ภาพรวมก่อนจบไตรมาสแรกปี 64 ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว 121 จุด แม้ต่างชาติยังกอดคอกลุ่มสถาบันเทขายหุ้นไทยต่อนื่อง แต่โดยรวมรายย่อยพร้อมรับต่อ ขณะที่หุ้นกลุ่มโบรกเกอร์คึกคักราคาดีดยกแผงตามวอลุ่มเทรดในระดับ 9 หมื่นล้าน
ใกล้เข้าสู่โค้งสุดท้ายของไตรมาสแรกปี 2564 ภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 121.48 จุด จาก 1,449.35 จุด เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2563 มาอยู่ที่ 1,570.83 จุด เมื่อวันที่ 24 มี.ค. หรือเพิ่มขึ้น 8.38% อย่างไรก็ตามวอลุ่มการซื้อขายโดยรวมในไตรมาสแรกปีนี้ลดลงจากปีก่อนที่เคยแตะหลัก 1 แสนล้านบาทเล็กน้อย เหลืออยู่ประมาณ 9 หมื่นล้านบาทต่อวัน แต่ก็เพียงพอที่ทำให้ราคาหุ้นหลายตัวในหลายอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ พบว่าในปี 2564 ราคาหุ้นในหลายบริษัททะยานปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ราคาหุ้นมีความโดดเด่น อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากวอลุ่มซื้อขายที่หนาแน่นหนีไม่พ้นหุ้นในกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือ “โบรกเกอร์” เพราะเมื่อนักลงทุนมีความสนใจในตลาด และเชื่อว่าตลาดหุ้นสามารถสร้างผลตอบแทนระดับสูงให้แก่ตนเองได้ หุ้นกลุ่มโบรกเกอร์ซึ่งมีรายได้หลักจากค่าคอมมิชชันทั้งการซื้อและขายหุ้นย่อมได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว
และจากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์พบว่าภายในไตรมาสแรกปีนี้ ราคาหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้บางบริษัทจะประกาศผลประกอบการในปี 2563 ออกมาขาดทุนสุทธิ หรือมีกำไรสุทธิน้อยกว่าปีที่ผ่านมาก็ตาม
เริ่มกันที่กลุ่มแรก บริษัทหลักทรัพย์ที่ผลดำเนินงานปี 2563 ลดลงจากปีก่อนหน้า หรือมีผลขาดทุนสุทธิ ได้แก่ บล.เออีซี (AEC) รายได้รวมปี 2563 ลดลงอยู่ที่ 85.14 ล้านบาท เป็นการลดลงต่อเนื่องจากปี 2560 ซึ่งขาดทุน 729.82 ล้านบาท ทำให้บริษัทขาดทุนสุทธิมากถึง 300.61 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2560 ที่ระดับ 76.90 ล้านบาทเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี พบว่าราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 244% จาก 0.18 บาท/หุ้น (4 ม.ค.) มาอยู่ที่ 0.62 บาท/หุ้น (24 มี.ค.)
ถัดมา บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) (KGI) มีรายได้ปี 2563 ที่ระดับ 2.82 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 567.60 ล้านบาท โดยรวมลดลงจากปีก่อนหน้า ซึ่งมีรายได้ 3.35 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 970.80 ล้านบาท โดยราคาหุ้นเมื่อต้นปี (4 ม.ค.) อยู่ที่ระดับ 3.82 บาท/หุ้น ล่าสุด อยู่ที่ 4.60 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้น 20.42% อีกบริษัทได้แก่ บริษัท ซีมิโก้ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (ZMICO) บริษัทแม่ของ บล.ซีมิโก้ รายงานว่าปี 2564 บริษัทมีรายได้ 141.10 ล้านบาท และขาดสุทธิ 16.62 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีรายได้ 191.18 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 81.33 บาท โดยตั้งแต่ปีปรับตัวเพิ่มแล้ว 358.49% จาก 1.06 บาท/หุ้น มาอยู่ที่ระดับ 4.86 บาท/หุ้นในปัจจุบัน
ขณะที่ บล.ซึ่งมีผลประกอบการในแง่รายได้และกำไรในปี 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ได้แก่ บล.คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (CGH) มีรายได้และกำไรสุทธิ 1.41 พันล้านบาท และ 142.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก 2563 ซึ่งมีรายได้และกำไรสุทธิ 1.07 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 82.61 ล้านบาท โดยราคาหุ้นปัจจุบันเพิ่มขึ้น 42.03% จาก 0.69 บาท/หุ้นเมื่อต้นปี กลายเป็น 0.98 บาท/หุ้นในปัจจุบัน
บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ASP) บริษัทแม่ของ บล.เอเซีย พลัส รายงานปี 2563 มีรายได้ 2.12 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.91 พันล้านบาทในปี 2562 และทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 415.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิ 359.42 ล้านบาท โดยราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.18 บาท/หุ้นเมื่อต้นปี กลายเป็น2.68 บาท/หุ้นในปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้น 22.94%
