xs
xsm
sm
md
lg

ไตรมาสแรกหุ้นไทยบวก 118 จุด Q2 ยังต้องพึ่งมาตรการกระตุ้น ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไตรมาสแรกหุ้นไทยปี 64 ดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่ม 118 จุด หรือ 8% ต่างชาติและสถาบันแห่ขายตั้งแต่ต้นปีรวม 5.23 หมื่นล้านบาท รายย่อยเข้าเก็บ 4.85 หมื่นล้านบาท ภาพรวมหลายปัจจัยเป็นบวกหนุนไตรมาส 2 ไปต่อ จากวัคซีน COVID-19 และการเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังต้องพึ่งพามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

ตลาดหุ้นไทย (31 มี.ค.) หรือวันสุดท้ายของไตรมาสแรกปี 2564 ดัชนีปิดที่ระดับ 1,587.21 จุด ปรับตัวสูงสุด 1,593.93 จุด ต่ำสุด 1,585.58 จุด มูลค่าการซื้อขาย 7.24 หมื่นล้านบาท ทำให้ภาพรวมตั้งแต่ต้นปีดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 118.97 จุด หรือ 8.10% จากวันที่ 4 ม.ค.ปิดที่ระดับ 1,468.24 จุด โดยภายในเดือนมีนาคม พบว่า นักลงทุนทั่วไปเป็นกลุ่มที่ขายสะสมสูงสุด 9.60 พันล้านบาท ตามมาด้วยนักลงทุนต่างประเทศขายสะสม 68.37 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันซื้อสะสม 7.30 พันล้านบาท และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสะสม 2.37 พันล้านบาท

ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี นักลงทุนต่างประเทศขายสะสม 2.96 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มสถาบันขายสะสม 2.27 หมื่นล้านบาท โดยนักลงทุนทั่วไปซื้อสะสม 4.85 หมื่นล้านบาท และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสะสม 3.87 พันล้านบาท

โดยมีรายงานว่า ในช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นขนาดกลาง-เล็กปรับขึ้นร้อนแรงสวนทางกับดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ที่แกว่งออกข้าง (ไซด์เวย์ ) ส่วนหนึ่งมาจากเม็ดเงินลงทุนย้ายเข้าไปเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มนี้ เพราะราคาหุ้นขนาดใหญ่ปรับขึ้นอย่างจำกัด อันเป็นผลจากที่นักลงทุนต่างประเทศและสถาบันในประเทศซื้อสลับขายสุทธิในช่วงครึ่งหลังของเดือนมีนาคม

ขณะเดียวกัน การปรับขึ้นของหุ้นกลาง-เล็ก ยังมาจากการที่นักลงทุนรายย่อยเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น สะท้อนจากค่าเฉลี่ยการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.74 แสนบัญชี จากปี 2563 ที่ 6.22 หมื่นบัญชี โดยเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนรายย่อยมักเข้าซื้อหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่ราคาไม่สูงมาก

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) พบว่า ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ซึ่งเป็นกระดานซื้อขายหุ้นขนาดเล็กให้ผลตอบแทนสูงถึง 36.3% และดัชนี sSET ผลตอบแทน 27.7% โดดเด่นกว่าผลตอบแทนของ SET ที่ 9.6%, SET100 ที่ 8.3% และ SET50 ที่ 6.7%

ขณะเดียวกัน หุ้นกลาง-เล็กยังเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบต่างประเทศจำกัด เช่น การปรับน้ำหนักของดัชนีหุ้นโลกเอ็มเอสซีไอ (MSCI) หรือดัชนีฟุตซี่ (FTSE) และทิศทางการดำเนินนโยบายของ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เป็นต้น

ทั้งนี้ พบว่าในปี 2564 ราคาหุ้นในหลายบริษัททะยานปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ราคาหุ้นมีความโดดเด่น อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากวอลุ่มซื้อขายที่หนาแน่นหนีไม่พ้นหุ้นในกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือ "โบรกเกอร์" เพราะเมื่อนักลงทุนมีความสนใจในตลาด และเชื่อว่าตลาดหุ้นสามารถสร้างผลตอบแทนระดับสูงให้แก่ตนเองได้ หุ้นกลุ่มโบรกเกอร์ซึ่งมีรายได้หลักจากค่าคอมมิชชันทั้งการซื้อและขายหุ้นย่อมได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว

เมื่อเร็วๆ นี้ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) แสดงความเห็นในงาน “โครงการตลาดทุนพบภาครัฐครั้งที่ 1/64 กระทรวงสาธารณสุขพบนักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบัน” ว่า หลังการหารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เกี่ยวกับการจัดหาวัคซีน COVID-19 ให้แก่ประชาชน พบว่าภาครัฐมีความชัดเจนเรื่องแผนการจัดหาวัคซีนให้ทุกคนภายในประเทศ ระยะเวลาการฉีด รวมถึงไม่ปิดกั้นการนำเข้าวัคซีนของภาคเอกชน และความคืบหน้าในการเปิดแหล่งท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต สมุย ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวได้รวดเร็วขึ้น

