ราคาน้ำมันขยับลง 4% ในวันพฤหัสบดี (25 มี.ค.) คาดหมายอุปสงค์อ่อนแอต่อไป หลังยุโรปและเอเชียหวนสู่ล็อกดาวน์สกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ปัจจัยนี้ฉุดทองคำปรับลด ขณะที่วอลล์สตรีทแกว่งตัวปิดบวกในช่วงท้าย คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตร้อนแรงสุดในรอบหลายทศวรรษ
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 2.62 ดอลลาร์ ปิดที่ 58.56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 2.46 ดอลลาร์ ปิดที่ 61.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ตลาดน้ำมันปรับลดมาเกือบหมดจากที่พุ่งขึ้นหนึ่งวันก่อนหน้านี้ ตามหลังข่าวเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ลำหนึ่งเกยตื้นคลองสุเอซ จนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถปลดปล่อยเรือได้ แต่นักลงทุนเพิกเฉิยต่อปัญหาติดขัดดังกล่าว โดยมองว่าน้ำมันดิบที่ขนส่งผ่านคลองแห่งนี้คิดเป็นแค่เศษส่วนน้อยของน้ำมันดิบโลก
นักลงทุนกัวลต่อกรณีที่ประเทศต่างๆ ในยุโรปหวนคืนสู่ข้อจำกัดสกัดโควิด-19 อีกรอบ ซึ่งจะลดอุปสงค์ทางพลังงานในภูมิภาคแห่งนี้ โดยเฉพาะในเยอรมนี ชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของยุโรป ที่ได้เห็นเคสผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นมากสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม
ในหลายพื้นที่ทางตะวันตกของอินเดีย ทางการสั่งประชาชนใหอยู่แต่ในบ้าน หลังพบเคสผู้ติดเชื้อใหม่โควิด-19 แตะระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน
นอกจากนี้แล้ว ตลาดน้ำมันยังถูกฉุดจากดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนเมื่อเทียบกับยูโร และปัจจัยนี้เองที่ฉุดให้ราคาทองคำในวันพฤหัสบดี (25 มี.ค.) ปิดลบพอสมควร โดยราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 8.10 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,725.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี (25 มี.ค.) แกว่งตัวปิดบวกในช่วงท้ายของการซื้อขาย นักลงทุนช้อนซื้อหุ้นตัวที่เชื่อว่าน่าจะทำผลงานได้ดีระหว่างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางความคาดหมายว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะเติบโตในอัตราร้อนแรงที่สุดรอบหลายทศวรรษในปีนี้
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 199.42 จุด (0.62 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 32,619.48 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 20.38 จุด (0.52 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 3,909.52 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 15.79 จุด (0.12 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 12,977.68 จุด
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุว่า เศรษฐกิจมีความก้าวหน้า โดยอ้างถึงข้อมูลของกระทรวงแรงงานที่พบว่าจำนวนอเมริกันชนเข้ารับสวัสดิการว่างงานลดลง ข่าวที่ช่วยกระตุ้นให้วอลล์สตรีทแกว่งตัวขึ้นสู่แดนบวกในช่วงท้ายของการซื้อขาย
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 684,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงกลางเดือนมีนาคมปี 2020 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 735,000 ราย
ข้อมูลผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่ลดลงแตะระดับต่สุดในรอบ 1 ปีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอยู่บนแนวโน้มของการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในขณะที่สถานการณ์ด้านสาธารณสุขเริ่มดีขึ้นท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงขึ้น
(ที่มา : รอยเตอร์)