ด้านบริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) (FNS) บริษัทแม่ของ บล.ฟินันเซีย ไซรัส มีรายได้รวมและกำไรสุทธิปี 2563 ที่ระดับ 794.41 ล้านบาท และ 223.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งมีรายได้ 305.44 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 82.58 ล้านบาท ซึ่งราคาหุ้นปัจจุบัน (24 มี.ค.) อยู่ที่ระดับ 4.50 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้น 17.80% จากต้นปี 3.82 บาท/หุ้น
บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (GBX) บริษัทแม่ของ บล.โกลเบล็ก จำกัด มีรายได้รวม 5.63 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 43.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งมีรายได้ 8.28 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 14.79 ล้านบาท โดยปัจจุบันราคาหุ้นอยู่ที่ 1.15 บาท/หุ้น (24 มี.ค.) เพิ่มขึ้น 121.15% จากต้นปีซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.52 บาท/หุ้น
สำหรับ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มีรายได้ 2.81 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 484.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งมีรายได้ 2.40 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 254.75 ล้านบาท โดยราคาหุ้นเพิ่มขึ้นแตะ 4.60 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้น 20.42% จาก 3.82 บาท/หุ้นเมื่อต้นปี
ด้านบริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) (TNITY) บริษัทแม่ของ บล.ทรีนิตี้ ล่าสุดปี 2564 มีรายได้ 717.44 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 130.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งมีรายได้และกำไรสุทธิ 678.41 ล้านบาท และ 94.22 ล้านบาท ส่วนราคาหุ้นพบว่า (24 มี.ค.) อยู่ที่ 6.80 บาท/หุ้น สูงที่สุดในรอบไตรมาส 1/64 เพิ่มขึ้น 65.05% จากต้นปีที่ระดับ 4.12 บาท/หุ้น
สุดท้ายบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) (UOBKH) ปิดรายได้ปีที่ผ่านมาที่ระดับ 1.38 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 239.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.04 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 15.93 ล้านบาทในปีก่อน ทำให้ราคาหุ้นปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็น 83.06% จาก จาก 3.66 บาท/หุ้นเมื่อต้นปี มาอยู่ที่ 6.70 บาท/หุ้นในปัจจุบัน
โดยรวมการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นโบรกเกอร์เป็นไปในทิศทางเดียวกับสภาวะเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าในปี 2564 ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะกลับมาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากปีที่ผ่านมาหลายธุรกิจต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส (COVID-19)
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/63 โดยหลายฝ่ายคาดว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน แต่กลับเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศ และต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักไปอีกครั้ง แต่จากการความคุมการแพร่ระบาดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจึงกลับมาควบคุมสถานการณ์ได้อีกครั้ง และเชื่อว่าความรุนแรงในการแพร่ระบาดจะลดน้อยลงเมื่อในประเทศเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส อีกทั้งมีการสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มเพื่อประชาชนเข้าถึงวัคซีน