โดยคาดว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้ในระดับหนึ่ง และปัจจุบันตลาดหุ้นไทยยังมีอัปไซด์รออยู่ เนื่องจากประเด็นหลายอย่างดีกว่าที่คาดไว้ ทำให้อาจต้องปรับทบทวนมุมมองเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปี 2564 ใหม่จากเดิมที่คาดไว้ระดับ 1,600 จุด แต่ต้องรอประเมินกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ด้วย

“ผลจากการหารือร่วมกันถือว่าภาครัฐมีแผนที่ชัดเจน แต่ก็ต้องติดตามว่าภาครัฐจะได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ เพราะคาดเดาได้ยากว่าจะเจออุปสรรคอะไรบ้าง อีกทั้ง ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ด้านการปฏิบัติที่ล่าช้าไปบ้างบางเรื่อง รวมถึงยังต้องรอดูว่าเมื่อเปิดประเทศได้แล้วจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาหรือไม่”

ขณะที่ความคืบหน้าการปลดล็อกผลิตภัณฑ์จากกัญชานั้น ในด้านกฎหมายยังอยู่ในขั้นตอนของรัฐสภา หากเป็นความต้องการของพี่น้องประชาชนเชื่อว่าคนในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องตอบสนองต่อความต้องการแน่นอน โดยปัจจุบันเริ่มมีผู้มาขอขึ้นทะเบียนแล้วหลัก 100 ราย ถือว่ายังมีจำนวนไม่เยอะมาก ส่วนวัตถุประสงค์หลักของภาครัฐที่ผลักดันตรงนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางทำมาหากินของเกษตรกรมากขึ้นและใช้ในทางการแพทย์ รวมถึงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด

ด้าน นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน แถลงผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองด้านการลงทุน และคาดการณ์ทิศทางดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index) โดยสมมติฐานหลักของผู้ตอบแบบสำรวจนั้น คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ไทยปี 2564 จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.08 และราคาน้ำมันดิบตลาดโลก เฉลี่ยร้อยละ 58.39 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยการลงทุนในปี 2564 จะได้รับผลบวกจากผลประกอบการของ บจ. ในปี 2564 ฟื้นตัวแรงร้อยละ 57 ภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยในปี 2564

นอกจากนั้น ผลโหวตนักวิเคราะห์พบว่า แนวโน้มสถานการณ์ COVID-19 พลิกจากเคยเป็นปัจจัยลบสูงถึงร้อยละ 78 ของผู้โหวตในการสำรวจไตรมาสก่อน กลายมาเป็นปัจจัยบวก โดยมีผู้โหวตร้อยละ 56.52 ส่วนปัจจัยลบทางการเมืองภายในประเทศก็ลดจากร้อยละ 74 ในครั้งก่อนของผู้โหวตเหลือร้อยละ 65 ในครั้งนี้ ทั้งนี้ คาดว่าดัชนีหุ้นไทยในปีนี้จะเป็นบวกเมื่อถึงสิ้นปี มีกรอบการเหวี่ยงในระดับ 1,479 ถึง 1,671 จุด และเป้าหมายจะปิดที่ 1,629 จุด สูงขึ้นราว 70 จุด จากคาดการณ์เมื่อต้นมกราคม 2563 ทำให้มุมมองการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2564 เห็นภาพชัดขึ้น จาก 4 องค์ประกอบ คือ 1.) การทยอยฉีดวัคซีนในไทย เพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดในแต่ละเดือน รวมถึงการควบคุมการแพร่ระบาดทำได้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก 2.) ตัวเลข เศรษฐกิจต่างๆ เริ่มดูดีขึ้น เช่น ตัวเลขส่งออกเดือน ก.พ. หากหักทองคำออกจะเติบโตถึง 4.6%YoY เป็นต้น ขณะที่มาตรการภาครัฐ การกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวต่อเนื่องยาวไปถึงเดือน ส.ค.2564 ในระยะถัดไปทางภาครัฐน่าหันมาให้ความสำคัญกับการผลักดันการลงทุนของรัฐและเอกชนที่มีมูลค่าโครงการปี 2564 กว่า 4.7 แสนล้านบาท 3.) แรงหนุนจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานสะอาด และสวัสดิการสังคม วงเงินราว 3-4 ล้านล้าน เหรียญ ตามที่เคยหาเสียงไว้ 4.) ธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อเนื่อง ทำให้สภาพคล่องส่วนเกิน (เงินฝากในระบบปัจจุบันมีกว่า 15.72 ล้านล้านบาท) เริ่มเห็นการเคลื่อนย้ายเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ช่วยหล่อเลี้ยงดัชนีให้ปรับตัวขึ้นต่อได้ ทั้งจากการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) วิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนในช่วงไตรมาส 2/64 ว่าคาด SET แกว่งผันผวนในกรอบ 1,450-1,650 จุด ในจังหวะตลาดย่อตัวแนะเป็นโอกาสในการทยอยสะสมเพื่อรอปัจจัยหนุนใหม่เป็นแรงขับเคลื่อนตลาดฟื้นตัวขึ้นในช่วงถัดไป โดยแนะทยอยสะสมหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี แนวโน้มกำไรฟื้นตัวเด่น ผสานกับธีมการลงทุนที่น่าสนใจ นำโดย 1) เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เน้นหุ้นในกลุ่มวัฏจักร เช่น ธนาคาร (BBL) และพลังงาน (IRPC) 2) การทยอยเปิดเมือง และ Pent-up Demand ช่วยหนุนกำไรบริษัทจดทะเบียนเร่งตัวขึ้น (PLANB, MAJOR, SPALI) และจากฐานกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในระดับต่ำมากในปี 2563 เนื่องจากได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 ผสานกับการฟื้นตัวที่ค่อยๆ ดีขึ้น ขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินและการคลังทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาการเชิงบวกของการฉีดวัคซีนที่มากยิ่งขึ้น ช่วยหนุนเศรษฐกิจฟื้นตัว

