มาตรการใหม่ ตลท. หวังสกัดหลักทรัพย์ที่มีปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาด (ฟรีโฟลต) ต่ำเหตุราคาร้อนแรงเคลื่อนไหวผิดปกติ ส่งผลต่อการขึ้นลงของดัชนีตลาดหุ้นไทย พร้อมปรับวิธีการคำนวณน้ำหนักของหุ้นในองค์ประกอบของดัชนีและข้อมูลสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยที่ใช้ในการคำนวณ โบรกฯ เผยกระทบหุ้นหลายตัวที่ได้รับอานิสงส์และเสียประโยชน์ คาดกลุ่มแบงก์รับผลบวกมากสุด
การแก้ไขมาตรการหุ้นที่มีปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดหรือ “ฟรีโฟลต” ต่ำเป็นผลมาจากกรณีของหุ้นบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ซึ่งเป็นหุ้นที่มีฟรีโฟลตต่ำ ราคาเคลื่อนไหวร้อนแรง ซึ่งมีผลต่อการปรับขึ้นลงของดัชนีตลาดหุ้นไทย เพราะที่ผ่านมา หุ้น DELTA หวือหวาราคาทะยานพุ่งแตะเหนือ 800 บาทได้อย่างไม่น่าเชื่อก่อนจะค่อยๆ ปรับลดลงมา
ทั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาดัชนีของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. อาจยังมีข้อจำกัดในการสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้ของหลักทรัพย์ (Investable) ในกลุ่มหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี ด้วยหลักการคำนวณยังไม่ได้มีปัจจัยที่สะท้อนถึงสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free Float) หรือหุ้นที่หมุนเวียนซื้อขายในตลาด และยังไม่สอดคล้องกับแนวโน้มการจัดทำดัชนีในต่างประเทศ
หลังจากที่ความร้อนแรงของราคาหุ้น DELTA สร้างปรากฏการณ์ชี้นำตลาดหุ้นจากราคาที่พุ่งไปแตะ 804 บาท ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยบวกที่ 1,535-1,540 จุด ได้ ในสภาวะที่ดัชนีหุ้นไทยผันผวนหนัก แต่หุ้น DELTA ราคาทะยานต่อเนื่องแบบไม่มีทีท่าจะแผ่วลง จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้มาตรการสยบความร้อนแรงของราคาหุ้นด้วยการปรับวิธีคำนวณดัชนี SET 50 และ SET 100 รวมไปถึงการใช้บัญชีซื้อขายเงินสด (Cash Balance) กระทั่งไปสู่ระดับที่ 2 ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance 16 ก.พ.-8 มี.ค.ต่อเนื่อง
แม้ ตลท. สอบถามไปยังบริษัทแต่ไม่มีความชัดเจนของสาเหตุที่ราคาหุ้นวิ่งเป็นกระทิงดุ ทำให้ ตลท. ต้องหามาตรการออกมาแก้ไข เพื่อลดความร้อนแรงของหุ้นที่มีฟรีโฟลตต่ำและช่วยลดการเข้าไปเก็งกำไรในหุ้นสภาพคล่องต่ำ เพื่อให้นักลงทุนกลับมาสนใจหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง สภาพคล่องสูงมากขึ้น
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตลท. จึงเปิดรับฟังความเห็นปรับหลักเกณฑ์คำนวณดัชนี ระหว่าง 18 มี.ค.-2 เม.ย.นี้ จากเดิมใช้เกณฑ์ "มาร์เกตแคป" เป็น "มาร์เกตแคปที่ปรับด้วยฟรีโฟลต" คาดเริ่มใช้กับ SET50-SET100-SETHD ตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้ ส่วนดัชนี SET-mai- ดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรม ทยอยปรับในปี 2565-2566
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. เผยถึงการปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลหุ้นที่มีฟรีโฟลตต่ำ เพื่อให้มีมาตรการกำกับดูแลเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่ยังคงใช้ 3-4 แนวทางในการดูแลหุ้นที่มีฟรีโฟลตต่ำที่มีการซื้อขายและราคาเคลื่อนไหวผิดปกติตามมาตรฐานที่มีอยู่อย่างเท่าเทียม ซึ่งได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ใช้กำกับดูแลขณะนี้ คือ ให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ต้องมีการกระจายให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ 15% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับต่างประเทศที่ใช้ดูแลอยู่ที่เฉลี่ย 10-15% ซึ่ง บจ.ที่มีสัดส่วนต่ำกว่าเกณฑ์จะต้องเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ลงทุนได้รับทราบ เพื่อกระตุ้นให้มีสัดส่วนฟรีโฟลตกลับขึ้นมาไม่น้อยกว่า 15% ส่วนการดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัททุกบริษัท กรณีที่ราคามีสภาพที่ผิดไปจากปกติจะติดตามให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเข้ามาในระบบถึงพัฒนาการที่สำคัญให้ผู้ลงทุนได้รับทราบเพิ่มเติมด้วย