ปัจจัยต่อมาที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยสดใสมากขึ้นนั่นคือเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทย ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นไปอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ แม้ปัจจุบันจากข้อมูลการซื้อขายสะสมตั้งแต่ต้นปีจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า นักลงทุนต่างประเทศยังเป็นผู้ขายสะสมมากถึง 3.17 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือกลุ่มสถาบันซึ่งขายสะสมตั้งแต่ต้นปีไปแล้ว 2.70 หมื่นล้านบาท โดยนักลงทุนทั่วไปเป็นผู้ซื้อสะสมสูงถึง 5.5 หมื่นล้านบาท และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ 3.67 พันล้านบาท
นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่กระตุ้นราคาหุ้นกลุ่มโบรกเกอร์ได้ดี คงต้องยอมรับกับการพัฒนาธุรกิจของแต่ละบริษัทที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากที่ผ่านมาหลาย บล.เบนเข็มธุรกิจหันไปสร้างรายได้จากช่องทางใหม่ๆ เช่น ไปสู่ Derivative Warrants หรือ DW มากขึ้น รวมถึงมุ่งไปงานวาณิชธนกิจ เป็นที่ปรึกษาทาง การเงินและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น IPO หรือธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจหลักทรัพย์
อย่างไรก็ตาม แม้วอลุ่มซื้อขายในปัจจุบันจะอยู่ในระดับสูง แต่ยังไม่ใช่เครื่องการันตีว่าธุรกิจโบรกเกอร์ในปีนี้จะเดินหน้าไปในทิศทางที่ดี แม้ปี 2564 จะถูกคาดหมายว่าเป็นช่วงที่พีกสำหรับหุ้นในกลุ่มดังกล่าว แต่โดยรวมกลุ่มโบรกเกอร์ ถือว่ากำไรยังน้อย และส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่ไหลไปอยู่กับโบรกเกอร์รายใหญ่สุด
ขณะที่อันดับ 2 ลงมานั้นมีมาร์เกตแชร์น้อยมาก ดังนั้น นักลงทุนบางส่วนจึงเชื่อว่าการปรับตัวที่ดีขึ้นของหุ้นกลุ่มโบรกฯ เป็นไปตามปริมาณการซื้อขายรวมของตลาด และกลับกันถ้าหุ้นโบรกฯ ดูดี วอลุ่มซื้อขายคึกคัก แสดงว่าตลาดเริ่มน่ากลัว ถ้าหากเปรียบเทียบกับสถิติย้อนหลัง"
ล่าสุด ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ASP) ประเมินทิศทางธุรกิจของบริษัทว่า รายได้ปี 2564 คาดว่าจะเติบโตขึ้นจากปี 2563 ที่มีรายได้ 2.12 พันล้านบาท โดยการเติบโตจะมาจากทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งในส่วนของธุรกิจประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Brokerage) ธุรกิจ Investment ธุรกิจบริหารจัดการกองทุน (Asset Management) งานทางด้านวาณิชธนกิจ (IB/ Capital Market)
ขณะที่ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Brokerage) ไตรมาส 4/2563 ที่ผ่านมาผลประกอบการเติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการรักษาค่าธรรมเนียมให้อยู่ในระดับสูง ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้แก่นักลงทุน ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญและแตกต่างกับบริษัทหลักทรัพย์อื่นๆ โดย Average Commission Rate ของปี 2563 อยู่ที่ 0.1252% มากกว่าอุตสาหกรรมที่ 0.0924% ไม่เพียงเท่านี้บริษัทจะรักษาฐานลูกค้าเดิม และพยายามที่จะผลักดันส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เกตแชร์) จากราว 2% หรืออันดับ 13-14 ในตลาด โดยไม่ให้กระทบต่อผลประกอบการ
"ธุรกิจ Investment ก็น่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่การลงทุนจะต้องขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดรวมไปถึงโอกาสที่จะเข้ามาด้วย ภาพรวมทุกสายธุรกิจบริษัทก็ตั้งเป้าให้เติบโตขึ้น ทั้งรายได้ (Top Line) และกำไร (Bottom Line) เชื่อมั่นว่าพนักงานจะทำงานเต็มที่ เพื่อให้สายงานที่รับผิดชอบเติบโตได้ดี และหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนงานก็จะส่งผลให้รายได้ขยับตามไปด้วย เชื่อว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้ที่ฟื้นตัวขึ้น ก็จะทำให้ ธุรกิจมีการฟื้นตัวตาม และในด้านอัตราดอกเบี้ยอาจจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจกระทบตลาดหุ้นบ้าง แต่หากเศรษฐกิจดีขึ้น บริษัทจดทะเบียนดีขึ้น ก็จะมาช่วยหนุนกันได้" ดร.ก้องเกียรติ กล่าว
ส่วนแนวโน้มภาวะตลาดหุ้นต้องยอมรับว่าตลาดหุ้นทั่วโลกขับเคลื่อนด้วยสภาพคล่อง และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำทำให้ราคาหุ้น รวมไปถึงเหรียญคริปโต ปรับตัวขึ้นอย่างมาก แต่เชื่อว่าปีนี้ตลาดหุ้นอาจจะเห็นการสลับกลุ่มลงทุนบ้าง อย่างที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็มีหุ้นหลายกลุ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยี แต่ปีนี้เชื่อว่ากลุ่มที่มีโอกาสจะปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดเมือง เช่น ค้าปลีก สายการบิน เป็นต้น
