด์พี ยังคงปิดลบ 1% ส่วน แนสแดค อยู่บนเส้นทางของการเป็นเดือนที่ปิดลบครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรดีดตัวขึ้น ได้แรงหนุนจากความหวังที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะฟื้นตัวขึ้น รวมทั้งคาดการณ์การดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อ ท่ามกลางความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 และการที่รัฐบาลเตรียมประกาศแผนใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมีนาคมของสหรัฐฯ ในวันศุกร์ (2 เม.ย.) ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 630,000 ตำแหน่งในเดือนมีนาคม และคาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 6.0%
(ที่มา : รอยเตอร์)