นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เศรษฐกิจ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ “จีน-สหรัฐฯ” ฟื้นตัว ผนวกหลายปัจจัย ดึงส่งออกไทยโต 5-7% สินค้าที่มีอนาคตได้แก่ อาหารสด-แปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา “สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์” ระบุ ต้องระวัง 3 ปัจจัยเสี่ยง ด้าน “ดร.ธนวรรธน์” เชื่อปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนจะคลี่คลายในไตรมาส 2 แนะแบงก์ชาติดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งเกิน 31 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ “ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสิรฐ” เตือนจีนกำลังยึดธุรกิจส่งออกผลไทยในไทย พร้อมชี้สินค้าไทยหลายตัวยังมีจุดอ่อน
ต้องยอมรับว่ารายได้จาก “การส่งออก” เป็นหนึ่งในความหวังที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยที่กำลังซบเซาจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกมาระบุว่าจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกน่าจะส่งผลให้การส่งออกของไทยในปี 2564 นี้เติบโตมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการเริ่มมีแรงฮึดที่จะลุกขึ้นสู้อีกครั้ง ส่วนว่านักเศรษฐศาสตร์จะมองเรื่องนี้อย่างไร และมีปัจจัยใดบ้างที่จะทำให้การส่งออกของไทยกลับมาฟื้นตัว คงต้องมาฟังการวิเคราะห์จากบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์ว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2564 น่าจะขยายตัวถึง 5-7% เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ เช่น การส่งออกในปี 2563 ติดลบถึง 6% ขณะที่เศรษฐกิจปีนี้เติบโตทั่วโลก โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2564 ว่าจะขยายตัวที่ 5.6% เนื่องจากสหรัฐอเมริกาอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ และมีนโยบายลดดอกเบี้ยเหลือ 0.25% ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวถึง 6-7% และเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ขยายตัว 5.3% เมื่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น ความต้องการในการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศก็เพิ่มมากขึ้นด้วย
สอดคล้องกับ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งระบุว่า ตัวเลขการส่งออกที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่าน่าจะขยายตัว 4-5% นั้นเป็นตัวเลขที่เราคิดไว้อยู่แล้ว โดยเรามองว่าอัตราการขยายตัวดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นได้ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณการฟื้นตัวจากปัจจัยสำคัญคือ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะโต 5-6% ส่วนเศรษฐกิจจีนน่าจะโตได้ 6-8% ซึ่ง 2 ประเทศนี้มีสัดส่วนในเศรษฐกิจโลกถึง 40% ดังนั้นเมื่อ 2 ประเทศนี้ฟื้นประเทศอื่นๆ ก็น่าจะฟื้นตามไปด้วยเพราะทั้ง 2 ประเทศเป็นตลาดใหญ่ในการซื้อสินค้าประเภทวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป
เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงญี่ปุ่น อินเดียก็น่าจะเติบโตขึ้น และหวังว่าในช่วงครึ่งปีหลังสหภาพยุโรปจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าเขาจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีขึ้น เศรษฐกิจโลกโดยรวมก็น่าจะฟื้นตัวขึ้น การที่หลายๆ ประเทศใช้นโยบายการคลัง นโยบายขาดดุล และนโยบายดอกเบี้ยต่ำ จะทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวแบบไซด์เวย์อัป (มีทิศทางไม่แน่นอน) ราคาน้ำมันปรับตัวดีกว่าปีที่แล้วซึ่งอยู่ในกรอบ 50-55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ปีนี้น่าจะขยับขึ้นไปอยู่ในกรอบ 60-65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จึงเป็นสัญญาณบอกชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกกระเตื้องขึ้น
“ตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ตลาดในเอเชีย ซึ่งสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 50 กว่า% ประกอบด้วย กลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ที่ 24% จีน 13% ที่เหลืออีกประมาณ 13% เป็นญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ตามด้วยยุโรป 10% สหรัฐฯ 10% คือเมื่อเศรษฐกิจโลกดี เศรษฐกิจจีนดี เศรษฐกิจเอเชียก็ดีตามไปด้วย ส่งผลให้การสั่งซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นการที่การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ 4-5% ก็ไม่เกินความคาดหมาย” ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุ
ขณะที่ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสิรฐ คณบดีสถาบันเศรษฐ์ศาสตร์ มหาวิยาลัยรังสิต มองว่า การส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโต 4.5% นั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่น่าดีใจ เนื่องเพราะเป็นการเติบโตหลังจากการส่งออกปี 2563 ซึ่งหดตัวเฉลี่ยถึง 6% อีกทั้งรายได้จากการส่งออกนั้นจริงๆ แล้วไม่ได้กลับเข้ามาในไทยทั้ง 100% บางส่วนถูกส่งกลับไปยังบริษัทแม่ และบางบริษัทนำเข้าวัตถุดิบจากบริษัทแม่ในราคาสูง แต่เมื่อส่งสินค้าไปขายให้บริษัทแม่กลับขายในราคาถูก อีกทั้งอย่าลืมว่าไทยยังเจอปัญหาเรื่องเงื่อนไขที่ประเทศต่างๆ ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นข้อกีดกันทางการค้า เช่น ปัญหาคาร์บอนไดออกไซด์ การคุ้มครองแรงงาน ปัญหาการค้ามนุษย์
สำหรับสินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกได้ดีในปีนี้นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า ได้แก่ สินค้าที่เป็นหัวใจสำคัญของกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามวิถีใหม่ (New Normal) เช่น สินค้า IT ถุงมือยาง สามารถเติบโตได้ต่อจากปีก่อน สินค้าที่ตอบโจทย์การบริโภคทั้งสินค้าจำเป็นและสินค้าคงทนต่างก็กลับมาขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของกำลังซื้อ รวมทั้งแรงหนุนด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำให้การส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องอย่างน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เข้ามาช่วยขับเคลื่อนการส่งออกในปีนี้ได้อีกทางหนึ่ง
ขณะที่ รศ.ดร.สมชาย ระบุว่า สินค้าที่ไทยมีโอกาสในการส่งออก ได้แก่ 1) สินค้าในหมวดอาหารและอาหารแปรรูป เพราะเป็นสินค้าจำเป็นที่นานาชาติมักสั่งซื้อจากไทย 2) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าที่สนับสนุนการทำงานแบบเวิร์กฟอร์มโฮม 3) รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ เนื่องจากเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดลง คนเริ่มเดินทางออกจากบ้านมากขึ้น ความต้องการใช้รถยนต์ก็น่าจะเพิ่มมากขึ้น โดยตลาดส่งออกหลักของไทยได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น ซึ่งรวมแล้วน่าจะอยู่ที่ 50 กว่า% รองลงมาคือ ตลาดสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งสัดส่วนการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวอยู่ที่กลุ่มละประมาณ 10%
ส่วน รศ.ดร.ณรงค์ ชี้ว่า หากพิจารณาสินค้ารายตัวแล้วไทยยังสู้อีกหลายประเทศไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ซึ่งไทยถูกเวียดนามและอินเดียตีตลาดโดยโดยเสนอราคาที่ถูกกว่า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยก็ยังเป็นสินค้าที่เกิดจากการนำวัตถุดิบจากต่างประเทศเข้ามาประกอบ ไม่ใช่คิดสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ ไทยจึงต้องใช้ราคาค่าแรงที่ถูกกว่าเป็นตัวแข่งขัน ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงเพราะผู้ผลิตอาจย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามซึ่งมีค่าแรงถูกกว่าไทย รถยนต์ก็เช่นกัน รถยนต์ที่ผลิตในไทยเป็นลักษณะของการนำชิ้นส่วนจากต่างประเทศเข้ามาประกอบ ขณะที่จีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สามารถผลิตรถยนต์ได้เองทั้งคัน ดังนั้น การแข่งขันในตลาดรถยนต์นั้น ไทยจึงต้องสู้ด้วยราคาค่าแรงเพียงอย่างเดียว
“ส่วนสินค้าที่ไทยยังพอแข่งขันได้ในขณะนี้คือ ยางพารา เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นทำให้ราคายางสังเคราะห์ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย คนจึงหันมาใช้ยางพาราจากธรรมชาติกันมากขึ้น อีกตัวหนึ่งคือผลไม้ ซึ่งไทยยังมีศักยภาพในการส่งออก แต่ต้องระวังการที่คนจีนเข้ามายึดตลาดส่งออก โดยเข้ามารับซื้อผลไม้จากสวนและทำหน้าที่เป็นผู้ส่งออกเอง ซึ่งที่ผ่านมาพบมากในการส่งออกทุเรียน ส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้จากการส่งออกทุเรียนไปไม่น้อย ขณะที่มาเลเซียและเวียดนามไม่ปล่อยให้คนจีนเข้าไปทำธุรกิจส่งออกผลไม้ในประเทศของเขา จีนจึงไม่สามารถเข้าไปครองตลาดในส่วนนี้ได้” รศ.ดร.ณรงค์ ตั้งข้อสังเกต
อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีหลายปัจจัยที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย โดย รศ.ดร.สมชาย มองว่า 3 ปัจจัยที่ต้องระมัดระวังและอาจส่งผลต่อการส่งออกของไทย ได้แก่ 1) ความผันผวนที่เกิดจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น กรณีโควิด-19 กลายพันธุ์ที่ทำให้ประเทศในแถบยุโรปต้องประกาศล็อกดาวน์รอบที่สี่ 2) นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐิจขยายตัวแบบลูกโป่ง และ 3) การที่ไทยกำลังจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็เป็นจุดเสี่ยงที่อาจทำให้โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดอีกรอบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทย
ด้าน ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ชี้ว่า สิ่งที่จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทยนั้นมีอยู่ 4 ประการด้วยกัน ประการแรก คือ ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ซึ่งทำให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากสหรัฐอเมริกาที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีการล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้ใม่มีคนทำงานที่ท่าเรือทำให้ตู้คอนเทนเนอร์จึงติดค้างอยู่ที่ท่าเรือเป็นจำนวนมาก ขณะที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าเป็นอันดับหนึ่งของโลก จึงส่งผลให้ตู้คอนเทนเนอร์หายไปจากระบบขนส่งทั่วโลก ทำให้ผู้ส่งออกต้องเสียค่าใช้จ่ายในการหาตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้น ค่าขนส่งระหว่างประเทศจึงเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า แล้วแต่ระยะทาง ขณะเดียวกัน ไทยไม่ใช่ประเทศที่มีการส่งออกหรือนำเข้าสินค้าคราวละมากๆ เมื่อเทียบกับประเทศใหญ่ๆ เราจึงไม่ได้มีตู้คอนเทนเนอร์อยู่ในระบบมากนัก เมื่อตู้คอนเทนเนอร์หายไปจากตลาดเราจึงไม่มีตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในการส่งสินค้า แม้ว่าทางประเทศจีนจะผลิตตู้คอนเทนเนอร์ออกมาเพิ่มเพื่อแก้ปัญหา แต่หลักๆ ตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้นก็ถูกนำมาใช้ในการขนส่งสินค้าของประเทศจีนเอง ซึ่งปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ส่งผลกระทบต่อการส่งออกอย่างมากในช่วงไตรมาสที่ 1 แต่เชื่อว่าในไตรมาส 2 หรือตั้งแต่เดือน เม.ย.นี้ ปัญหาดังกล่าวจะเริ่มคลี่คลายลง และจะดีขึ้นในไตรมาส 3 ซึ่งเมื่อจำนวนตู้คอนเทนเนอร์มีมากขึ้น ค่าขนส่งสินค้าก็จะถูกลง
ประการที่ 2 คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งตอนนี้ประเทศต่างๆ เริ่มมีการฉีดวัคซีนกันมากขึ้น ประเทศผู้นำของโลก ไม่ว่าจะเป็น จีน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เริ่มฉีดวัคซีนกว่า 50% ของจำนวนประชากร และยังมีบางประเทศที่ฉีดครบ 100% แล้ว อย่างอิสราเอล ซึ่งเชื่อว่าในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ประเทศต่างๆ ก็น่าจะมีการฉีดวัคซีนเกินกว่า 50% ของจำนวนประชากร เมื่อสถานการณ์เรื่องโควิด-19 ดีขึ้น การส่งออกก็จะดีขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงก็อยู่ที่โควิด-19 จะกลายพันธุ์ไหม และวีคซีนที่ผลิตขึ้นมาจะครอบคลุมถึงการป้องกันโควิดที่กลายพันธุ์หรือไม่ ถ้าฉีดวัคซีนได้เร็ว และวัคซีนเอาอยู่ ผู้คนก็จะกลับมาใช้ชีวิตปกติ การส่งออกในไตรมาสที่ 2 และ 3 ก็จะดีขึ้น
ประการที่ 3 คือ เทรดวอร์ หรือสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้คนยังวิตกว่าทั้ง 2 ประเทศจะกดดันกันทางการค้าหนักขึ้นหรือไม่ เนื่องจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่รัฐอะแลสกานั้น ทั้ง 2 ประเทศตกลงกันไม่ได้และมีท่าทีแข็งกร้าวต่อกัน ซึ่งปัญหานี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศเพราะผู้คนต่างกังวลว่าจะเกิดสงครามการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศหรือไม่เพราะถ้าเกิดก็จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน
ประการที่ 4 คือ ค่าเงินบาท อันเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งออก ตอนนี้ค่าเงินบาทอ่อน โดยอยู่ที่ 31.21 บาทต่อดอลลาร์
ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออก แต่ก็เป็นไปได้ที่ค่าเงินบาทอาจจะกลับมาแข็งค่าได้ ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องควบคุมดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทสูงเกิน 31 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ เชื่อว่าแม้จะมีอุปสรรคที่รออยู่มากมาย แต่ไทยก็มีโอกาสที่จะสามารถผลักดันให้การส่งออกกลับมาขยายตัวและเติบโตขึ้นอีกครั้ง!!