ขณะที่ “ธนพิศาล คูหาเปรมกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.โกลเบล็ก ในกลุ่ม บมจ.โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ (GBX) แสดงความเห็นว่า การปรับตัวขึ้นของราคาหุ้น GBX สอดคล้องกับหุ้นในกลุ่มหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ที่ได้รับผลพลอยได้จากการตลาดหุ้นกลับมาคึกคักอักครั้ง โดยมีมูลค่าซื้อขายแต่ละวันหนาแน่นแตะ 1 แสนล้านบาทในไตรมาส 1/64 เนื่องจากตลาดมีสภาพคล่องสูงส่งให้ภาวะตลาดหุ้นเคลื่อนไหวขึ้น-ลงสูงมาก รวมทั้งหุ้นรายตัวมีความผันผวนสูง
ดังนั้น โดยรวมเชื่อว่าวัฏจักรธุรกิจหลักทรัพย์ในปีนี้กลับมาดีหลังจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจไม่ค่อยดี หุ้นไม่ค่อย perform หรือ under value ดังนั้น คาดว่าในปีนี้รายได้ของบริษัทน่าจะเติบโตกว่าปีก่อน แต่คงต้องติดามสถานการณ์ตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะตลาดหุ้นขึ้นกับสถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศทำให้มีการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว จึงไม่สามารถประเมินล่วงหน้าได้ชัดเจนมากนัก โดยบริษัทได้ปรับสัดส่วนรายได้จากธุรกิจนายหน้าหลักทรัพย์มาอยู่ที่ประมาณ 60-70% จากเดิม 80-90% จากช่วง 2-3 ปีที่ตลาดหุ้นซบเซา และหันขยายธุรกิจ Wealth โดยเป็น Selling Agent ขายกองทุนรวม สัดส่วนรายได้ราว 15-20% และเป็นผุ้จัดจำหน่ายหุ้นกุ้ประมาณ 15%
ขณะที่ “มนตรี ศรไพศาล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2563 ที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นที่น่าพอใจ บริษัทฯ สามารถทำกำไรได้ถึง 484 ล้านบาท หรือเติบโตมากถึง 90.17% ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่านายหน้าที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกัน การเริ่มต้นปี 2564 ธุรกิจหลักทรัพย์ก็ถือว่าเปิดมาได้อย่างสดใส วอลุ่มเฉลี่ยสูงถึง 99,000 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งสร้างความคึกคักให้แก่แวดวงตลาดเงินตลาดทุนได้ตั้งแต่ต้นปีอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมตั้งเป้าปี 2564 เติบโตไม่ต่ำกว่า 10%
สำหรับปี 2564 เมย์แบงก์ กิมเอ็ง มีความพร้อมครบวงจร โดยครบเครื่องด้วยผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายสามารถตอบโจทย์นักลงทุนได้เป็นอย่างดี พร้อมสร้างทีมและเร่งพัฒนาบุคลากรในสายงานต่างๆ ให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Equity) บริการตัวแทนซื้อขายตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) บริการด้านการซื้อขายหน่วยลงทุนของบริษัทจัดการกองทุนรวมชั้นนำ (Mutual Fund Selling Agent) บริการลงทุนในต่างประเทศ (Offshore Trading) บริการด้านวาณิชธนกิจ (Investment Banking)
นอกจากนี้ ทีมวิจัยของ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ก็เพิ่งกวาดรางวัลอันทรงเกียรติจากเวที IAA AWARDS 2020 มาครองได้ถึง 6 รางวัล ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของบริษัทฯ เป็นอย่างมาก และปีนี้ยังได้อัปเกรดงานวิจัยที่ผลิตออกมาเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน นำมาเลือกสรร สรุปประเด็นที่น่าสนใจนำเสนอให้แก่นักลงทุนแบบกระชับ ครอบคลุม รวดเร็ว และเข้าถึงได้ง่ายอีกด้วย โดยรายการตอนเช้า #ATO Station ผ่านทางเฟซบุ๊กของบริษัทฯ เป็นที่นิยมในกลุ่มนักลงทุนอย่างมาก มียอดวิว LIVE สูงสุดถึง 3,500 วิวต่อวัน
จากข้อมูลข้างต้น พอสรุปได้ว่าไม่ว่าดัชนีหลักทรัพย์จะเริ่มพักฐานอีกครั้ง จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่เชื่อว่าจากแผนธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หลายบริษัทซึ่งเน้นการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามากระตุ้นธุรกิจ และดึงดูดความน่าสนใจจากนักลงทุนตัที่ดสินใจเข้ามาเลือกลงทุนมากขึ้น จะทำให้มีความเป็นไปได้ที่ผลประกอบการของหุ้นกลุ่มโบรกเกอร์ในปี 2564 จะดีกว่าปีที่ผ่านมาจนไม่ควรมองข้าม