ปรับ 2 เรื่อง คำนวณดัชนี-Free Float
ดังนั้น ตลท.จึงมีแนวคิดที่จะปรับหลักเกณฑ์ในการคำนวณดัชนีให้สะท้อนวัตถุประสงค์ดังกล่าว รวมถึงแนวทางในการดำเนินงานในการเปลี่ยนผ่าน (transition) เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง โดยมีแนวทางการปรับปรุงใน 2 เรื่องหลักๆ คือ
ประการแรก แนวทางการปรับปรุงการคำนวณดัชนี ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ปรับปรุงวิธีการคำนวณน้ำหนักของหุ้นในองค์ประกอบของดัชนี จากเดิมที่ใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในการคำนวณดัชนี (Full Market Capitalization) เป็นการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วยสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยในการคำนวณดัชนี (Free Float Adjusted Market Capitalization)
ประการที่สอง ปรับปรุงข้อมูลสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free Float) ที่ใช้ในการคำนวณดัชนี ได้แก่
(2.1) ปรับสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) ที่ใช้ในการคำนวณดัชนีพร้อมรอบการเปลี่ยนแปลงรายชื่อหลักทรัพย์ในดัชนี SET50, SET100, SETCLMV, SETHD, SETTHSI และ SETWB ในเดือน มิ.ย. และ ธ.ค.ของทุกปี
(2.2) ปรับสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) ที่ใช้ในการคำนวณดัชนี หากสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) เปลี่ยนแปลงจากค่าเดิมอย่างน้อย 5% ขึ้นไปในเดือน มี.ค.และ ก.ย.ของทุกปี
(2.3) สัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) ที่ใช้ในการคำนวณดัชนีจะปรับเป็นจำนวนเต็ม 1%
ขณะที่การปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักของทุกหลักทรัพย์เป็นองค์ประกอบของดัชนี อันส่งผลให้ผู้ลงทุนที่มีผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงการเคลื่อนไหวของดัชนี บริหารความเสี่ยง หรือมีฐานะในอนุพันธ์ที่เชื่อมโยงกับดัชนีอาจต้องมีการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี เพื่อ rebalance หรือปรับสถานะตามไปด้วยในจำนวนมาก (Index Turnover สูง) และอาจส่งผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์
ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนการคำนวณดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลท.จึงจะใช้แนวทางเดียวกับต่างประเทศในการดำเนินการ โดยการทยอยปรับน้ำหนักเป็น 2 ครั้งโดยมีผลทีละครึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้ ในการดำเนินการปรับการคำนวณมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วยสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free Float Adjusted Market Capitalization) นั้น จะดำเนินการดังนี้
1.Key Tradable Index ปรับวิธีการคำนวณดัชนี SET50, SET100 และ SETHD ตั้งแต่ 1 ก.ค.64 เป็นต้นไป
2.ดัชนีอื่นๆ ซึ่งเป็น Composite Index, Industry/Sector Index ได้แก่ ดัชนี SET, SET Industry Group, SET Sector, mai, mai Industry Group, mai Sector และ Thematic Index ได้แก่ sSET, SETCLMV, SETTHSI และ SETWB จะทยอยดำเนินการในช่วงปี 65-66
กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน (ประเทศไทย) กล่าวว่าบริษัทได้ประเมินมาตรการที่ ตลท.จะนำมาดูแลหุ้นฟรีโฟลโฟลตต่ำ โดยการอิงจากการซื้อขายที่ผ่านจะออกมาใน 2 รูปแบบคือ การยกระดับการซื้อขายด้วยบัญชีเงินสด (Cash Balance) และการปรับฟรีโฟลตเพิ่มขึ้นในการคัดเลือกหุ้นเข้าดัชนี 50 และ 100 ซึ่ง Cash Balance ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมี 3 ระดับ คือระดับแรกให้ซื้อขายเฉพาะบัญชีเงินสด ระดับที่ 2 เพิ่มไม่ให้ห้ามโบรกเกอร์ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และสูงสุดระดับที่ 3 คือเพิ่มห้ามซื้อขายหักลบในวันเดียว (Net settlement )
ขณะที่เกณฑ์เพิ่มฟรีโฟลตเพื่อคำนวณดัชนีนั้นคาดว่าอาจจะกำหนดมากกว่า 25% หรือปรับเข้มงวดขึ้น โดยพิจารณาสภาพคล่องการหมุนเวียนของหุ้นภายในรายเดือนที่เข้มขึ้นจากเดิม 5% ลดทีละ 0.5% ลงมาไม่ต่ำกว่า 1% อาจขยับฐานสูงขึ้น เพื่อได้ชุดหุ้นที่มีสภาพคล่องภายในสูงซึ่งในกลุ่มนี้มีหุ้นที่ฟรีโฟลตในกรอบ 20-25% ได้แก่ กลุ่ม SET50 มีหุ้น DELTA, บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC), บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) และ บมจ.วีจีไอ (VGI) กลุ่ม SET100 มีหุ้น บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP), บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) และ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP)
กรณีของหุ้น DELTA ที่มีประเด็นฟรีโฟลตต่ำ แต่ราคาหุ้นที่เคลื่อนไหวสามารถมีผลต่อดัชนีได้จนถึงปัจจุบันมีผลมากถึง 70-80 จุดนั้นหมายความว่าถ้าหักหุ้น DELTA ออกมาดัชนีหุ้นไทยที่เหมาะสมอยู่ที่ระดับ 1,400 กว่าจุด ดังนั้น การเข้าเกณฑ์ Cash Balance แค่ระดับ 1 อาจจะไม่มีผลให้ราคาหุ้นสะท้อนพื้นฐานมากเท่าระดับ 3
"จากการวิเคราะห์ตามการซื้อขายทำให้คาดว่ามาตรการมีหลายรูปแบบ จะสุดโต่งแบบเข้มข้นไปเลยก็ได้ แต่ต้องมีหลักการทั้งผลดีและผลเสีย ซึ่งเชื่อว่าตลาดหลักทรัพย์คำนึงอยู่แล้ว"
ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า ตลท.ได้แจ้งถึงแนวคิดในการดูแลหุ้นที่มีฟรีโฟลตต่ำ เพราะหุ้นที่มีฟรีโฟลตต่ำการเคลื่อนไหวของราคาจะหวือหวาเกินปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะเห็นด้วย เพราะหุ้นดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนได้รับความเสียหายได้ คาดว่าแนวทางดำเนินการให้หุ้นมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นนั้นมีหลายวิธีที่ทำได้ ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะมีการปรับเกณฑ์การปรับขึ้น (ซิลลิ่ง) และการปรับลง (ฟลอร์) ของราคาหุ้นที่มีฟรีโฟลตต่ำ เพราะมองว่าไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่เชื่อว่า ตลท.ต้องใช้เวลาพอสมควร คงไม่ได้ประกาศได้เร็ว เพราะต้องมีเวลาในการรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีเวลาให้นักลงทุนในการปรับตัว
หุ้นได้-เสียประโยชน์หลังปรับเกณฑ์ใหม่
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทบทวนเกณฑ์การคำนวณดัชนี จากใช้ "มาร์เกตแคป" เป็น "มาร์เกตแคปที่ปรับด้วยฟรีโฟลต" โดยคาดเริ่มใช้กับ SET50-SET100-SETHD ตั้งแต่ 1 ก.ค.64 ก่อน และปรับการคำนวณดัชนี SET-mai- กลุ่มอุตสาหกรรมช่วงปี 65-66 ว่า จะเห็นการเปลี่ยนแปลง 2 แนวทางคือ การปรับเปลี่ยนน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงของหุ้นใหญ่ในดัชนี และจะมีหุ้นที่ถูกนำเข้าคำนวณใหม่ และหุ้นที่จะต้องถูกถอดออก
โดยหุ้นที่คาดว่าจะถูกเพิ่มน้ำหนักในดัชนี SET50 ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนมากขึ้น 3 อันดับแรกได้แก่ BBL, SCB และ KBANK ส่วนหุ้นที่มีแนวโน้มถูกลดน้ำหนักได้แก่ AOT, DELTA และ OR
กลุ่มแบงก์ได้รับอานิสงส์มากสุด
อาทิตย์ จันทร์สว่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรีฯ เปิดเผยว่า จากการปรับเกณฑ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบ 2 ด้านคือ การเกลี่ยน้ำหนักลงทุนใหม่ และหุ้นที่มีผลในการเข้าออกจากการคำนวณของดัชนี SET50
