ผู้จัดการรายวัน 360 - บล.ทรีนีตี้ ฉายภาพรวมการลงทุนหุ้นไทยไตรมาส 2/64 คาดอาจไม่คึก เหตุการประเมินมูลค่าที่มีระดับสูงขึ้น กอปรกับ Bond yield ที่อยู่สูง อาจทำให้เกิดการโยกย้ายเม็ดเงินออกจากตลาดหุ้นเข้าสู่ตลาดพันธบัตรได้ แนะระวังแรงเทขายในเดือนพฤษภาคม พร้อมประเมินความเสี่ยงสำคัญช่วงถัดไป
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ (TNITY) เปิดเผยทิศทางการลงทุนในไตรมาส 2 ว่า จากการประเมินมองว่าเป็นไปได้ยากที่ตลาดหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นเหมือนกับช่วงไตรมาสแรกที่ 10% อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะมีการปรับฐานแบบรุนแรงนั้นคงจะเกิดขึ้นได้ยากเช่นเดียวกัน ซึ่งมองว่าหากมีการปรับตัวลดลง ประเมินกรอบ Downside อยู่ที่ 1,450 จุด จะมาจากเหตุผลที่สำคัญก็คือ “สภาพคล่องที่คอยหล่อเลี้ยงทั้งในไทยและต่างประเทศ” ดังนั้น จึงมองภาพตลาดทั้งไตรมาสจะเป็นลักษณะของการ “ทดเวลาการเล่น” โดยมีปัจจัยที่อาจจะยังทำให้ตลาดหุ้นไทยแข็งแกร่งกว่าตลาดหุ้นอื่นก็คือ Character ของตลาดที่มีลักษณะเป็น Value play ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่ Outperform ในช่วงที่ Bond yield และความชัน Yield curve ยังคงมีทิศทางเป็นขาขึ้น
Economy : ประเมินว่ารายงานตัวเลขเศรษฐกิจโลกส่วนใหญ่ในไตรมาส 2 จะดีขึ้นจากไตรมาส 1 อย่างแน่นอน เนื่องจากในไตรมาสแรกยังคงมีการปิดพื้นที่ Lockdown ให้เห็นปรากฏอยู่ แต่ต้องบอกว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีนี้เริ่มยากที่จะสร้าง Surprise ทางบวกให้แก่ตลาดแล้วในช่วงหลัง ในส่วนของเศรษฐกิจไทย ประเมินความเสี่ยงสำคัญในช่วงถัดไปอยู่ 3 ประการคือ การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจล่าช้า ปัญหาภัยแล้ง และปรากฏการณ์ Stagflation และประเมินประเมินมีโอกาส 80% ที่จะเกิดปรากฏการณ์ Sell-in-May ในปีนี้
ทั้งนี้ มองถึงสาเหตุหลักมาจาก Valuation ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเมื่อประกอบกับ Bond yield ที่อยู่สูง อาจก่อให้เกิดการโยกย้ายเม็ดเงินออกจากตลาดหุ้นเข้าสู่ตลาดพันธบัตรได้ หากตลาดมีการ Price in มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ไปพอสมควรแล้ว และการคืนกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ เข้ามาในตลาดมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันและหุ้นกลุ่ม Oil & Gas ได้ อีกทั้งการปรับพอร์ตของนักลงทุนสถาบันในประเทศ เพื่อรองรับวิธีการคำนวณดัชนีแบบ Free-float adjusted market cap ที่จะทำให้ดัชนี SET50 และ SET100 ได้รับผลกระทบเชิงลบก่อนในช่วงแรก และการ Price in ของตลาดไปก่อนหน้า ถึงความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการ Operation twist ของ Fed ซึ่งในอดีตตลาดหุ้นมักมีการย่อตัวลงก่อนหน้าที่มาตรการจะถูกบังคับใช้จริง
ส่วน Value oriented ในส่วนของธีมการลงทุนใหญ่ ประเมินว่าในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปีนี้นักลงทุนยังสามารถที่จะจัดสรรพอร์ตการลงทุนให้เน้นไปยังกลุ่มหุ้น Value และกลุ่ม Cyclical ได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มหุ้นในไทยที่ยังคง Laggard ซึ่งถือว่าผิดไปจากกระแส Value outperformance ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงระดับ Relative valuation ที่มีความน่าสนใจมากกว่า
ทั้งนี้ Sector ในตลาดที่ยังคงมีคุณลักษณะเป็น Value play ณ ขณะนี้จะเหลืออยู่เพียง 5 Sector เท่านั้น ได้แก่ กลุ่ม BANK, AGRI, AUTO, CONMAT, INSURE
ขณะที่ธีมการลงทุนที่น่าสนใจประจำไตรมาส ได้แก่ กลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากธีม Reopening แต่จะต้องมี Valuation ที่ยังถูกอยู่ เช่น กลุ่มปั๊มน้ำมัน ได้แก่ OR, PTG กลุ่มโรงพยาบาล ได้แก่ BDMS, BCH, IMH
กลุ่มหุ้นส่งออกที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการอ่อนค่าของเงินบาท เช่น กลุ่มยานยนต์ ได้แก่ AH กลุ่มอาหาร ได้แก่ CPF, TU และกลุ่มยาง ได้แก่ STA, STGT
ส่วนกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะรายงานผลกำไรไตรมาส 1/64 ออกมาเติบโตทั้งเทียบปีและไตรมาส พร้อมทั้งยังซื้อขายด้วย Dividend yield อยู่ในระดับสูงเกินกว่า 3% ขึ้นไป ได้แก่ ADVANC, EGCO, PTT, QH, SCC
ขณะหุ้นที่คาดว่าจะถูกคัดเลือกเข้าสู่ดัชนี SET50 ที่จะมีผลบังคับใช้ในรอบครึ่งปีหลังนี้ ได้แก่ STGT, IRPC, STA 5.หุ้นที่คาดว่าจะถูกคัดเลือกเข้าสู่ดัชนี MSCI Thailand standard index ประจำรอบเดือน พ.ค.นี้ ได้แก่ SCGP ขณะ
ขณะเดียวกัน ในส่วนของหุ้นกลุ่มส่งออกที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์บวกได้แก่ กลุ่ม AUTO (AH) และกลุ่มยาง (STA, STGT)
อย่างไรก็ดี ปัจจัยต่างประเทศหลังสหรัฐฯ รายงานตัวเลข ISM ภาคการผลิตประจำเดือน มี.ค.ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดอย่างมีนัยสำคัญ โดยอยู่ที่ระดับ 64.7 เทียบกับที่ตลาดคาดที่ 61.5 และเดือนก่อนที่ 60.8 และถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1983 ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยตรง รวมไปถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยหากเข้าไปดูรายละเอียดตัวเลข ISM ที่ออกมาจะพบว่า หมวดที่มีการเติบโตโดดเด่นได้แก่ยอดคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่หมวดที่มีการหดตัวจะได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก นั่นหมายถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กำลังฟื้นตัวอย่างแรง ณ เวลานี้ทำให้ประเทศมีฐานะเป็นผู้นำเข้าสุทธิเพิ่มมากขึ้น มองปัจจัยดังกล่าวส่งผลบวกโดยตรงต่อสินค้าส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ซึ่งหากอ้างอิงจากยอดในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา จะพบว่าสินค้าของไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากที่สุดคือเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 5.5% ถุงมือยาง เพิ่มขึ้น 212% รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 40% และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 100%