ดังนั้น จึงประเมินการเติบโตของกำไรต่อหุ้นของ SET ปี2564 เติบโต +91%YoY ขึ้นสู่ระดับ 82 บาทต่อหุ้น ซึ่งหากพิจารณาระดับ PE Ratio ที่เหมาะสม โดยอิงค่าเฉลี่ย PE ย้อนหลัง 5 ปี +1.0 ที่ 19.5 เท่า จะได้เป้าหมายดัชนีสิ้นปีนี้ที่ 1,600 จุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้เร็วเช่นกันจากความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาด และสถานการณ์ทั่วโลกที่ดีขึ้นหลังเริ่มฉีดวัคซีน แต่ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังฟื้นตัวได้ช้า จากข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่ (มูลค่าการส่งออกภาคบริการไตรมาส 4 ปี 63 ฟื้นตัวกลับมาได้เพียง 25% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 4 ปี 62 )

ดังนั้น หากประเมินจากกรอบระยะเวลาการเริ่มเปิดประเทศที่จะนำร่องจังหวัดภูเก็ต เดือน ก.ค. และเปิดประเทศแบบเต็มรูปแบบในเดือน ต.ค. เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2 ปี 64 ยังจำเป็นต้องพึ่งพามาตรการกระตุ้นด้านการบริโภค การท่องเที่ยวภายในประเทศไปก่อน ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในระยะถัดไป และสิ่งที่ต้องติดตามคือ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นแรงกดดันให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับปัจจัยภายในประเทศ เช่น การที่ภาครัฐยังคงพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการทางการคลัง ซึ่งจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินก้อนใหญ่ จึงเพิ่มโอกาสที่ภาครัฐอาจจำเป็นต้องกู้เพิ่มเติม ผสานกับภาคท่องเที่ยวที่ยังหดตัว และการกระตุ้นการส่งออก ซึ่งล้วนแล้วแต่หนุนให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า โดยประเมินกรอบแนวต้านของค่าเงินบาทบริเวณ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไปพิจารณาการกระตุ้นเศรษฐกิจในวิกฤต Subprime ปี 2550-2551 พบว่า ตลาดหุ้นไทยเป็นรอบขาขึ้นรอบใหญ่จากความคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับในวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้

อย่างไรก็ดี จุดสิ้นสุดของรอบขาขึ้นในช่วงที่ตลาดเริ่มกังวลกับการลดขนาดการทำ QE ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มส่งสัญญาณการถอดถอนมาตรการล่วงหน้า ก่อนทำจริงเป็นเวลา 6 เดือน (ส่งสัญญาณเมื่อวันที่ 21 พ.ค.2556 และทำจริงในเดือน ธ.ค.2556) ซึ่งหากเทียบเคียงกับมุมมองตลาดที่คาดว่าเฟดจะ Tapering ในไตรมาสแรกปี 2565 และอาจจะสะท้อนว่าการส่งสัญญาณลดขนาด QE มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้นไม่เร็วไปกว่าช่วงไตรมาส 3/64

 นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)

นายสมบัติ นราวุฒิชัย กรรมการผู้อำนวยการและเลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน




กำลังโหลดความคิดเห็น