ทั้งนี้ หุ้นที่คาดได้รับประโยชน์จากการถูกเพิ่มน้ำหนักการลงทุน คือ หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากส่วนมากมีมาร์เกตแคป และฟรีโฟลตสูง โดย 3 อันดับแรกที่รับอานิสงส์มากสุดประกอบด้วย BBL, SCB และ KBANK ส่วนหุ้นนอกกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ประกอบด้วย SCC และ BDMS ขณะที่กลุ่มหุ้นที่คาดจะถูกลดน้ำหนักการลงทุนประกอบด้วย DELTA, AOT, GULF, ADVANC และ GPSC เนื่องจากมีมาร์เกตแคปสูง แต่มีฟรีโฟลตต่ำ ส่วนหุ้นที่คาดถูกนำเข้าคำนวณในดัชนี SET50 ใหม่คือ STGT, IRPC และ STA ส่วนหุ้นที่คาดว่าจะถูกปรับออกได้แก่ BJC, TOA และ VGI
กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า การที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดรับความคิดเห็น (Public Hearing) เกี่ยวกับการปรับเกณฑ์การคำนวณน้ำหนักหุ้นใน SET50 และ SET100 โดยการนำเอาการกระจายหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) เข้ามาคำนวณมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap.) นั้น มีการเสนอปรับ Free Float ทุกรอบการปรับดัชนี เดือน มิ.ย. และเดือน ธ.ค. นอกจากนี้ มีการปรับย่อยในเดือน มี.ค. และ ก.ย. หาก Free Float เปลี่ยนแปลงเกิน 5% โดยจะเริ่มบังคับใช้ในการปรับดัชนีรอบเดือน ก.ค. แต่เสนอให้ทยอยปรับทีละครึ่ง กล่าวคือ แบ่งปรับ 2 รอบในเดือน ก.ค.2564 และเดือน ม.ค.2565 เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ลงทุนสถาบันที่ใช้ดัชนี SET50 และ SET100 อ้างอิง
หากปรับใช้เกณฑ์ตามที่กล่าวไป คาดหุ้นที่จะถูกเพิ่มน้ำหนัก 10 อันดับแรก คือ BBL, SCB, KBANK, SCC, BDMS, CPALL, INTUCH, CPN, PTT และ TISCO ส่วนหุ้นที่คาดจะถูกลดน้ำหนัก นำโดย AOT, DELTA, OR, GULF, PTTEP, ADVANC, GPSC, AWC, SCGP และ BJC
สุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ หารือกับกองทุนรวมและบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณดัชนี SET50 โดยจะนำข้อมูลการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (ฟรีโฟลต) มาร่วมพิจารณา จากเดิมที่ใช้มูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) คำนวณเท่านั้น หากไม่มีข้อโต้แย้งน่าจะนำมาใช้จริงในเดือน มิ.ย.นี้
ทั้งนี้ การปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อน้ำหนักการลงทุนของหุ้นในดัชนี SET50 และส่งผลให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ต้องดำเนินการแก้ไขสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ลงทุนรายย่อยผ่าน 2 วิธีการ ได้แก่ การเพิ่มมาร์เกตแคป และการให้เจ้าของเดิมขายหุ้นออกมา
อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า จากแนวทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดจะส่งผลให้หุ้นในดัชนี SET100 ที่ฟรีโฟลตสูงได้เข้าคำนวณในดัชนี SET50 อย่าง บมจ.บ้านปู (BANPU) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) และ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA)
ส่วนหุ้นในดัชนี SET50 ที่ฟรีโฟลตต่ำจะมีความเสี่ยงหลุด SET50 ได้แก่ บมจ.วีจีไอ (VGI) บมจ.ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) (TOA) บมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และ บมจ.คอมเซเว่น (COM7)
นอกจากนี้ คาดว่าจะมีหุ้นใน SET50 ที่ถูกเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเนื่องจากฟรีโฟลตที่สูง อย่าง ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS)
ส่วนหุ้นในดัชนี SET50 ที่จะถูกลดน้ำหนักการลงทุนเนื่องจากฟรีโฟลตต่ำ คือ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) และ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC)